แผลริมอ่อนคืออะไร เป็นแล้วอันตรายแค่ไหน?
โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งสามารถพบได้บ่อยรองจากโรคหนองในแท้และหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลเปื่อยซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “แผลริมอ่อน” เกิดขึ้นบริเวณรอบๆหรือบนอวัยวะเพศ และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตผิดปกติร่วมด้วย

อาการของแผลริมอ่อนเป็นอย่างไร
ผู้ที่ติดเชื้อแผลริมอ่อนจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 3-7 วัน โดยจะมีแผลเปื่อยเล็กลักษณะเป็นตุ่ม ขอบแผลนูนชัดเจน ก้นแผลมีหนอง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ โดยแผลริมอ่อนจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นแผลหนองทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดบริเวณแผลขณะปัสสาวะ อุจจาระ หรือในขณะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโตจนเกิดฝีขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอาการของโรคแผลริมอ่อนในเพศชายและเพศหญิงมีอาการแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น
แผลริมอ่อนในผู้ชาย :
เกิดตุ่มแดงเล็กขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต หรือ ถุงอัณฑะ โดยที่แผลอาจลุกลามเป็นแผลเปื่อยได้ภายใน 1-2 วัน ซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บหรือแสบร้อนบริเวณที่เกิดแผล
แผลริมอ่อนในผู้หญิง :
ผู้หญิงจะเกิดตุ่มแดงเล็กขึ้นบริเวณอวัยวะเพศมากกว่าเพศชาย โดยจะมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าเพศชาย มักพบแผลในแคมเล็ก อวัยวะเพศ ต้นขา ขาหนีบ ปากช่องคลอด ซึ่งลักษณะของอาการแผลริมอ่อนในเพศหญิงมีความคล้ายคลึงกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น หรือบางรายอาจไม่แสดงอาการของโรคริมอ่อนอย่างชัดเจน ส่งผลให้สังเกตอาการได้ยากและอาจแพร่เชื้อสู่คู่นอนโดยไม่รู้ตัว
สาเหตุของโรคแผลริมอ่อน
โรคแผลริมอ่อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีชื่อว่า ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) โดยที่เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสของเหลวจากผู้ที่มีเชื้อแผลริมอ่อนโดยตรง และเข้าสู่ร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผิวหนังที่มีบาดแผล หรือเยื่อบุต่างๆ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณโดยรอบ

การวินิจฉัยและการตรวจโรคแผลริมอ่อน
ในการวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อนแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจแผลที่คาดว่าเป็นโรคแผลริมอ่อนอย่างละเอียด จากนั้นแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างของเหลวจากบริเวณแผลของผู้ป่วย เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค โดยวิธีที่ได้ประสิทธิภาพและได้รับความนิยม คือการย้อมเชื้อจากน้ำหนองบริเวณแผล และวิธีการตรวจ PCR (Polymerase chain reaction)
วิธีการรักษาโรคแผลริมอ่อน
การรักษาโรคแผลริมอ่อนสามารถรักษาให้ขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะหลายชนิด เช่น Azithromycin Ciprofloxacin Erythromycin Ceftriaxone ยาเหล่านี้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยบรรเทาอาการบริเวณแผลริมอ่อน และลดรอยแผลเป็นให้ดีขึ้นได้ภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของแผลในผู้ป่วยแต่ละรายด้วยเช่นกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตมีขนาดใหญ่มาก แพทย์อาจจะต้องทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเจาะระบายน้ำหนองออกเพื่อลดอาการบวมของแผล ซึ่งวิธีนี้จะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-3 เดือน
ผู้ป่วยโรคแผลริมอ่อนควรดูแลตนเองควบคู่ไปกับการทานยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาความสะอาดและลดโอกาสการลุกลามของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการงดการมีเพศสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาในการรักษา หมั่นใช้น้ำเกลือทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศหรือบริเวณแผลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้แผลมีเกิดการอับชื้นหรือเกิดการเสียดสี รวมถึงงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

ภาวะแทรกซ้อนของแผลริมอ่อน
- เสี่ยงเกิดรอยทะลุของท่อปัสสาวะ หรือ Urethral Fistula
- เกิดแผลเป็นหรือพังผืดบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
- เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสอื่นๆได้ง่าย
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอาจแตกได้หากไม่ได้รักษาโดยเร็วที่สุด
การป้องกันโรคแผลริมอ่อน
สำหรับโรคแผลริมอ่อนสามารถป้องกันได้ โดยการใช้วิธีเดียวกันกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกปีและก่อนการแต่งงาน
- หากมีภาวะเสี่ยงติดเชื้อแผลริมอ่อนควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
