หนองในเทียม | Chlamydia ป้องกันและรักษาได้
หนองในเทียม (Chlamydia) คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สามารถติดต่อได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง มีลักษณะอาการคล้ายกับ โรคหนองในแท้ ผู้ติดเชื้อหนองในเทียมส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที หากพบว่ามีอาการคล้ายติดเชื้อหนองในจึงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดโอกาสการลุกลามร้ายแรงจนทำให้เป็นหมันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศ อื่นๆได้
อาการของ หนองในเทียม เป็นอย่างไร
โดยปกติแล้วผู้ป่วย โรคหนองในเทียม ระยะแรกจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อเป็นระยะเวลาประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงจะแสดงอาการโดยที่หนองในเทียมในเพศชายและเพศหญิงจะแสดงอาการแตกต่างกันดังนี้
อาการ หนองในเทียม ในเพศชาย
- มีของเหลวขาวหรือหนอง ไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ
- มีอาการปวดแสบร้อน รู้สึกเจ็บ ขณะปัสสาวะ
- หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอักเสบ
- มีอาการปวดและบวมบริเวณลูกอัณฑะ
- มีอาการระคายเคืองและคันบริเวณท่อปัสสาวะ
อาการ หนองในเทียม ในเพศหญิง
- มีอาการปวดแสบร้อน รู้สึกเจ็บ ขณะปัสสาวะ
- ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวเป็นมูกปนหนอง มีกลิ่นเหม็น
- มีอาการแสบเคืองและคันบริเวณรอบอวัยวะเพศ
- มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปวดท้องน้อย ขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยบางรายปวดท้องช่วงมีประจำเดือนพร้อมกับมีไข้
- ผู้ป่วยบางรายมีเลือดออกช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อทางทวารหนัก หรือทางปาก อาการที่แสดงก็จะแตกต่างออกไป เช่น มีเลือดหรือหนองไหลออกจากทวารหนัก รู้สึกปวด เจ็บ ที่บริเวณทวารหนัก รวมถึงในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางปากอาจมีไข้ ไอ และรู้สึกเจ็บคอ
หนองในแท้และหนองในเทียม ต่างกันอย่างไร ?

หนองในแท้(Gonorrhea)
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gonorrhoeae)
- มีระยะการฟักตัวสั้น ประมาณ 1 – 10 วัน
หนองในเทียม(Chlamydia)
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ คลามายเดีย แทรโคมาทิส (Chlamydia Trachomatis)
- มีระยะการฟักตัวของโรค มากกว่า 10 วัน
หนองในแท้และหนองในเทียม สามารถติดต่อได้ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก หรือแม้แต่จากแม่ที่มีเชื้อสู่ทารกระหว่างคลอด
วิธีการและขั้นตอนการรักษาหนองในเทียม
สำหรับผู้ที่มีอาการคล้ายเป็นโรคหนองในตามที่กล่าวมาข้างต้น และต้องการเข้ารับการวินิจฉัยและตรวจรักษา แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามอาการเบื้องต้น รวมถึงสอบถามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้เข้ารับการตรวจ หลังจากนั้นแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถทำได้ทั้งหมด 2 วิธี คือ การเก็บตัวอย่างบริเวณที่มีการร่วมเพศ และการเก็บตัวอย่างจากปัสสาวะ เพื่อทำการตรวจหาเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหนองใน หากผลตรวจพบว่าเป็นโรคหนองในเทียม แพทย์จะแนะให้คู่นอนของผู้ป่วยเข้ารับการตรวจวินิจฉัยร่วมด้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
การรักษาหนองในเทียม แพทย์จะทำการรักษาโดยการเลือกใช้ชนิดยาและกำหนดปริมาณยาตามตำแหน่งที่ติดเชื้อ ในผู้ที่ติดเชื้อขั้นเริ่มต้นแพทย์จะรักษาโดยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อหนองในเทียม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์จะเลือกรักษาด้วยการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือดแทน สิ่งสำคัญคือโรคหนองในเทียมนั้นไม่สามารถหายเองได้ ผู้ป่วยจะต้องรับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ยาที่ใช้สำหรับรักษา หนองในเทียม

โดยปกติแล้วแพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วย โรค หนอง ใน เทียม ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ซึ่งยาแต่ละกลุ่มจะถูกใช้ในการรักษาแตกต่างกันตามเชื้อที่ก่อให้เกิดหนองในเทียมและบริเวณที่มีอาการ ตัวอย่างเช่น
กลุ่มยาสำหรับหนองในเทียมบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin
- อิริโทรมัยซิน Erythromycin
- ดอกซีไซคลิน Doxycycline
- ร็อกซิโทรมัยซิน Roxithromycin
กลุ่มยาสำหรับหนองในเทียมบริเวณเยื่อบุตา(ผู้ใหญ่)
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin
- อิริโทรมัยซิน Erythromycin
- ดอกซีไซคลิน Doxycycline
- เตตราไซคลิน Tetracycline
กลุ่มยาสำหรับหนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์
- เซฟไตรอะโซน Ceftriaxone
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin
- อิริโทรมัยซิน Erythromycin
กลุ่มยาสำหรับหนองในเทียมบริเวณเยื่อบุตา(ทารก)
- อิริโทรมัยซิน Erythromycin
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin
กลุ่มยาสำหรับหนองในเทียมในเด็ก
- อิริโทรมัยซิน Erythromycin สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยว่า 45 กิโลกรัม
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 45 กิโลกรัม หรือ เด็กอายุน้อยว่า 8 ปี
- อะซิโธรมัยซิน Azithromycin สำหรับเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป
- ดอกซีไซคลิน Doxycycline สำหรับเด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป
” สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรครักษาโรคหนองในเทียม คือ การรับประทานยาที่แพทย์กำหนดให้อย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ รวมถึงต้องงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 7 วันหลังจากเริ่มกินยา และต้องทำการตรวจหาเชื้อหนองในเทียมซ้ำอีกครั้งหลังจากรักษาหายแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งและไม่มีการแพร่เชื้อหนองในเทียมสู่คู่นอนตนเอง “
การป้องกันและลดความเสี่ยงติดเชื้อหนองในเทียม
วิธีการป้องกันการติดเชื้อ โรคหนองในเทียม ที่ได้ผลดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีดังนี้
- สวม ถุงยางอนามัย ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางอวัยวะเพศ หรือ ทางทวารหนัก
- ใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐานและสวมใส่อย่างถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้อุปกรณ์เสริมทางเพศ หรือ Sex toy ร่วมกับผู้อื่น
- ตรวจสุขภาพและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี
ภาวะแทรกซ้อน

หากไม่ได้รับการรักษา โรค หนองใน เทียม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ภาวะมีบุตรยาก
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง
- การติดเชื้อที่ทวารหนักและลำไส้
- การติดเชื้อที่เยื่อบุโพรงมดลูก
- การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง
หนองในเทียม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่ร้ายแรงได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการในระยะแรก ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการจัดการหนองในเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ