ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ นำเสนอกรณีศึกษาในงานประชุมวิชาการเรโทรไวรัส และการติดเชื้อฉวยโอกาส เมืองเดนเวอร์ โคโลราโด ระบุ ผู้ป่วยในนิวยอร์กเป็นผู้หญิงคนแรก และเป็นบุคคลที่สามของโลกที่หายจากการติดเชื้อ HIV หลังเข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์รูปแบบใหม่ กลายเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ สะท้อนความหวังในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี และอาจเป็นแนวทางใหม่ที่อาจช่วยให้การรักษาเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
เกือบ 38 ล้านคนทั่วโลกเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ เอชไอวี (HIV) โดยประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ของการรักษา มักใช้ยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์รุนแรง ซึ่งสามารถควบคุมไวรัสจนมีระดับต่ำไม่แพร่เชื้อได้ กรณีของหญิงวัยกลางคนมีเชื้อชาติผสมถือเป็นกรณีแรกได้รับเลือดจากสายสะดือ โดยเธอได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีในปี 2556 และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 2560
ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น เธอได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือจากผู้บริจาคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่หายาก ซึ่งให้เซลล์ภูมิคุ้มกันต้านทานเชื้อเอชไอวีตามธรรมชาติ และเลือดจากญาติของเธอ เพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML) ที่เป็นมะเร็งที่เริ่มต้นในเซลล์ที่สร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก นับตั้งแต่ปลูกถ่ายสำเร็จ ผู้หญิงรายนี้อยู่ในภาวะอาการสงบ ไร้ภาวะแทรกซ้อน และไม่พบเชื้อเอชไอวี (HIV) มา 14 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องรักษาเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัส
สำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือเรียกว่า ‘Haplo-cord transplant’ ได้รับการพัฒนาโดยทีม Weill Cornell เพื่อขยายทางเลือกในการรักษามะเร็งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในเลือดที่ไม่มีผู้บริจาค HLA ซึ่งหญิงคนดังกล่าวได้รับบริจาคมาจากผู้ให้บริจาคที่เข้ากันได้เพียงบางส่วนเท่านั้น จากนั้นจับคู่การปลูกถ่ายเซลล์เหล่านั้นกับสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นวิธีการต่างจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไขกระดูกที่จะต้องมีความเข้ากันได้ค่อนข้างสูง
กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา นำโดย ดร.อีวอนน์ ไบรสันจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) และดร.เดโบราห์ เพอร์โซจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามผู้ป่วยเอชไอวี 25 รายที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์จากเลือดจากสายสะดือเพื่อรักษามะเร็ง และอาการร้ายแรงอื่นๆ
กล่าวว่า “ในขณะที่เรากำลังตื่นเต้นมากเกี่ยวกับกรณีใหม่ของการรักษาเอชไอวีที่เป็นไปได้ แม้ว่าวิธีการรักษาเซลล์ต้นกำเนิดยังไม่ใช่กลยุทธ์ที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน แต่เราเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันที่ต้านทานต่อเอชไอวี”
การปลูกถ่ายไขกระดูกไม่ใช่กลยุทธ์ในการรักษาคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่รายงานการวิจัยดังกล่าวยืนยันว่าสามารถรักษาเอชไอวีได้ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นโดยใช้ยีนบำบัดเป็นกลยุทธ์ ซึ่งผู้บริจาคต้องมีแอนติเจนของเม็ดเลือดขาวของมนุษย์ (HLA) ที่ใกล้เคียงเพียงพอ เพื่อเพิ่มโอกาสสูงสุดที่จะปลูกถ่ายเซลล์ ผู้บริจาคจะต้องมีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่หายาก ซึ่งทำให้เกิดการต้านต่อเชื้อเอชไอวี
แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าทำไมเลือดจากสายสะดือถึงได้ผล ดร.โคเอน แวน เบเซียง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่ Weill Cornell กล่าวว่า อาจเป็นเพราะเลือดจากสายสะดือสามารถปรับตัวได้ “เราประมาณการว่ามีผู้ป่วยประมาณ 50 รายต่อปีในสหรัฐอเมริกาที่อาจได้รับประโยชน์จากขั้นตอนนี้ ความสามารถในการใช้การปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือที่จับคู่เพียงบางส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการหาผู้บริจาคที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยดังกล่าว”
ตามรายงานของเดอะนิวยอร์กไทมส์ ชาย 2 คนเคยรักษาหายขาดจากเชื้อเอชไอวี ได้แก่ ทิโมธี เรย์ บราวน์ หรือที่รู้จักในชื่อ “คนไข้เบอร์ลิน” เป็นผู้ป่วยชายที่หายจากเอชไอวีรายแรกของโลกที่ยังคงปลอดจากเชื้อไวรัสเป็นเวลา 12 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2020 ส่วนอดัม กัสติเยโย คือผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าหายขาดในปี 2019 ทั้งคู่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ที่ไขกระดูกจากการผู้บริจาค ซึ่งได้รับประสบผลข้างเคียงที่รุนแรง ทิโมธีเกือบเสียชีวิตหลังจากการปลูกถ่าย ส่วนอดัมลดน้ำหนักได้เกือบ 32 กก.
ดังนั้น ข้อมูลของทั้งสองคนจึงเป็นประโยชน์ในการคิดค้นพัฒนาการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธียีนบำบัด (Gene Therapy) อย่างไรก็ตาม การหายจากการติดเชื้อ HIV ของผู้ป่วยหญิงรายนี้ ทีมนักวิจัยไม่สามารถยืนยันได้ 100% ในขั้นนี้จึงยังอยากให้ใช้เป็นคำว่า ‘Remission’ แทนที่จะเป็น ‘Cure’ ที่แปลว่าหายขาด ซึ่งทางแพทย์จะขอติดตามผลไปสักระยะ ก่อนจะเปลี่ยนสถานะอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : khaosod, NBC, Independent, Reuters