PrEP กับ PEP ไม่เหมือนกันนะ อย่าสับสน แตกต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบ

PrEP กับ PEP

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินข้อมูลเกี่ยวกับ ยาที่ใช้สำหรับทานป้องกันไวรัสเอชไอวีมาก่อน ทั้ง PrEP และ PEP แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาประเภทนี้อยู่มาก บางคนเลือกทานผิดชนิด หรือใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง หรือบางคนเข้าใจว่าสามารถหาซื้อยา PrEP หรือ PEP ที่ร้านขายยาทั่วไปได้ แต่ความจริงแล้วยาต้านไวรัสเอชไอวีพวกนี้ จำเป็นจะต้องมีการพบแพทย์ก่อนทานเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นยาจำเพาะ และต้องทำการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีก่อน เนื่องจากยาประเภทนี้จะทานได้ก็ต่อเมื่อคุณยังไม่มีเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

PrEP คืออะไร

PrEP เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรค ว่ากันง่ายๆ คือก่อนมีเซ็กส์กับใครนั่นเอง PrEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Pre-Exposure Prophylaxis หลักการทำงานของ PrEP คือเมื่อทานเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่เพียงพอ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเอชไอวีได้ ก่อนทาน PrEP จะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น เพราะจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่าผู้ที่ต้องการทาน PrEP มีสภาพร่างกายที่พร้อมรับยานี้ หรือไม่ ได้แก่

  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ตรวจการทำงานของตับ
  • ตรวจการทำงานของไต
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบบี
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตรวจการตั้งครรภ์​ (เพศหญิง)

PEP คืออะไร

PEP เป็นยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสโรค ต่างจาก PrEP นั่นคือคุณจะทานยานี้หลังมีเซ็กส์กับคนที่อาจจะเชื้อเอชไอวี PEP ย่อมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Post-Exposure Prophylaxis เมื่อทาน PEP เข้าไปในร่างกาย ตัวยาจะช่วยยับยั้งการกลายเป็นตัวไวรัสเอชไอวีที่สมบูรณ์ ร่างกายของผู้ทานก็จะสร้างภูมิคุ้มกันมาป้องกันเชื้อก่อนที่มันจะแบ่งตัวกระจายไปทำอันตรายต่อไปได้ ก่อนทาน PEP แพทย์จะต้องมั่นใจว่าผู้ทานไม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนหน้านี้ ด้วยการซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงในการทาน PEP ได้แก่

  • ตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
  • ตรวจค่าการทำงานของตับ (AST, ALT)
  • ตรวจค่าการทำงานของไต (BUN, Cr)
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)
  • ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี (Anti-HBsAg)
  • ตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV)
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs)
  • ตรวจการตั้งครรภ์​ (เพศหญิง)

“PrEP ทานก่อนเสี่ยง แต่ PEP ทานหลังมีความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน”

PrEP กับ PEP ต่างกันยังไง

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น หลายคงรู้แล้วว่า PrEP และ PEP นั้นมีความต่างกันอย่างไร โดย PrEP ใช้ก่อนมีความเสี่ยงต่อเอชไอวี และ PEP ใช้หลังมีความเสี่ยงต่อเอชไอวี หากคุณไม่มั่นใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะหากเลือกใช้ยาผิด ก็ไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพของคุณเอง โดยแพทย์จะพิจารณาจากความเสี่ยง และพฤติกรรมของคุณในการซักประวัติเบื้องต้น

PrEP กับ PEP เหมาะกับใคร

PrEP เหมาะสำหรับ PEP เหมาะสำหรับ
ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ชอบสวมถุงยางอนามัยบ่อยครั้ง ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ถุงยางอนามัยแตก หรือหลุดรั่ว
ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือในคู่รักผลเลือดต่าง ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ผู้ใช้สารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้น ผู้ที่เพิ่งใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติดร่วมกับผู้อื่น
ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมา ขาดสติ

PrEP กับ PEP ทานอย่างไร

PrEP ทานก่อนมีความเสี่ยงเอชไอวี

โดยทานวันละ 1 เม็ด ตรงต่อเวลา อย่างน้อย 7 วันก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และทานต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอ หากวันนั้นลืมทานยา ไม่ควรทานซ้ำ 2 เม็ดในครั้งเดียว แนะนำให้ทานยามื้อที่ลืมทันที เช่น คุณควรทานยาตอน 10 โมงเช้า แต่จำได้ตอนประมาณบ่าย 2 โมง ก็ให้ทาน 1 เม็ดทันที และทานยามื้อถัดไปในเวลาเดิม คือพรุ่งนี้ 10 โมง แต่หากจำได้ ใกล้เวลาทานเดิมมากเกินไป ก็ให้ทานเวลาเดิม เช่น จำได้ตอน 9 โมงของพรุ่งนี้ ก็ทาน 1 เม็ด ตอน 10 โมง เป็นต้น แต่หากไม่มีความเสี่ยงแล้วสามารถหยุดยาได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายที่ 4 สัปดาห์ และควรกลับไปปรึกษาแพทย์ก่อนการหยุดยา PrEP ทุกครั้ง

PEP ทานหลังจากมีความเสี่ยงเอชไอวีมาแล้ว

โดยควรทานให้เร็วที่สุดแต่ไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง ผู้ทานยาจะได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ใช้ทานประมาณ 28 วัน ควรทานให้ครบ ไม่ขาดยา เพราะหากทานไม่ครบจะทำให้โอกาสในการป้องกันเชื้อลดลง และมีโอกาสดื้อยาหากครั้งหน้ายังมีโอกาสได้รับบริการยา PEP อีกครั้ง หลังจากทานครบแล้ว ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเลือดซ้ำ และควรตรวจเอชไอวีอีกครั้งหลังจาก 3 เดือน โดยในระหว่างนี้ผู้ที่ทาน PEP ควรงดบริจาคเลือด และห้ามลืมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งด้วย

PrEP กับ PEP ป้องกันเอชไอวีได้จริง หรือไม่

ถึงแม้ว่า PrEP กับ PEP จะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม เป็นต้น เพราะฉะนั้น การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับถุงยางอนามัยทุกครั้ง ก็จะช่วยลดโอกาสติดโรคอื่นได้ และเสริมความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น

PrEP มีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีอยู่ที่ร้อยละ 90 ขึ้นไป หากผู้ใช้ PrEP มีการทานยาที่เคร่งครัด ตรงต่อเวลา สม่ำเสมอ หากลืมทานยาบ่อยครั้ง แน่นอนว่าปริมาณยาในร่างกายที่จะไปต่อสู้กับเอชไอวีก็ลดลงตามไปด้วย

การทาน PrEP จะต้องมีการติดตามผลการทานยาจากแพทย์ผู้จ่ายยา และนัดตรวจเอชไอวีเป็นประจำทุก 3-6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันเชื้อได้ดีที่สุด และยังเป็นการตรวจเช็คสุขภาพของผู้ทาน PrEP ด้วย เพราะหากมีอาการ หรือสัญญาณผิดปกติจะได้ทำการรักษาทันที

PEP มีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีอยู่ที่ร้อยละ 70-80 ยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงทานเร็วเท่าไหร่ก็ทำให้ยาเข้าไปจัดการกับเชื้อได้เร็วเท่านั้น และจำเป็นจะต้องทานต่อเนื่อง 28 วันเพื่อทำให้ยาป้องกันเชื้อก่อนการแพร่กระจ่ายไปในร่างกายได้ แต่ PEP ไม่แนะนำให้ใช้ทุกครั้งหากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงบ่อย คุณควรเลือกทาน PrEP กับถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อเอชไอวีจะเป็นวิธีที่เหมาะสมมากกว่า

ผลข้างเคียงของ PrEP กับ PEP

ผลข้างเคียงของการทาน PrEP หรือ PEP นั้นมีเพียงอาการเล็กน้อย และเป็นในช่วงแรกที่ทานยาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และสามารถหายไปได้เอง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น ยังไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่หากคุณทานยาไประยะเวลาเกินกว่า 2 สัปดาห์ และอาการยังไม่ดีขึ้น คุณควรกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

สรุป การป้องกันเอชไอวีด้วยการใช้ PrEP และ PEP อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดโอกาสที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี และโอกาสการแพร่เชื้อ เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง และเหมาะสม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า