หูดหงอนไก่ เรื่องต้องระวัง!
“หูดหงอนไก่” หรือ (Genital warts , Condyloma acuminata) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งโดยลักษณะอาการของโรคหูดหงอนไก่ คือ มีติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก เป็นโรคที่พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงในช่วงอายุระหว่าง 16-30 ปี ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของ หูดหงอนไก่ เป็นอย่างไร ?
หูดหงอนไก่ มีอาการที่ขึ้นอยู่กับผู้ติดเชื้อ หากคุณมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง โรคก็จะไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ไปจนถึงมีติ่งเนื้อ ลักษณะคล้ายดอกกะล่ำปลีขึ้นอย่างชัดเจนตามบริเวณ อวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ หรือบริเวณง่ามขา โดยที่ผู้ป่วย 1 รายอาจพบรอยโรคในหลายๆ ตำแหน่งได้ ลักษณะของรอยโรคที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 3 กรณีหลัก ๆ คือ รอยโรคจะหายไปเอง รอยโรคจะอยู่เหมือนเดิม และรอยโรคจะขยายเพิ่มขึ้น ซึ่งขนาดและการเรียงตัวของหูดอาจแตกต่างกันไป ส่งผลให้ผู้ติดเชื้ออาจเกิดความสับสนเพราะมีอาการคล้ายกับโรคซิฟิลิส โรคหูดข้าวสุก หรือโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่โรคหูดหงอนไก่จะไม่มีอาการเจ็บหรือระคายเคืองแต่อย่างใด เว้นแต่ในผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการคันอย่างรุนแรง แสบร้อน มีเลือดออกจากบริเวณแผล
อาการหูดหงอนไก่ ในผู้ชาย
อาการหูดหงอนไก่ในผู้ชาย มักพบที่บริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง และรูท่อปัสสาวะ หรืออาจพบบริเวณรอบทวารหนัก ในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
อาการหูดหงอนไก่ ในผู้หญิง
อาการหูดหงอนไก่ในผู้หญิง มักพบที่บริเวณปากช่องคลอด ปากมดลูก ผนังช่องคลอด ทวารหนัก การตั้งครรภ์จะทำให้หูดโตเร็วกว่าปกติ

สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human Papillomavirus หรือ HPV ซึ่งในปัจจุบันพบไวรัสชนิดนี้มากกว่า 200 สายพันธุ์ย่อย โดยเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่มากถึง 90% คือสายพันธ์ุ 6 และ 11 เมื่อร่างกายของผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัส HPV เข้าร่างกาย จะใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เดือนในการแบ่งตัวเข้าสู่เซลล์ชั้นล่างสุดของเยื่อบุ จนเกิดการเปลี่ยนรูปร่างเป็นติ่งเนื้องอกขึ้นมาให้เห็นได้ชัดเจน และโดยปกติแล้วผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ประมาณร้อยละ 80% จะสามารถหายเองได้ภายใน 2 ปี แต่ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอหรือส่วนน้อยของผู้ป่วยทั้งหมดที่ร่างกายจะเกิดเป็นรอยโรคเรื้อรัง

หูดหงอนไก่มีความเสี่ยงมาจากพฤติกรรมใดบ้าง
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อไวรัสโรคหูดหงอนไก่
- พฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- มีกิจกรรมทางเพศอื่น ๆ ที่ไม่ปลอดภัย
- การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูกในระหว่างการคลอด
ตำแหน่งที่พบรอยโรคหูดหงอนไก่
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่มักขึ้นในบริเวณร่างกายที่มีเนื้อเยื่อเมือก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อับชื้นและอุ่น ซึ่งผู้หญิงจะพบมากที่ปากช่องคลอด ปากมดลูก ผนังช่องคลอด ทวารหนัก รวมถึงบริเวณฝีเย็บ ส่วนในผู้ชายมักพบบริเวณใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ รูเปิดท่อปัสสาวะ เส้นสองสลึง และบริเวณรอบทวารหนักในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และตำแหน่งที่พบรอยโรคในทารกที่ผ่านการคลอดทางช่องคลอดมารดาที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ จะมีเป็นหูดหงอนไก่ที่หลอดลม อาจมีอาการเสียงแหบและเกิดการอุดกั้นของกล่องเสียงได้
การตรวจวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่
การตรวจวินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่นั้น แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจบริเวณรอยโรคที่มองเห็นได้ชัดเจน หากไม่แน่ชัดแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยาโดยการใช้กรดอะซิติกเพื่อสร้างปฏิกิริยาให้หูดมีสีซีดจากลงจากเดิม และตรวจด้วยการเก็บตัวอย่างเชื้อเพื่อทำการระบุเชื้อ ซึ่งในกรณีที่ผลตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหูดหงอนไก่แน่ชัดแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆร่วมด้วย เพื่อหาแนวทางในการรักษาได้อย่างเหมาะสม

วิธีรักษาหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นในการรักษาโรคนี้เพื่อให้ผู้ป่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับรอยโรค และบรรเทาอาการของรอยโรคให้จางหายเท่านั้น ซึ่งโรคหูดหงอนไก่มีวิธีการรักษาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับลักษณะอาการและการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น กรณีที่ผู้ป่วยมีรอยโรคไม่ใหญ่มาก แพทย์จะเลือกใช้ยาชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาชนิดทา Podophyllin ชนิด 25% , ยาชนิดทา Podofilox ชนิด 0.5% , ยาชนิดทา Imiquimod cream ชนิด 5% , ยาชนิดทา Trichloroacetic Acid หรือ TCA ชนิด 50-70% และกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่แพทย์จะรักษาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้า หรือ Electrocauterization , การจี้ด้วยความเย็น หรือ Cryotherapy , การขูดเนื้องอก หรือ Curettage , การผ่าตัด หรือ Surgical excision โดยจากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่มากกว่า 50% มีโอกาสเกิดโรคซ้ำในช่วง 6 เดือนแรกหลังสิ้นสุดการรักษา ซึ่งเกิดจากเชื้อที่คงเหลืออยู่ในร่างกายและจากการติดเชื้อซ้ำ
คำถามเกี่ยวกับหูดหงอนไก่ที่พบบ่อย
หูดหงอนไก่ รักษาเองได้ไหม?
= การรักษาหูดหงอนไก่ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินรอยโรคก่อนว่าคุณเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ หรือหากรู้แน่นอนแล้วว่าเป็นหูดหงอนไก่ เพราะเคยรักษามาก่อน ก็ไม่ควรนำยาเดิมที่เคยได้รับจากแพทย์มาใช้ด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อไม่ทำให้แผลเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้การรักษาไม่หายขาดและลุกลามใหญ่โตได้
ใช้วิธีเจาะเลือดตรวจหาเชื้อหูดหงอนไก่จะเจอไหม?
= โรคหูดหงอนไก่ ยังไม่สามารถเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อได้ เนื่องจาก
รักษาหายแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นหูดหงอนไก่ซ้ำได้อีกหรือไม่?
= หูดหงอนไก่ มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกภายในระยะเวลา 3-6 เดือนหลังจากทำการรักษาไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจำนวนที่อาจเกิดซ้ำอยู่ที่ร้อยละ 40-60 เนื่องจากขั้นตอนการรักษาของผู้ติดเชื้อหูดหงอนไก่นั้นไม่สมบูรณ์ เช่น ตัวยาที่รักษาไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยมีภาวะร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และไม่ระมัดระวังตัวเองมากพอ เป็นต้น

การป้องกันโรคหูดหงอนไก่
ปัจจุบันโรคหูดหงอนไก่ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้ 100% ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ จึงต้องหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ด้วยวิธีเดียวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังต่อไปนี้
ป้องกันโรคด้วยการปฏิบัติตัว
- การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทางเพศร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการมีสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการมีสัมผัสกับผู้เป็นโรคหูดหงอนไก่
- รักษาความสะอาดบริเวณ ทวารหนัก อวัยวะเพศ มุมอับชื้นต่าง ๆ ภายในร่างกาย
- ตรวจเอชไอวี และโรคติดต่อเป็นประจำ

ป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันหูดหงอนไก่
การฉีดวัคซีนป้องกันหูดหงอนไก่ หรือ วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี จำเป็นจะต้องฉีดให้ครบจำนวนทั้งหมด 3 เข็ม เพราะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงกว่า 80-90% ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายก่อนมะเร็ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่ควรต้องฉีดวัคซีนนี้ ผู้ชายก็ต้องฉีดด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อเอชพีวี แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
- วัคซีน HPV การ์ดาซิล
- วัคซีน HPV การ์ดาซิล หรือเรียกชื่อทางการค้าว่า Gardasil 9 จะเป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วยสายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 สามารถฉีดได้ทุกเพศทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี
- วัคซีนเซอร์วาริก (Cervarix)
- ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่
ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่มีความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสในร่างกาย จะพัฒนาไปสู่การเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งบริเวณแคมใหญ่ มะเร็งในคอหอย โดยโรคแทรกซ้อนดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ รวมถึงกรณีเพศหญิงที่มีหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่ระหว่างการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้รอยแผลขัดขวางการคลอดจนแพทย์ต้องใช้วิธีการผ่าคลอดแทน
การดูแลตนเองระหว่างการรักษาหูดหงอนไก่
- งดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างที่ทำการรักษาหูดหงอนไก่
- เข้ารับการรักษาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
- หมั่นรักษาสุขอนามัยร่างกายและบริเวณที่พบรอยโรค
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอ
- ควรรีบพบแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติ หรือ มีอาการรุนแรงมากขึ้น
- ควรให้คู่นอนทำการตรวจรักษาร่วมด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ