Window Period (วินโดว์ พีเรียด) หากจะอธิบายให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ ช่วงระยะเวลาที่ผู้มีความเสี่ยง ต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี ได้รับเชื้อมา แต่ยังไม่สามารถตรวจพบได้นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าคุณมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อ คุณจะไม่สามารถตรวจเจอเชื้อ ภายใน 2 – 3 วันแรกอย่างแน่นอน ดังนั้น ความหมายของ วินโดว์ พีเรียด จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี และได้รับผลตรวจที่แม่นยำครับ
Window Period คืออะไร ?
วินโดว์ พีเรียด คือ ช่วงเวลาที่คุณอาจจะได้รับเชื้อเอชไอวีมาแล้ว ซึ่งการที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีมานั้น จะมีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี (Anti-Body) ขึ้นต่อเชื้อ ใช้ระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ถึงสามเดือน ในช่วงเวลานี้เรายังไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ เช่น หากคุณมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันวันที่ 1 ของเดือนนั้น แต่ได้ทำการตรวจเลือดวันที่ 3 ผลเลือดในครั้งนี้ จะไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่า คุณติด หรือไม่ติดเชื้อ จำเป็นต้องตรวจซ้ำอีกครั้งหลังระยะ WindowPeriod เป็นต้น
วิธีตรวจ HIV ตามระยะ Window Period
ปัจจุบัน การตรวจเอชไอวี มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแยกตามระยะของWindow Period ดังต่อไปนี้
วิธีการตรวจ HIV | ระยะฟักตัว | เวลาที่รู้ผล |
---|---|---|
Nucleic Acid Test : NAT | 5-7 วัน | 5 วัน |
Anti-HIV น้ำยา 4thGen | 14 วัน | 1 วัน |
Anti-HIV น้ำยา 3thGen | 21 วัน | 1 วัน |
ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง | 21 วัน – 3 เดือน | 1 นาที |
Window Period กี่วัน ถึงจะเชื่อถือได้
โดยส่วนใหญ่ แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำให้ตรวจเอชไอวีที่ระยะฟักตัว 1 เดือนก็สามารถพบเชื้อได้แล้ว สิ่งสำคัญ คือเราต้องรู้ก่อนว่ามีความเสี่ยงมาวันไหน บางคนลืม หรือจำไม่ได้เลยว่ามีความเสี่ยงเมื่อไหร่ อาจทำให้การตรวจเลือดได้ผลที่ไม่มีความแม่นยำ หรือไม่ใช่ผลของความเสี่ยงครั้งล่าสุดก็เป็นได้ เพราะร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีโอกาสพบเชื้อที่ช้า หรือเร็วกว่าอีกคน
เนื่องจากแต่ละคนมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่แตกต่าง หากช่วงเวลาที่รอตรวจเลือดอยู่ คุณไปมีความเสี่ยงซ้ำ ก็ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปตามความเสี่ยงล่าสุดด้วย แนะนำให้ทำการตรวจซ้ำอีกครั้งที่ระยะเวลา 3 เดือนจึงจะถือว่าผลเลือดนั้นมีความถูกต้อง
ช่วง Window Period แพร่เชื้อ HIV ได้ หรือไม่ ?
แน่นอนว่าช่วงเวลาฟักตัว ถือเป็นช่วงที่ควรระมัดระวัง เพราะว่าคุณอาจจะเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวีได้ เทียบเป็นระยะแฝงตัวของโรค และสามารถถ่ายทอดเชื้อได้มากที่สุด ทางที่ดี ควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเพิ่มในระยะนี้ เช่น งดการมีเพศสัมพันธ์ งดการเปลี่ยนคู่นอน หรือพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ จนกว่าจะได้รับการตรวจเลือดเรียบร้อยแล้ว คุณจึงจะสามารถวางแผนต่อไปได้หากพบเชื้อเอชไอวีขึ้นมาจริงๆ และหากไม่พบเชื้อ ก็จะได้ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคได้ตลอดไป
เพราะอะไร ? ทำไมต้องตรวจเลือดซ้ำ
การตรวจเอชไอวีซ้ำอีกครั้ง อ้างอิงจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ด้วยระยะฟักตัวของเชื้อ อาจทำให้ผลเลือดออกมาเป็นลบ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า ตนเองไม่ติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่อีกนัยน์หนึ่ง ผลลบที่ได้อาจอยู่ในช่วงระยะเวลาที่แอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวียังมีไม่มากพอที่จะตรวจจับเชื้อเจอดังนั้น การตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งที่ 3 เดือน จะเป็นการช่วยยืนยันผลที่แน่นอนอีกครั้งว่าคุณมีเชื้อ หรือไม่มีเชื้อเอชไอวี
ประโยชน์ของการ ตรวจเอชไอวี
การตรวจเอชไอวีมีประโยชน์หลายประการที่สำคัญต่อสุขภาพและการป้องกันโรค ดังนี้:
- การทราบสถานะสุขภาพของตนเอง: การตรวจเอชไอวีช่วยให้คุณทราบว่าคุณติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการดูแลสุขภาพทางเพศและป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
- การเริ่มต้นการรักษาเร็วขึ้น: หากตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี คุณสามารถเริ่มการรักษาได้ทันที ซึ่งการรักษาที่เร็วจะช่วยชะลอการลุกลามของเชื้อและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) รวมถึงช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
- การป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น: การทราบสถานะเอชไอวีของตนเองจะช่วยให้สามารถดำเนินมาตรการป้องกัน เช่น การใช้ถุงยางอนามัยหรือการเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส (ART) ซึ่งสามารถลดปริมาณเชื้อในเลือดลงจนถึงระดับที่ตรวจไม่พบ ซึ่งลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ความมั่นใจในความสัมพันธ์: สำหรับคู่รัก การตรวจเอชไอวีสามารถช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจในความสัมพันธ์ ลดความกังวลเกี่ยวกับการแพร่เชื้อ และเปิดโอกาสในการหารือเรื่องสุขภาพทางเพศที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
- การวางแผนชีวิตในอนาคต: การรู้ผลตรวจเอชไอวีจะช่วยให้คุณสามารถวางแผนชีวิตและสุขภาพในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่ต้องการมีครอบครัวหรือมีบุตร
- การลดอคติและการตระหนักรู้: การเข้ารับการตรวจเอชไอวีเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ยอมรับและเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น ลดความอคติและความกลัวที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวีในสังคม
สรุป หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะเข้าใจแล้วนะครับว่า เราควรไปตรวจเอชไอวีหลังจากเสี่ยงได้ภายในระยะเวลากี่วัน อยากให้ทุกคนคำนึงถึงความสำคัญในการตรวจเอชไอวีตามเวลาที่ถูกต้อง เพราะการที่เรารู้สถานะเอชไอวีของตนเองเร็วเท่าไหร่ ก็จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้เร็วเท่านั้น
ยิ่งในปัจจุบันทางภาครัฐได้เอื้ออำนวยให้คนไทยตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสุขภาพ หรือผู้ที่มีสิทธิประกันสังคมก็สามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน หรือค้นหาสถานที่ตรวจเอชไอวีใกล้บ้านคุณง่ายๆ ผ่านลิงค์นี้ love2test.org/th/clinic เมื่อการเข้าถึงการตรวจเอชไอวีง่ายขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์อีกมาก และช่วยลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยลงไปได้ครับ