โรคโลน ทำความเข้าใจสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

โรคโลน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการร่วมเพศ บางโรคอาจติดต่อกันโดยการสัมผัสทางเพศ หรือการถ่ายทอดสู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริมอวัยวะเพศ ฝีมะม่วง หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก พยาธิช่องคลอด เชื้อราช่องคลอด โรคโลน

โรคโลน คืออะไร ?

โรคโลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) คือ แมลงขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มของปรสิต  มีขนาดเล็กมากประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร มีขา 3 คู่ แต่ที่ปลายขาหน้าจะมีลักษณะพิเศษเป็นก้ามคล้ายขาปู โลนสามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีกิจกรรมทางเพศทุกชนิด

โลนสามารถดำรงวงจรชีวิตได้ด้วยการกินเลือดมนุษย์ และทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงในบริเวณนั้น โลนมักจะอาศัยอยู่บริเวณขนหัวหน่าว และแพร่กระจายผ่านการสัมผัส ในบางกรณีอาจพบได้ในขนตา ขนรักแร้ ขนหน้าอก หนวดเครา ขนคิ้ว และขนบนใบหน้า แต่จะไม่พบบนเส้นผม โลนจะมีขนาดเล็กกว่าเหาบนหัว การแพร่ระบาดของโลนส่วนมากติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ตัวโลนที่เกาะอยู่ตามเส้นขนนั้นจะมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียจะวางไข่บนเส้นขน ซึ่งโดยปกติแล้วโลนตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง เมื่อวางไข่แล้ว อีก 7 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย เพื่อผสมพันธุ์ และออกไข่ต่อไป

โลนเป็นหนึ่งในสามประเภทของเหาที่รบกวนมนุษย์

  1. เหาบนหัว Pediculus humanus capitis
  2. เหาบนร่างกาย Pediculus humanus corporis
  3. เหาในอวัยวะเพศ หรือโลน

อาการของโรคโลน

อาการของ โรคโลน นั้น จะเริ่มมีอาการจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ซึ่งอาการในผู้หญิง และผู้ชายจะคล้ายกัน โดยที่เห็นชัดเจนคือ อาการคันบริเวณอวัยวะเพศ บริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันที่บริเวณอื่นๆ เช่น ใต้รักแร้ บริเวณที่มีขน เช่น ขา หน้าอก ท้อง หรือหลัง หนวด เครา คิ้ว หรือขนตา

บ่อยครั้งที่พบว่ามีรอยเการุนแรง จนเลือดออก หากมีโลนที่อวัยวะเพศ อาจมองเห็นอุจจาระของโลนเป็นจุดสีดำๆ ติดกางเกงใน และมองเห็นไข่โลนที่ขนตามร่างกาย โดยเห็นเป็นเม็ดสีน้ำตาล เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นเป็นจุดสีแดง ซึ่งเป็นรอยที่โลนดูดเลือดเป็นอาหาร หากลองสังเกตให้ดีจะเห็นโลนเดินอยู่บนเตียงนอน มันมักจะหยุดอยู่นิ่งเมื่อเปิดไฟ และเริ่มเดินอีกครั้งเมื่อดับไฟ

ในบางรายบริเวณที่ตัวโลนกัด และดูดเลือดจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดตุ่มหนองบริเวณรากขน และหากมีโลนอาศัยอยู่บริเวณขนตาอาจเสี่ยงต่ออาการเยื่อบุตาอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งอาการคัน จะคันมากขึ้นในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นๆ ได้ด้วย เช่น

  • มีไข้ต่ำๆ
  • หงุดหงิด ฉุนเฉียว
  • ไม่มีแรง
  • มีรอยช้ำเล็กๆ จากการกัดบนผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้องส่วนล่าง
  • มีผงลักษณะสีดำติดที่กางเกงชั้นใน

ตัวโลนที่พบได้ในร่างกายมนุษย์มีทั้งหมด 3 ระยะ คือ

  • ไข่ (Nit) มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย ไข่ของโลนมีสีขาว หรือสีเหลือง และมักจะเกาะอยู่ตามเส้นขน ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 6 – 10 วัน ก่อนจะออกมาเป็นตัวอ่อน
  • ตัวอ่อน (Nymph) หลังจากไข่ฟักตัวแล้ว ตัวอ่อนของโลนจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาศัยเลือดของมนุษย์เป็นอาหาร ลักษณะของตัวอ่อนจะคล้ายกับตัวโตเต็มไว แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะโตเต็มไว
  • ตัวเต็มวัย (Adult) ลักษณะเด่นคือ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีเทาอ่อนๆ มีหกขา โดยขาหน้า 2 ขาจะใหญ่ และมีลักษณะคล้ายก้ามปู ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หากตัวโลนร่วงจากร่างกายมนุษย์ก็จะตายเองภายใน 1 – 2 วัน

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากติดโลน จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการแสดงอาการ

สาเหตุของ โรคโลน

เกิดจากแมลงขนาดเล็กที่มีชื่อว่า โลน (Pubic Lice) ซึ่งเป็นแมลงที่ไม่สามารถบิน หรือกระโดดได้ และต้องการเลือดมนุษย์เพื่อดำรงชีวิต โลนติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด จูบ แต่ที่มักพบได้บ่อยที่สุดคือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือโลนไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย หรือการใช้ยาคุมกำเนิด โลนมักจะพบได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือวัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว แต่ถ้าพบในเด็กอาจเป็นสัญญาณของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ

โดยสามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ

  • ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากตัวโลนมักอาศัยอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเวลามีเพศสัมพันธ์ โลนสามารถติดไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่ายๆ
  • ติดต่อจากการใช้ของใช้ร่วมกัน หากใครในบ้านเป็นโรคโลน แล้วไม่ระวังตัวเอง และไปใช้ผ้าเช็ดตัว ใส่เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน หรือแม้กระทั่งนั่งบนโถส้วมที่มีเชื้อโรคโลนอยู่ ก็สามารถทำให้เกิดการติดโรคโลนได้ เพราะโลนสามารถมีชีวิตนอกร่างกายได้นานถึง 24 ชั่วโมง ถึงโลนจะไม่สามารถกระโดดได้ แต่มันจะค่อยๆ คืบคลานไปตามขน และพื้นผิว

การรักษา โรคโลน

โดยทั่วไปแล้วโลนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยแชมพู โลชั่น หรือครีมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงจำพวกโลน หรือเหา โดยแพทย์ หรือเกสัชจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้มากที่สุด ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเอกสารกำกับยา ตัวยาที่ใช้ได้แก่ เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งมีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้

  • ทายาบริเวณที่มีอาการ หรือบริเวณที่มีเส้นขนเยอะๆ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ คิ้ว หนวด เครา ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องทาทั่วร่างกายเพื่อป้องกันโลน
  • หากใช้ยาดังกล่าวใกล้กับตาเกินไป จนตัวยาเข้าตาควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด
  • ยาบางชนิดอาจต้องทาทิ้งไว้แล้วล้างออกในภายหลัง หากครบกำหนดเวลาแล้วควรล้างออกให้สะอาด

การรักษาด้วยยาครั้งแรกมักจะเป็นการกำจัดตัวโลนที่อยู่ในร่างกาย ดังนั้น ไข่ที่ยังไม่ฟักจึงไม่ถูกทำลาย ภายหลังการใช้ยาครั้งแรก 3 – 7 วัน จึงควรใช้ซ้ำเพื่อกำจัดตัวโลนที่เพิ่งออกมาจากไข่ แต่หากใช้ยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 แล้วอาการยังไม่ทุเลาลง หรือการรักษาไม่ได้ผล ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ และไม่ควรใช้ยาซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น ผิวหนังระคายเคือง มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น

การป้องกัน โรคโลน

  • หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดโลน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันในระหว่างที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดโลน จะทำให้เกิดแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะรักษาโลนให้หายดีก่อน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรืออุปกรณ์เครื่องนอนกับผู้ที่ติดโลน แม้ว่ามีโอกาสน้อยในการติดโลนผ่านเสื้อผ้า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะโลนสามารถอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าได้ในระยะสั้นๆ หากใช้สิ่งของดังกล่าวต่อกันก็อาจทำให้ตัวโลนแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้
  • อาบน้ำให้สะอาด ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโลน
  • หลีกเลี่ยงการลองชุดในห้างสรรพสินค้า ในการซื้อเสื้อผ้า ควรหลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้าจะดีที่สุด โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ หากต้องลองควรสวมใส่ชุดชั้นในขณะลองเพื่อป้องกันการติดโลน หรือเชื้อโรคอื่นๆ ที่เป็นอันตราย
  • หากรู้ว่าคนนั้นเป็นโรคโลน ต้องไม่ใช้เตียง หรือห้องน้ำร่วมกัน จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาหายจากโรคโลนแล้วเท่าน้้น
  • ถ้าตัวเราเองติดโรคโลน ควรนำเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หรือของใช้ที่ต้มได้ ไปต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าตัวโลนให้หมด ถ้าต้มไม่ได้ ให้นำใส่ถุงมัดให้แน่น วางทิ้งไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ตัวโลนตายสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดเสมอ

ถึงแม้ว่าโรคโลนจะรักษาได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเราป้องกันไว้ก่อน โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโลน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณห่างไกลจากโรคโลนแล้วครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า