ไวรัสตับอักเสบบีและซี ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ใครหลายคนกำลังเผชิญอยู่ เพราะโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับเลือดที่ไม่ได้รับการคัดกรองเชื้อ หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย โดยหลายองค์กรทางด้านสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญทั้งในเรื่องของการป้องกัน และการรักษาให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะในประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้งสองชนิดนี้มากกว่า 3 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในคนอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป
ไวรัสตับอักเสบบีและซี ภัยเงียบที่คาดไม่ถึง
ไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อตับ ไวรัสตับอักเสบบีเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยกว่าไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นทางเพศ และน้ำนมแม่ ส่วนไวรัสตับอักเสบซีสามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสเลือดเท่านั้น โดยส่วนต่อไปเราจะเจาะลึกเป็นส่วนๆ ดังต่อไปนี้
รู้จักโรคไวรัสตับอักเสบบี
โรคไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) โดยการอักเสบนี้จะทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา มีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด จากสถิติที่ได้ทำการสำรวจจากผู้ป่วยโรคมะเร็งตับกว่า 90% มีประวัติเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบแล้วทั้งนั้น
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้ทางไหน?
ไวรัสตับอักเสบบี สามารถส่งต่อเชื้อได้คล้ายกับไวรัสเอชไอวีเลยทีเดียว ได้แก่
- การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับคนที่มีเชื้อ
- การใช้อุปกรณ์สัก เจาะ ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อทำความสะอาดอย่างถูกอนามัย
- การใช้ของส่วนตัวร่วมกับคนที่มีเชื้อ เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน
- การส่งต่อเชื้อจากแม่สู่ลูก
- การถูกเข็มทิ่มตำ กรณีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ปฏิบัติงานกับคนที่มีเชื้อ
- การสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของคนที่มีเชื้อผ่านบาดแผล
อาการของผู้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีมักไม่ค่อยแสดงอาการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
ไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน
ระยะเฉียบพลันนี้ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังจากสัมผัสเชื้อ 1-4 เดือน เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย มีผื่นขึ้นผิดปกติ ลักษณะผิวมีความเหลืองเกิดขึ้น ตาเริ่มเหลือง และปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา โดยอาการเหล่านี้จะสามารถหายดีขึ้นภายใน 1 เดือน และจะหายเป็นปกติ หากร่างกายของคนนั้นสามารถกำจัดเชื้อและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ในเวลาประมาณ 3 เดือน แต่หากร่างกายของคนนั้นไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ก็จะทำให้เข้าสู่ภาวะไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังต่อไป
ไวรัสตับอักเสบบีระยะเรื้อรัง
ไวรัสตับอักเสบบีหากเข้าสู่ภาวะเรื้อรังแล้ว จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีที่มีเชื้อในร่างกาย แต่ไม่มีอาการ อีกทั้งเมื่อทำการตรวจเลือดแล้ว ยังพบค่าการทำงานของตับที่อยู่ในเกณฑ์ปกติอีกด้วย แต่จะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เราเรียกว่า “ระยะพาหะไวรัสตับอักเสบบี” เพราะฉะนั้น ก่อนวางแผนมีบุตร หรือก่อนแต่งงานควรทำการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก่อนเสมอ อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีที่มีอาการตับอักเสบเรื้อรัง โดยสามารถตรวจได้จากค่าเลือดที่แสดงการทำงานของตับที่ผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาและประเมินโรคอย่างละเอียด
ไวรัสตับอักเสบบี รักษาหายไหม?
ไวรัสตับอักเสบบี หากยังไม่ได้รับการรักษา จะแบ่งตัวเพิ่มปริมาณในร่างกาย หากปล่อยให้มีอาการเรื้อรังยาวนาน จะพบว่าผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีจะเกิดภาวะตับแข็งซึ่งเกินกว่าจะรักษาให้ดีขึ้นได้ อาจเสียชีวิตด้วยภาวะตับวายหรือมะเร็งตับ แต่หากได้รับการรักษาจำนวนไวรัสก็จะลดลงและไม่มุ่งทำลายการทำงานของตับในร่างกาย หากเราตรวจพบเชื้อเร็วและยังอยู่ในระยะเฉียบพลัน ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยที่ยังมีการแบ่งตัวของไวรัสตับอักเสบบี ร่วมกับการดูภาวะอักเสบของตับ ร่วมกับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส โดยจะพิจารณาว่าสามารถใช้ยาได้เมื่อไหร่ และหยุดยาได้เมื่อไหร่ หรือจำเป็นต้องทานยาในระยะยาวหรือตลอดชีวิต รวมทั้งยังต้องมีการติดตามผลเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับด้วย
รู้จักโรคไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัส RNA สายเดี่ยวที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 55–65 nm มีเปลือกหุ้ม และเป็นประเภท Positive-sense เป็นส่วนหนึ่งของแฟมิลี Flaviviridae ไวรัสนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด โรคไวรัสตับอักเสบซี และมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับ การที่จะรู้ว่าคุณมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่หรือไม่ สามารถตรวจได้ผ่านการเจาะเลือดดูการทำงานของตับ และตรวจนับปริมาณไวรัสตับอักเสบซีในเลือด (Anti-HCV) หากไม่เจอเชื้อ อาจจะต้องทำการตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 2 สัปดาห์หรือ 2 เดือน หรือในบางรายอาจจะต้องเจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อการวินิจฉัยโรค
โดยไวรัสตับอักเสบซีแบ่งออกเป็น 6 ชนิด คือ
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 1 (พบในประเทศไทย ประมาณ 40%)
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 2 (พบในประเทศไทย ประมาณ 20%)
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 3 (พบในประเทศไทย ประมาณ 40%)
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 4 (พบในประเทศไทย ประมาณ 10%)
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 5 (พบในประเทศไทย ประมาณ 10%)
- ไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 6 (พบในประเทศไทย ประมาณ 10%)
ไวรัสตับอักเสบซี เสี่ยงติดเชื้อได้จาก
เลือดที่ได้จากการรับบริจาคก่อนปี พ.ศ.2535 หรือสัมผัสเลือดของผู้ที่มีเชื้อ ผ่านทางบาดแผล |
เพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน, ไม่สวมถุงยางอนามัย |
ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น กรณีเสพสารเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น หรือใช้ของมีคมร่วมกัน |
แม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถส่งต่อเชื้อไปยังลูกน้อยในครรภ์ (พบได้น้อย) |
อาการของผู้เป็นโรคไวรัสตับอักเสบซี
เป็นเรื่องยากมากที่จะรู้ว่าคุณมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ เพราะโรคนี้แทบจะไม่แสดงอาการอะไรเลยภายในระยะเวลา 10 ปี แต่อาจมีอาการในระยะเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ คล้ายคลึงกับโรคไวรัสตับอักเสบบี เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา ปวดตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น
เมื่อเริ่มมีอาการของตับอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้น ตับจะเริ่มถูกทำลายจนเกิดอาการของโรคตับแข็งปรากฎให้เห็น และนำไปสู่โรคมะเร็งตับในที่สุด จึงจะเห็นได้ว่า โรคเกี่ยวกับตับอักเสบนั้นใช้เวลานานหลายสิบปี และมีการดำเนินของโรคไปอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวว่ามีอันตรายซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย เพราะฉะนั้นการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยเราป้องกันความรุนแรงของโรคได้
ไวรัสตับอักเสบบีและซี ติดแล้วต้องรีบรักษา
ประมาณ 85% ของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี จะเป็นตับอักเสบแบบเรื้อรัง หากคุณรู้ตัวว่ามีเชื้อแล้วควรเข้าสู่กระบวนการ การรักษาทันที จะทำให้มีโอกาสหายขาดจากโรคได้
การจะรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีได้ ผู้ป่วยจะต้องทำการตรวจสายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบซีว่าเป็นชนิดใดอยู่ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษา เพราะแต่ละชนิดนั้นมีความยากง่ายในการรักษาที่แตกต่างกันออกไป หากคุณติดไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 1 จะต้องรักษาเป็นเวลา 1 ปี มีโอกาสหายจากโรคประมาณ 50% ระหว่างการรักษาช่วงระยะ 3 เดือน ควรตรวจนับปริมาณไวรัสตับอักเสบซีซ้ำ เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา และแพทย์จะได้วางแผนว่าผู้ป่วยจะหยุดยารักษาที่ 1 ปีหรือนานกว่านั้นได้หรือไม่ ในกรณีถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนมาก
สรุปความแตกต่างระหว่าง ไวรัสตับอักเสบบีและซี
ลักษณะ | ไวรัสตับอักเสบบี | ไวรัสตับอักเสบซี |
---|---|---|
ชนิดของไวรัส | ไวรัสดีเอ็นเอ (DNA) | ไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA) |
ระยะฟักตัว | 2-6 เดือน | 2-6 สัปดาห์ |
โอกาสหายขาด | ประมาณ 95% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลันจะหายขาดได้ภายใน 6 เดือน ผู้ป่วยประมาณ 5-10% จะกลายเป็นพาหะนำโรค | ประมาณ 10-20% ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลันจะหายขาดได้ภายใน 6 เดือน ผู้ป่วยที่เหลือจะกลายเป็นพาหะนำโรค |
วิธีป้องกัน | ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี | ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน |
การรักษา | การรักษามุ่งเน้นไปที่การลดปริมาณไวรัสในร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้โรครุนแรงขึ้น | ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีโอกาสหายขาดได้สูงถึง 90% ขึ้นไป |
อ่านบทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไวรัสตับอักเสบบีและซี
แต่หากตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีตั้งแต่เดือนแรก ก็อาจจะร่นระยะเวลาในการรักษาลงมาอีก ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเมื่อได้ยาครบ 1 ปี ต้องตรวจเชื้อว่ายังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่ หลังเสร็จสิ้นการรักษาไปอีก 6 เดือน ถ้าตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในเลือดด้วยวิธี RT-PCR ก็สามารถยืนยันได้ว่าหายจากโรคไวรัสตับอักเสบซี และโอกาสกลับมาเป็นใหม่ค่อนข้างน้อย หากคุณติดไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 จะต้องรักษาเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนไวรัสตับอักเสบซีชนิดที่ 4, 5 และ 6 นั้นพบน้อยในประเทศไทย แนะนำให้รักษาเป็นเวลา 1 ปี
สิ่งสำคัญ คือการตรวจสุขภาพและตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ หากมีความเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการรับเชื้อเข้ามาในร่างกาย หมั่นประเมินตนเองและเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อยืนยันว่าคุณมีหรือไม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่ หากมีเชื้อ การรักษาจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงเรื้อรังที่จะเกิดตามมาภายหลัง เช่น พังผืดตับ ตับแข็ง มะเร็งตับ รวมทั้งยังช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตลงได้อีกด้วย
ปกป้องตัวเองจากเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบีและซี
- วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม
- ไม่รับบริจาคเลือดจากใครที่ไม่รู้แหล่งที่มาของเลือดหรือไม่ได้ผ่านการคัดกรองเชื้อมาก่อน
- สำหรับไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยเด็กจะต้องได้รับจำนวน 3 เข็ม ได้แก่ แรกเกิด อายุตั้งแต่ 1-2 เดือน และอายุ 6-18 เดือน ตามลำดับ ส่วนผู้ใหญ่หากยังไม่เคยฉีดก็สามารถฉีดป้องกันได้เลย แต่ควรทำการตรวจเลือดและปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารและตับอย่างน้องปีละครั้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม หรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
ไวรัสตับอักเสบบี (HBV) และไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อตับ แต่เกิดจากไวรัสที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละตัวมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง HBV แพร่กระจายได้หลักๆ ผ่านทางเลือด การสัมผัสทางเพศ หรือจากแม่สู่ลูกในระหว่างคลอดบุตร สามารถนำไปสู่การติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยอาจทำให้เกิดโรคตับเรื้อรัง ตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้ โชคดีที่มีวัคซีนป้องกัน HBV ที่มีประสิทธิภาพสำหรับการป้องกัน ดังนั้น เราจึงไม่ควรประมาท เพราะโรคตับอักเสบนี้เป็นภัยเงียบที่แทบจะไม่มีสัญญาณเตือนให้เรารู้ นอกจากการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อโอกาสในการเจอความผิดปกติของโรคอย่างรวดเร็ว และทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ