สัญญาณเตือน รู้ทันเริมที่ปาก อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาอย่างได้ผล

เริมที่ปาก

เริมที่ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในทุกเพศทุกวัย แถมยังเป็นโรคติดต่ออีกด้วย หากมีการสัมผัสเชื้อ เช่น การจูบ การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้หลอดดูดเดียวกัน ใช้ลิปสติกแท่งเดียวกัน การใช้ของร่วมกัน หรือแม้แต่การทำออรัลเซ็กส์ โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคเริมที่ปาก นี้เพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้รู้สาเหตุ และป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคได้ครับ

สาเหตุเริมที่ปาก

เริมที่ปาก เกิดจาก เชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Herpes Simplex Type 1 Virus (HSV-1) สามารถติดเชื้อได้จากน้ำลาย น้ำเหลือง หรือน้ำอสุจิ สารคัดหลั่ง โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังบริเวณที่มีรอยถลอก­­­­ หรือแผล นอกจากนี้ ก็ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุปาก เป็นต้น โดยเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในเซลล์ผิวหนังชั้นล่าง

โดยบางครั้ง ก็อาจจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น แต่ผู้ป่วยบางราย ในทำนองเดียวกัน เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุเริมที่ปาก นี้ก็อาจจะเกิดการแบ่งตัว และทำลายเซลล์ผิวหนังทำให้เกิด­­­­เป็นตุ่ม ใสๆ เมื่อตุ่มน้ำเหล่านี้แห้ง หรือแตกแล้วก็จะเกิดเป็นสะเก็ด และหายไ­­­­ปโดยไม่มีแผลเป็นใดๆ

อาการของ เริมที่ปาก

อาการของ เริมที่ปาก มักเริ่มขึ้นด้วยอาการคัน แสบร้อน ตามมาด้วยตุ่มน้ำใสขนาดเล็กที่บริเวณริมฝีปาก ริมฝีปากด้านใน ตุ่มน้ำเหล่านี้จะแตกออกกลายเป็นแผลพุพอง และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 10 – 14 วัน อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัส HSV-1 จะยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเจ็บป่วย อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. แสบร้อนผ่าว บริเวณริมฝีปาก หรือคันยุบยิบ
  2. มีตุ่มพองใสๆ ลักษณะคล้ายพวงองุ่น จากอาการในข้อแรกหลายวันถัดมา บริเวณปาก ริมฝีปาก หรือรอบๆ ปาก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งริมฝีปากบน หรือล่าง และในช่องปาก
  3. ปากเป็นแผลบวมแดง และรู้สึกเจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจมีอาการไข้ร่วมด้วย
  4. ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง

ระยะของเริม

ระยะของโรคเริมที่ปาก แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่หนึ่ง คือ รู้สึกระคายเคือง หรือคันบริเวณริมฝีปาก ก่อนการเกิดแผล
  • ระยะที่สอง คือ มีแผลพุพอง หรือตุ่มใสๆ เกิดขึ้นบริเวณริมฝีปาก
  • ระยะที่สาม คือ มีแผลพุพองเยอะขึ้น และรู้สึกแสบร้อน เจ็บปวดมากกว่าเดิม
  • ระยะที่สี่ คือ แผลในระยะที่ 3 เริ่มแห้ง และตกสะเก็ด ประมาณ 7-10 วัน
  • ระยะที่ห้า คือ แผลตกสะเก็ดเริ่มหายดี และไม่แสดงอาการใดๆ

ภาวะอาการแทรกซ้อนของโรค

หากติดเชื้อเริม อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยให้อาการทุเลาเอง

  • มีอาการไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการหน้าแดง ตัวแดง หายใจไม่สะดวก หรือติดขัด
  • ตาแดง มีอาการระคายเคืองบริเวณรอบดวงตา

เริมที่ปาก ติดต่อกันได้ หรือไม่

เริมที่ปาก สามารถติดต่อกันได้ หากมีการสัมผัสเชื้อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย น้ำลาย น้ำอสุจิ น้ำเหลือง พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคนี้ ตัวอย่างเช่น การจูบ การดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้หลอดดูดเดียวกัน การรับประทานอาหารไม่ใช้ช้อนกลาง ใช้ลิปสติกแท่งเดียวกัน การใช้ของร่วมกัน หรือแม้แต่ การทำออรัลเซ็กส์ โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น ซึ่งหาก เป็นเริมที่ปาก ก็อาจทำให้บริเวณอวัยวะอื่นติดเชื้อเริมไปด้วย ถึงแม้ว่า จะเป็นไวรัสคนละชนิดกันก็ตาม อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโรคเริมที่อวัยวะเพศเพิ่มเติมที่นี่ > เริมที่อวัยวะเพศ ทุกเรื่องที่คุณควรรู้

การรักษา เริมที่ปาก

โรคเริม ที่ปาก ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และสามารถเกิดซ้ำได้ทุกเมื่อ ใครหลายคนจึงมีอาการ ปากเป็นเริม บ่อยมากเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรืออยู่ในช่วงที่พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการป่วย รู้สึกเครียด หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ การมีประจำเดือน มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดนแดดจัดจนผิวไหม้แดด

รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดคีโม และใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ตัวว่าเป็น เริมในปาก ควรรีบรักษา เพราะอาจจะส่งผลในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังกระทบต่อบุคลิกภายนอก หากต้องพบปะลูกค้า คุยงาน ออกงานสำคัญ อาจทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้ครับ

ยาที่ใช้รักษาเริมที่ปาก

การ รักษาเริม ที่ปาก ยาที่ใช้รักษาเริมที่ปาก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาทา และยารับประทาน

ยาสำหรับทาบริเวณแผล

  • ครีมต้านไวรัส เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) เช่น ครีมเดนาเวียร์ (Denavir)
  • ครีมต้านไวรัสโดโคซานอล (Docosanol) เช่น ครีมอะบรีวา (Abreva) สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ยาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษา เริมที่ปาก โดยเฉพาะ มีคุณสมบัติในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ช่วยเร่งการรักษาแผลพุพอง และลดอาการของโรค ลดอาการเจ็บปวด ลดอาการแสบร้อน หรือคันบริเวณแผลลงได้ ซึ่งจะเข้าไปหยุดยั้งการเติบโตของเชื้อไวรัส โดยก่อน และหลังการทายาควรล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง

ทาบางๆ บริเวณแผล และรอบๆ แผล นวดเบาๆ ทายานี้ทุกๆ 2 ชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน หรือทาตามคำสั่งแพทย์ หรือเภสัชกร แต่ห้ามทายานี้ที่แผลในปากเด็ดขาด และไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ หลีกเลี่ยงแสงแดด หรือความชื้น

  • ยาสำหรับรับประทานสำหรับ เริมที่ปาก
  • ยาต้านไวรัส อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)
  • ยาต้านไวรัส วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)
  • ยาต้านไวรัส แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)

ยาต้านไวรัส เหล่านี้ จะเข้าไปยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ส่งผลให้อาการบรรเทาลงในที่สุด แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส ในกรณีที่มีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำบ่อยครั้ง และไม่ควรหาซื้อยาประเภทนี้ตามร้านขายยาทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น ยานี้สามารถรับประทานพร้อมอาหาร ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร หรือในขณะท้องว่างก็ได้ และหลังรับประทานยาให้ดื่มน้ำตามมากๆ

การดูแลแผลเริมที่ปากด้วยตัวเอง

การรักษาโรคนี้ โดยสรุปแล้ว นอกจากจะใช้ยาทา หรือทานยาตามสั่งจากแพทย์ คุณควรจะต้องดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อให้แผลเริมบรรเทาอาการลงไปในที่สุด ได้แก่

  1. ใช้น้ำเกลือ หรือน้ำอุ่นทำความสะอาดแผล เลือกใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือ หรือน้ำอุ่น ค่อยๆ เช็ดทำความสะอาดบริเวณแผล อาจเลือกทำก่อนที่จะใช้ยาทารักษา เพื่อให้ตัวยาซึมเข้าไปในแผลได้ดีขึ้น และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดหลังจับแผล เพื่อป้องกันการลุกลามไปติดเชื้อบริเวณอื่นของร่างกาย
  2. ดูแลรักษาความสะอาด หากจำเป็นต้องแต่งหน้า หรือใช้เครื่องสำอาง ควรหลีกเลี่ยงการทาทับบริเวณดังกล่าว หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน และควรเช็ดด้วยน้ำยาล้างเครื่องสำอาง เพื่อให้บริเวณแผล และใบหน้าสะอาดหมดจด
  3. ควรให้แผลแห้งอยู่เสมอ หลังจากอาบน้ำ ล้างหน้าเรียบร้อยแล้วควรเช็ดบริเวณแผลให้แห้ง ไม่ควรปล่อยให้ชื้น เพราะจะทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ หรือหากมีอาการแสบร้อน แนะนำให้ทาด้วยเจลว่านหางจรเข้ 100% วันละ 2-3 รอบ
  4. ตัดเล็บมือให้สั้น รักษาความสะอาดของเล็บ และมือ พยายามไม่ไปแคะแกะเกาบริเวณแผลในระหว่างวันซึ่งอาจมีอาการแสบ หรือคันขึ้นได้
  5. งดการออกกำลังกายหนักๆ ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าให้มากอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากโรคได้เต็มที่
  6. ทาลิปมันที่มีสารป้องกันแสงแดด เพื่อป้องกันโอกาสเสี่ยงที่แผลจะไหม้แดดจากรังสี UV ในกรณีที่คุณต้องออกไปนอกบ้าน พบเจอแสงแดดแรงๆ
  7. งดอาหารประเภทหมักดอง ของแปรรูป และอาหารที่มีรสจัด เพราะมีผลกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้ง่าย

การป้องกันไม่ให้เป็นเริม

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นเริม
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำร่วมกัน
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีการทำออรัลเซ็กส์
  • ดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด หรือวิตกกังวลจนมากเกินไป

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเริมที่ปาก

ถาม : แผลร้อนใน กับ เริมที่ปาก แตกต่างกันอย่างไร?

  • ตอบ : แผลจากโรคเริมที่ปาก กับแผลร้อนใน ค่อนข้างคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นแผลที่เกิดขึ้นที่ด้านในของปากได้เหมือนกัน แต่แผลร้อนในไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เริมที่ปากจะสังเกตได้ว่ามักเกิดขึ้นบริเวณริมฝีปาก และนอกปาก มีลักษณะเป็นตุ่มพองเหมือนพวงองุ่น แต่แผลร้อนในมักอยู่ด้านในริมฝีปาก หรือในช่องปากเป็นส่วนใหญ่

ถาม : สามารถรักษาด้วยสมุนไพรได้ หรือไม่?

  • ตอบ : หากไม่สามารถใช้ยาแผนปัจจุบันในการรักษาเริมที่ปากได้ การใช้สมุนไพรที่ชื่อว่า “พญายอ” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดอาการแสบร้อน และทำให้ตุ่มใสหายไวขึ้น โดยสามารถเลือกซื้อได้ตามร้านขายยาสมุนไพรทั่วไปในรูปแบบของครีมพญายอ ซึ่งใช้ทาเฉพาะแผลเริมภายนอกริมฝีปาก ต่อเนื่องกัน 4-5 วัน เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ควรละเลยที่จะตามคำแนะนำของเภสัชกรเด็ดขาด

รักษาเริมที่ปากได้จากที่ไหนบ้าง

  • คลินิกเอกชน
  • โรงพยาบาลของรัฐ
  • โรงพยาบาลเอกชน

สรุปแล้ว “เริมที่ปาก” เป็นโรคติดต่อที่รักษาได้ ถึงแม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่หากเราดูแลตัวเองให้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีเริมที่ปาก พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด อาการที่เคยเกิดก็จะทุเลาลง และอาจจะไม่กลับมาเป็นอีกเลยก็ได้ครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า