รู้อย่างเข้าใจ เอดส์คืออะไร?

เอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immunodeficiency Syndrome) เป็นอาการระยะสุดท้ายในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสนี้จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานบกพร่องและไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดการติดเชื้อได้ตามปกติ จึงเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด เอดส์มีอาการที่สำคัญ เช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด อ่อนแรง ท้องร่วงเรื้อรัง มีเหงื่อไหลมากช่วงกลางคืน มีจุดสีขาว หรือแผลบริเวณลิ้นและปาก โดยปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาเอดส์ให้หายขาดได้ มีเพียงวิธีการที่ช่วยชะลอและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเอดส์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันถ้วงที เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายหนักจนลุกลามเข้าสู่ระยะเอดส์ได้

สาเหตุของโรคเอดส์

โรคเอดส์มีสาเหตุจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถติดต่อได้จากการรับเลือด ของเหลวในช่องคลอด และอสุจิ ผ่านพฤติกรรมเสี่ยงคือ 

  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเชื้อเอชไอวีหรือเป็นเอดส์ จะมีความเสี่ยงสูงที่อีกฝ่ายจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 
  • การติดเอดส์ผ่านทางบาดแผลทั้งบริเวณผิวหนังและช่องปาก 
  • การใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ (มักพบในผู้ติดยาเสพติด)
  • การติดเอดส์จากมารดาสู่ทารก (Vertical Transmission) มักติดเชื้อระหว่างการคลอด

อาการเริ่มต้นของเอดส์เป็นอย่างไร?

อาการเริ่มต้นของเอดส์ คือ อาการของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกก่อนลุกลามจนกลายเป็นโรคเอดส์ ในผู้ป่วยระยะแรกหลังจากที่ติดเชื้อใหม่ช่วง 2-4 สัปดาห์ จะมีอาการมีเจ็บคอ  ปวดกล้ามเนื้อ มีผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการที่คล้ายไข้หวัดทั่วไปและจะหายไปเองในอีก 2-3 สัปดาห์ถัดมา และหลังจากนั้นอาจใช้เวลานานถึง 5-10 ปี ที่ผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะที่ไม่แสดงอาการ หรือ ระยะติดเชื้อเรื้อรัง โดยที่เชื้อไวรัสจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนทำให้ภูมิต้านทานต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงผู้ป่วยจะแสดงอาการที่ชัดเจน เช่น มีไข้เรื้อรัง ท้องร่วง อ่อนล้า ต่อมน้ำเหลืองบวม มีเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น

โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร ?

โรคเอดส์ที่เกิดจากเชื้อเอชไอวี (HIV) สามารถติดต่อได้ 3 ทางคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี การรับเชื้อทางเลือด และการติดต่อผ่านแม่สู่ลูก ซึ่งเป็นการรับเชื้อผ่านเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด เสมหะ น้ำเหลือง รวมถึงน้ำนมแม่

ประเด็นสำคัญ!
โรคเอดส์ไม่สามารถติดต่อได้จากการ สัมผัสทางผิวหนัง ผ่านลมหายใจ หรือ ผ่านอากาศเหมือนเชื้อไวรัสไข้หวัดทั่วไป จึงไม่ควรเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยด้วยความรังเกียจ จนทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าเข้ารับการรักษาอย่างทันถ้วงที จนอาจนำไปสู่ระยะเอดส์ได้ในที่สุด

วิธีการป้องกันโรคเอดส์

โรคเอดส์แม้ว่าจะเป็นโรคที่รุนแรงและอันตรายถึงชีวิต แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้เพียงแค่หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี หรือ PrEP ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 90%
  • ตรวจเลือดปีอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตรวจเลือดก่อนการแต่งงาน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา หรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยโดยไม่ป้องกัน

เอชไอวี(HIV) และ เอดส์(AIDS) ต่างกันอย่างไร?

  • เอชไอวี (HIV) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) 
  • เอชไอวี (HIV) มีทั้งหมด 3 ระยะ ซึ่งโรคเอดส์คือ ระยะที่3 ที่แสดงอาการขั้นรุนแรง
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและทันท่วงที จะไม่มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะลุกลามถึงระยะที่เป็นโรคเอดส์
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ส่วนใหญ่มีสุขภาพที่ไม่ต่างไปจากผู้ที่ไม่มีเชื้อ หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์ จะมีการติดเชื้อฉวยโอกาสในอวัยวะสำคัญอย่างรุนแรง