โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “กามโรค” ชื่อก็บ่งบอกว่าสามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยภาษาอังกฤษจะเรียกว่า STIs ย่อมาจากคำว่า Sexually Transmitted Infection นั่นเอง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ จะสามารถส่งต่อเชื้อผ่านทางอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทหารหนัก ทางปาก รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ เช่น เลือด อสุจิ น้ำในช่องคลอด และของเหลวในร่างกายอื่นๆ ด้วย และยังหมายถึงการที่ติดต่อจากแม่สู่ลูก การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
พฤติกรรมใดบ้างที่เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ?
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ให้บริการทางเพศ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอะไรบ้าง ?
หลักๆ แล้วโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะถูกจำแนกออกตามประเภทกลุ่มของการติดเชื้อ ได้แก่
1. กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- ซิฟิลิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Treponema Pallidum ซึ่งอาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย เนื่องจากมีขนาดที่เล็กมากๆ แม้โรค ซิฟิลิส นี้อาจรู้สึกว่าไม่ได้ร้ายแรงหากเทียบกับโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แต่มันก็ทำให้ผู้ป่วยเองรู้สึกได้ถึงความทรมานได้ไม่น้อยเหมือนกัน ยิ่งสถิติที่ผ่านมาระบุชัดเจนว่าเริ่มมีคนป่วยด้วยโรคดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดใช้คำว่าในเมืองไทยโรคซิฟิลิสกำลังระบาดอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักให้มากขึ้น
- หนองในแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae อาการหนองในระหว่างผู้หญิง และผู้ชายจะต่างกันออกไป แต่สิ่งทีเหมือนกันอย่างแรกคือเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้บางคนอาจไม่ได้มีอาการอะไรเลย
- หนองในเทียม เกิดจากเชื้อโรคที่ชื่อว่า Chlamydia Trachomatis ได้ผ่านเข้าไปสู่ร่างกาย (เป็นเชื้อคนละตัวกับหนองในแท้) มักพบเจอได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาการของโรคจะไม่แสดงให้เห็น แต่สามารถแพร่กระจายไปติดกับผู้อื่นต่อได้หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี โดยทั่วไปแล้วหากเป็นหนองในเทียม อาการจะไม่หนักเท่ากับการเป็นหนองในแท้ แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ในการติดเชื้อ และป่วยเป็นโรคนี้
- แผลริมอ่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Haemophilus Ducreyi หากเกิดขึ้นกับใครก็ตามจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการเปื่อย นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อ โรคแผลริมอ่อน โดยอาการในแต่ละเพศจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความทรมานกับร่างกายไม่ต่างกัน
2. กลุ่มเชื้อไวรัส เช่น เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชพีวี (HPV)
- เริม หรือ Herpes เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายคน เมื่อเชื้อ โรคเริม ได้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะอยู่กับคนๆ นั้นไปตลอดชีวิต โดยที่คนส่วนใหญ่เป็นกันจะเกิดจากเชื้อ 2 สายพันธุ์ คือ Herpes Simplex Virus ชนิด 1 หรือ HSV-1 กับ Herpes Simplex Virus ชนิด 2 หรือ HSV-2 จะบอกว่า โรคเริม นี้เป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็ไม่เชิง เพราะในความจริงคนที่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อก็สามารถติดได้เช่นกัน ถือว่าเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย
- หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อที่เรียกว่า Human Papilloma Virus หรือ HPV ประกอบกับมีเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุกว่า 150 สายพันธุ์ที่ถูกระบุเอาไว้เป็นตัวเลขทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่นี้ ปกติแล้วเชื้อไวรัสตัวที่พบบ่อยสุดจะเป็น HPV 6 กับ HPV 11
- หูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus (MCV) เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ ความอันตรายของหูดข้าวสุก คือ ในเด็กที่มีอายุ 1-10 ปี ที่ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันแข็งแรงดีแล้ว จะช่วยกำจัดจนหูดข้าวสุก สามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1 ปี ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงต้องระมัดระวังอย่าให้เด็กในความดูแลเกิดโรคหูดข้าวสุกจะเป็นเรื่องดีที่สุด
- ไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัสตับอักเสบซี
- ไวรัสเอชพีวี (HPV)
3. กลุ่มเชื้อปรสิต เช่น โลน หิด พยาธิในช่องคลอด
4. กลุ่มเชื้อรา เช่น เชื้อราในช่องคลอด
อาการของ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ผู้ที่ติดเชื้อกามโรคนั้น มักจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค ซึ่งอาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด และในบางรายที่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย อาจจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่สามารถสังเกตได้จากความผิดปกติเล็กน้อยเหล่านี้ ได้แก่
- มีผื่น ตุ่มนูน ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือบริเวณทหารหนัก
- ในเพศหญิงอาจมีอาการตกขาวมากกว่าปกติ มีกลิ่น หรือสีที่ผิดปกติ เช่น เหม็นคาว มีกลิ่นรุนแรง บางรายมีอาการคันในช่องคลอดติดต่อกันหลายสัปดาห์
- ในเพศชายอาจมีน้ำเหลือง หรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศ และรู้สึกแสบขัดเวลาที่ปัสสาวะ
- มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ บวมโต กดแล้วรู้สึกเจ็บ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ ร่วมกับมีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ
- อาการผิดปกติอื่นๆ มีผื่นขึ้นตามแขนขา และลำตัว น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
อาการของเชื้อกามโรคนั้น อาจไม่แสดงให้เห็นทันที บางรายใช้เวลา 2-3 วันจึงจะแสดงอาการ บางรายใช้เวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับสุขภาพของร่างกายแต่ละคน นอกจากนี้ การติดเชื้อกามโรคมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้หญิงกำลังตั้งครรภ์ เกิดการแท้งลูก หรือทำให้ทารกเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหญิงตั้งครรภ์ทุกราย จึงควรได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อ และทำการรักษากามโรคก่อนทุกราย
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ในขั้นตอนของการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด ด้วยการซักประวัติ และความเสี่ยงในการติดเชื้อ ร่วมกับการเจาะเลือด การเก็บปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งส่งตรวจ เพื่อวินิจฉัยยืนยันในห้องปฏิบัติการที่มีผลชัดเจน หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้น เชื้อไวรัสอาจจะต้องดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยอีก เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งยารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาต่อเนื่องจนหมด และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายเป็นปกติ
- ยาต้านไวรัส (Antivirus) เช่น โรคเริม ผู้ป่วยควรได้รับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ และเชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และมีโอกาสแพร่เชื้อให้กับคู่นอนได้ด้วย ถึงแม้จะมีโอกาสต่ำ ดังนั้น ควรรับประทานยา และรักษาให้หายขาดก่อนจะมีเพศสัมพันธ์ หรือต้องป้องกันทุกครั้ง
การป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วิธีป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ดีที่สุด คือ การงดการมีเพศสัมพันธ์ แต่หากมีเพศสัมพันธ์ ควรป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้
นอกจากนี้ ยังมีวิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ดังนี้
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันเอชพีวี (HPV)
สรุปแล้วโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย และเหมาะสม ซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และหากไม่มั่นใจว่าหายขาด เชื้อกามโรคบางชนิดสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคในอนาคตได้