ตับอักเสบซี ติดได้ไม่รู้ตัว

ตับอักเสบซี ติดได้ไม่รู้ตัว

หากกล่าวถึง ตับอักเสบซี หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าโรคนี้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย คนส่วนใหญ่มักจะสนใจแต่เฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิสต่างๆ แต่ไม่ได้ระวังตัวว่าก็มีโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่สามารถติดต่อกันได้คล้ายคลึงกับเอชไอวีเลยทีเดียว อีกทั้งโรคนี้ ยังไม่แสดงอาการ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจนว่าติดแล้ว นอกจากคุณจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพ ถึงจะมีโอกาสรู้ตัวว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบซีเรียบร้อยแล้ว

ตับอักเสบซี เกิดจากอะไร

เกิดจากการติดเชื้อ RNA ไวรัสชนิดซี (Hepatitis C) ที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แต่จะต้องทำการสกัดเอาสารพันธุกรรมของไวรัสตับอักเสบซีมาขยายเพิ่มจำนวนถึงจะมองเห็นได้ โดยแบ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีออกเป็น 6 สายพันธุ์ ซึ่งในไทยพบสายพันธุ์ที่ 1 และ 3 มากที่สุด รองลงไปจะเป็นสายพันธุ์ที่ 2 4 5 และ 6 ตามลำดับ ผู้ติดเชื้อจะต้องทำการตรวจหาสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซีด้วย เพราะการรักษามีความแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์

แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ด้วยวิธี Anti-HCV หากพบเชื้อ จะเริ่มตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณตับเพื่อดูว่ามีแนวโน้มที่ตับจะแข็งหรือเป็นโรคมะเร็งตับหรือไม่ แต่หากผลยังไม่ชัดเจน แพทย์จะตรวจเอ็กซ์เรย์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติม หรืออาจมีการตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อนำตัวอย่างไปตรวจดูทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โรคไวรัสตับอักเสบซีที่มีความแม่นยำก่อนที่เริ่มกระบวนการรักษาต่อไป

ตับอักเสบซี ติดต่ออย่างไร

ไวรัสตับอักเสบซี ติดต่ออย่างไร

ไวรัสตับอักเสบซี แพร่เชื้อได้ผ่านทางเลือด และเพศสัมพันธ์ได้ เหมือนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั่วไป รวมไปถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อนี้อยู่ จะสามารถส่งต่อเชื้อให้ลูกน้อยในท้องได้ แต่กรณีนี้จะพบได้น้อยเนื่องจากแพทย์จะต้องทำการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มคู่รักที่วางแผนครอบครัว หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่แรก ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อนี้ ได้แก่

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ในกรณีเสพสารเสพติด
  • ผู้ที่สักหรือเจาะร่างกา ยจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้ทำการฆ่าเชื้อที่ถูกต้อง
  • ผู้ที่รับเลือด หรือปลูกถ่ายอวัยวะจากการบริจาคที่ไม่ผ่านการคัดกรองเชื้อโรค

“หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี และปล่อยทิ้งไว้จะเข้าสู่ระยะตับแข็ง
ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งตับได้ในอนาคต”

ตับอักเสบซี อาการเป็นอย่างไร

อาการของไวรัสตับอักเสบซีนั้นแทบไม่แสดงให้เห็นเลย ผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อไปพบแพทย์และตรวจการทำงานของตับที่มีค่าผิดปกติ เพราะไวรัสตับอักเสบซีจะทำให้เซลล์ตับสูญเสียการทำงาน และ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จะมีระยะฟักตัวประมาณ 6-8 สัปดาห์ เชื้อมักจะพุ่งตรงเข้าไปเจริญเติบโตในตับ ซึ่งส่งผลให้มีอาการแบบเฉียบพลัน เช่น ปวดเมื่อย เหนื่อยง่าย ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง และเมื่อผ่านไปประมาณ 10-30 ปีจะเข้าสู่ภาวะตับอักเสบแบบเรื้อรัง ดังต่อไปนี้

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
  • ค่าการทำงานของตับผิดปกติ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
  • ท้องมาน บวมที่หน้าท้อง หรือมีน้ำในช่องท้อง
  • ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา
  • ปวดข้อ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ผลการเจาะตับพบว่า มีพังผืดในตับจำนวนมาก
  • ผิวคล้ำขึ้น ช้ำง่าย แห้งแตก รู้สึกคันโดยไม่มีบาดแผลใดๆ
  • เลือดออกง่ายมากขึ้น เช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน

ตับอักเสบซี รักษาหายไหม

ปัจจุบัน มียาที่ใช้รับประทาน เพื่อรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้แล้ว โดยแพทย์จะพิจารณาตามระยะของโรค รวมถึงสภาวะร่างกายต่างๆ ที่ผู้ติดเชื้อเป็นอยู่ด้วย จึงจะสามารถกำจัดเชื้อให้หายขาดไปได้อย่างถาวร ประเมินจากสายพันธุ์ และจำนวนของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในเลือดหลังการรักษา ซึ่งจะช่วยให้อาการตับอักเสบดีขึ้น และหายไป รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดอาการตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ

ตับอักเสบซี ห้ามกินอะไร

ไวรัสตับอักเสบซี ไม่ได้มีข้อห้ามมากมายในเรื่องของโภชนาการ แต่ผู้ป่วยควรยึดถือในเรื่องของการดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นสำคัญ โดยในระหว่างที่กำลังรักษาไวรัสตับอักเสบซี ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

  • งดบริจาคเลือด อวัยวะ หรือน้ำเชื้อ
  • งดใช้สารเสพติดโดยเฉพาะชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ไม่หาซื้อยามาทานเอง โดยไม่ได้ทำการปรึกษาแพทย์
  • ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่ต้องวิตกกังวลหรือเครียด
  • กลับไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อทำการตรวจเช็คการรักษา
  • ดูแลสุขภาพ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะส่งผลต่อการทำงานของตับโดยตรง
  • หากยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี หรือเอ ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันด้วย

ป้องกันไวรัสตับอักเสบซีด้วย

เนื่องจาก ไวรัสตับอักเสบซี ไม่ได้มีวัคซีนเหมือนกับไวรัสตับอักเสบบี เพราะฉะนั้น การป้องกันจะต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอันอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ ดังต่อไปนี้

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับใคร
  • งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไปตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีเป็นประจำทุกปี
ตับอักเสบซี รักษาหายขาด

กล่าวโดยสรุปคือ ไวรัสตับอักเสบซี เป็นภัยเงียบที่ทุกคนไม่ควรประมาท เพราะมันไม่ได้มีอาการผิดปกติใดๆ มาเตือนให้คุณรู้ตัวทันทีที่ติดเชื้อ การป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้เสมอ หากตรวจเจอเชื้อไว และรีบทำการรักษาตั้งแต่ต้น จะให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง หายขาดจากโรคได้ไว และยังไม่เสี่ยงเป็นโรคตับที่รุนแรงในอนาคตได้อีกด้วยครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า