ไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบทำลายตับ อาการ สาเหตุ การรักษา – การป้องกัน

ไวรัสตับอักเสบบี

ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วย ไวรัสตับอักเสบบีมากถึง 350 ล้านคน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย หลายคนมักสงสัยว่าไวรัสตับอักเสบบี รักษาหายไหม ซึ่งจากสถิติของประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีมากกว่า 3 ล้านคน อีกทั้งยังติดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจำนวนมาก จึงถือได้ว่าเป็นโรคติดต่อที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

ไวรัสตับอักเสบบีคืออะไร?

ไวรัสตับอักเสบบี คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B: HBV) ซึ่งในทางการแพทย์ได้แบ่งชนิดของเชื้อไวรัสตับอักเสบไว้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นชนิด เอ บี ซี ดี อี โดยไวรัสชนิดบีนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอักเสบของเซลล์ตับ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง จนส่งผลให้เกิดพังผืด ตับแข็ง และลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดนี้จำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถหายได้เอง และผู้ป่วยอีก 5 เปอร์เซ็นต์ อาจมีอาการลุกลามจนกลายเป็นการติดเชื้อชนิดเรื้อรังได้ในที่สุด

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

เชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุผิวต่างๆ ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ จากร่างกายผู้ที่มีเชื้อไวรัส เช่น

  • การติดเชื้อจากมารดาในระหว่างการคลอด
  • การติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่มีเชื้อ
  • การติดเชื้อทางเลือด เช่น สัมผัสกับเลือดผู้ที่ติดเชื้อเข้าสู่บริเวณเยื่อบุต่างๆ การฝังเข็ม การสัก การเจาะหู การใช้เข็มฉีดยา และกระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • การใช้แปรงสีฟัน ตัดเล็บ ก็มีโอกาสติดเช่นกัน

ไวรัสตับอักเสบบีมีกี่ประเภท

ไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน

ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเข้าสู่ร่างกายในช่วง 1-3 เดือน ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการที่รุนแรง แต่จะมีแค่อาการคล้ายอาการไข้ อาการหวัด รวมถึงปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว ตาเหลือง ตัวซีดเหลือง และมีค่าการทำงานตับสูงผิดปกติ หลังจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้ด้วยตัวเองภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำอาการอาจลุกลามสู่ไวรัสตับอักเสบระยะเรื้อรังได้

ไวรัสตับอักเสบบีระยะเรื้อรัง

ผลมาจากผู้ป่วยได้รับเชื้อในร่างกายนานกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในระยะนี้มักติดเชื้อจากมารดาระหว่างการคลอด หรือได้รับเชื้อตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งหากมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ จะส่งผลให้เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะเกิดภาวะตับอักเสบทำให้เป็นระยะเรื้อรัง โดยระยะเรื้อรังนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง เป็นต้น

อาการของไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน และบางรายอาจแสดงอาการที่ไม่รุนแรง สามารถสังเกตอาการโดยทั่วไปได้จากมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน มีอาการคล้ายหวัด น้ำหนักตัวลด ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม และจุกแน่นชายโครงขวา โดยที่อาการดังกล่าวจะเริ่มดีขึ้นในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสได้ดีขึ้น และจะมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบภายในร่างกายได้ จึงส่งผลให้โรคเข้าสู่ระยะของการติดเชื้อเรื้อรัง

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี

ขั้นตอน และวิธีการวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี แพทย์จะเลือกใช้วิธีการตรวจดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือดเพื่อตรวจวัดค่าการทำงานของตับ หรือ Liver function test
  • การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี HbsAg
  • การตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี Anti-HBS
  • การตรวจหาพังผืดในตับ หรือ Fibro scan
  • การตรวจชิ้นเนื้อตับ Liver Biopsy

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี

การรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีนั้น แพทย์จะทำการแบ่งระยะของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย และทำการรักษาให้เหมาะสมกับอาการอย่างถูกต้อง เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายจะแสดงความรุนแรงที่แตกต่างกัน ดังนั้นแพทย์จะพิจารณารักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เช่น รักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส การใช้ยาฉีด Pegylated interferon หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ

เพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัส และยับยั้งไม่ให้ไวรัสทำลายเซลล์ตับให้ได้มากที่สุด จนตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายอีก

โดยแพทย์จะเลือกทำการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีผลตรวจวินิจฉัย  HBsAg เป็นผลบวกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยที่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างมาก หรือผู้ป่วยที่ค่าเอนไซม์ตับสูงเกินกว่าค่าปกติมากถึง 1.5-2 เท่า และผู้ป่วยที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงภายในเนื้อตับอยู่ในระยะที่สมควรให้การรักษา

ไวรัสตับอักเสบบีตรวจที่ไหน ?

จังหวัด สถานที่ตรวจ ราคา
กรุงเทพมหานคร คลินิกนิรนาม คนไทยตรวจฟรี
กรุงเทพมหานคร เซฟ คลินิค 200-500 บาท
เชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ ฟรี
ลำปาง โรงพยาบาลลำปาง ฟรี
น่าน โรงพยาบาลน่าน ฟรี
พิษณุโลก โรงพยาบาลพุทธชินราช ฟรี
นนทบุรี โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ฟรี
ปทุมธานี โรงพยาบาลปทุมธานี ฟรี
สมุทรปราการ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ฟรี
ขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น ฟรี
บุรีรัมย์ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ฟรี
อุบลราชธานี โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ฟรี
กระบี่ โรงพยาบาลกระบี่ ฟรี
ภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ฟรี
ต่างจังหวัด โรงพยาบาลของรัฐ ฟรี

คำถามที่ถามบ่อยเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี

ถ้าแม่เป็นโรคตับอักเสบจากไวรัสบี ลูกจะเป็นไหม ?

  • แม่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี ทารกจะมีโอกาสติดโรคจากมารดาได้ประมาณร้อยละ 40-90 เพศชายที่ติดเชื้อ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นโรคตับสูงกว่า เพศหญิงที่ติดเชื้อ แต่ในทารกเพศหญิงที่ติดเชื้อก็จะเติบโตเป็นมารดาที่เป็นพาหะต่อไป การติดเชื้อของทารกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอด

จะทราบได้อย่างไร? ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

  • มีวิธีเดียวคือการตรวจเลือด  สะดวก และรวดเร็ว

พาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร ?

  • คือผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการตับอักเสบ บุคคลที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้

ไวรัสตับอักเสบบีมีกี่ระยะ ?

  • มี 2 ระยะ คือ ระเฉียบพลับ และระยะเรื้อรัง

วิธีการป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อ
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายตับ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้อื่น
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน
  • ฉีดวัคซีนป้องกันในเด็กแรกเกิด
  • ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

ดูแลตัวเองอย่างไร ? เมื่อเป็นไวรัสตับอักเสบบี

  • งดบริจาคโลหิต
  • ออกกำลังกายแบบเบาๆ ไม่ควรหักโหม
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • พักผ่อนให้พอเพียง ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส
  • ก่อนรับประทานยาทุกชนิด ควรแจ้ง และปรึกษาแพทย์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นการกระตุ้นการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
  • ไปพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจเลือด เช็คประสิทธิภาพการทำงานของตับเป็นระยะๆ
  • แนะนำให้คนในครอบครัว หรือผู้ที่อยู่บ้านเดียวกัน ให้ตรวจเลือด และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

สรุป

โรคตับอักเสบจากไวรัสบี รักษายากแต่ปัจจุบันสามารถป้องกันได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีซึ่งได้ผล และสามารถฉีดได้ง่ายจาก โรงพยาบาล และคลินิคทั่วไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี bumrungrad.com