“ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน หรือไม่ (ตอบเฉพาะชาย)” คำถามในแบบคัดกรองการรับบริจาคเลือดของ กลุ่ม LGBTQ สภากาชาดไทย และหน่วยงานที่รับบริจาคเลือดหลายแห่งล้วนแล้วแต่มีคำถามนี้ แนบเข้ามาในแบบคัดกรองก่อนการบริจาคเลือดแน่นอน หากเราติ๊กไปว่า “ไม่เคย” แม้จะเคยมากกว่าหนึ่งครั้ง ในชีวิตเกย์คนหนึ่งก็ตามแต่ เราก็สามารถบริจาคเลือดได้ตาม “กฎระเบียบบังคับ” ตรงนี้แล้ว
แต่คำถามที่เราต้องตั้งคำถามกัน คือ เพราะอะไรเราถึงมีความจำเป็นจะต้อง ปิดบังรสนิยมทางเพศของตัวเองว่าเป็น เพียงแค่เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาคเลือดออกไปให้กับผู้ที่ต้องการโลหิตด้วยละ?
ความเสี่ยงโรคติดต่อใน กลุ่ม LGBTQ
ย้อนกลับไปที่ตัวกฎระเบียบแต่ดั้งเดิมก่อน สภากาชาดไทยรับกฎนี้มาจากต่างประเทศ ที่ว่าด้วย ‘ความเสี่ยง’ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีมากกว่าคนทั่วไป (ในภาษาเขียนจะเรียกว่า ‘ความชุก’) เหตุผลของการปฏิเสธการรับเลือดจากกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงของโรคติดต่ออย่างเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบบีมากกว่าประชากรทั่วไป ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงปฏิเสธการบริจาคเลือดของกลุ่มเพศหลากหลาย หรือกลุ่ม LGBTQ โดยเป็นข้อกำหนดที่ระบุไว้ว่า ‘ไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร’ (ข้อความนี้ปรากฏบนอยู่เว็บไซต์ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย)
โดยที่เมื่อก่อนเองนั้นก็ต้องยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์การตรวจเลือดในไทยนั้นยังไม่ได้รับเป็นค่านิยมที่สอดคล้องกับคนในสังคม มีหลายครั้งที่ออกข่าวประกาศว่าผู้บริจาคเลือดที่เป็นกลุ่มเพศหลากหลายนั้น บริจาคเพื่อที่จะได้ทำการตรวจเลือดไปในตัว ผ่านจดหมายที่ส่งกลับมายืนยันว่าเขา หรือเธอนั้นมีเลือดที่ปกติ หรือมีโรคอะไรแอบแฝงอยู่ หรือไม่
การตรวจเลือด และความเสี่ยงของ กลุ่ม LGBTQ
ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น หลายคนมองว่าผู้ที่ตรวจเลือดอยู่บ่อยครั้งนั้นเป็นผู้มีความเสี่ยงซึ่งในความเป็นจริงแล้วการตรวจเลือดไม่ต่างอะไรจากการตรวจสุขภาพทั่วไป เพราะเราตรวจเพื่อให้เรารับทราบสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือหากตรวจแล้วพบเจอโรคติดต่อที่แฝงอยู่ในร่างกายจริงๆ ล้วนเป็นผลดีแก่คนตรวจ เพราะยิ่งรู้เร็วยิ่งรักษา หรือประครองอาการให้ดีขึ้นได้ หรือตัวผู้ป่วยเองจะได้รับรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง และไม่ได้นำโรคดังกล่าวไปแพร่ระบาดต่อโดยไม่ได้ตั้งใจ
ที่นี้กลับมาที่คำเดิมอีกครั้ง เมื่อตัวเลขระบุว่า ‘เพศที่สาม’ มีความเสี่ยง หรือความชุกของโรคมากกว่าคนทั่วไป หากตอบตามตัวเลขแล้วนั้นเป็นเรื่องจริง ด้วยเพราะช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ที่เปราะบางกว่า หรือด้วยปัจจัยเสริมอื่น ๆ ก็ตามแต่ แต่นั้นก็ไม่ได้แปลว่าชายจริงหญิงแท้นั้นจะไม่มีความเสี่ยงในการมีโรคอย่างอื่นแอบแฝงโดยไม่แสดงอาการเลย
นำไปสู่คำถามที่ว่า เราจะมีวิธีการ หรือการคัดกรองยังไง เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเพศหลากหลายมีสิทธิ์ที่จะสามารถบริจาคเลือดได้ เพราะตัวกฎกติกานั้นก็ออกมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันเวลาผ่านไปเกือบจะสิบปีแล้ว (หรือถ้านับจากกฎระเบียบสากลจริงๆ นั้นก็เป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการตั้งสภากาชาดสากล)
แต่เราก็ยังยึดมั่นในหลักเกณฑ์เดิม ทั้งๆ ที่สภากาชาดเองก็ประกาศระบุบ่อยครั้งที่เลือดในคลังนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เลือด สุดท้ายแล้วคนที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTQ ในครั้งนี้ก็คือตัวผู้ป่วยโดยตรงที่ต้องเสียโอกาสไปเพราะการปิดโอกาสจากเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ปัญหาการขาดแคลนเลือด
สำหรับผู้ป่วยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั่วทั้งโลก ยิ่งเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด 19 นั้น ยิ่งส่งผลกระทบกับทั้งการบริจาคเลือดเลือดในคลัง ทำให้สภากาชาดสากล “ผ่อนปรน” ในเกณฑ์การรับบริจาคเลือด โดยในบางประเทศนั้นมีการกำหนดระยะเวลาในการงดการมีเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงประเทศที่ไม่ผ่อนปรนใดๆ เลยก็มีเหมือนกัน
นำมาสู่คำถามที่ว่า เราจะไม่มีหนทางในการที่จะมีวิธีการคัดกรองที่ปราศจากอคติทางเพศกับกลุ่ม LGBTQ ได้จริงๆ หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นชายหญิง หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราแล้วแต่เป็นผู้มีความเสี่ยง ต่อให้บอกว่าอัตราความเสี่ยงไม่เท่ากัน ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะเป็นข้อบ่งชี้ในการเลือกปฏิบัติ เพราะอัตราความเสี่ยง หรือความชุกของโรคน้อยกว่า ไม่ได้เท่ากับ ไม่มีเลย ดังนั้นแล้ววิธีการคัดกรองที่ได้ผล และปฏิบัติได้จริง ควรเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญของเกณฑ์ในการคัดเลือกมากกว่านั้นเอง
อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันมีวิธีการคัดกรอง HIV มากมายที่สามารถทราบผลได้แม้จะยังอยู่ในช่วงระยะเวลา ของ ‘Window period’ หรือช่วงที่ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ หรือไม่สามารถตรวจพบได้ในอดีต โดยหากเราเอาตัวเลขเข้ามาคุยกันเป็นหลักจริง ๆ ก็จะพบว่ามีอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนโดยความเสี่ยงจากการถ่ายเลือดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงเพียง 1 ใน 2 ล้านคนเท่านั้น และนั้นคือคำถามสำคัญว่าเพราะอะไรกันแน่ที่ทำให้จนถึงปัจจุบัน รสนิยมทางเพศก็ยังเป็นข้อบ่งชี้ในการบริจาค หรือไม่รับบริจาคเลือด
รสนิยมทางเพศ ความเสี่ยง และความปลอดภัยของผู้ป่วย ควรที่จะได้รับการให้ความสำคัญมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่แช่แข็งมามากกว่า 40 ปี ไม่ว่าจะเป็นใครที่มีรสนิยมทางเพศแบบใด ก็ควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการที่จะเป็นมนุษย์ที่เท่ากันกับทุกคนบนโลกนี้นั้นเอง