หูดข้าวสุก เป็นโรคที่มาจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อโรคนี้ได้ โรคนี้สามารถพบเจอได้ทั้งในผู้ชาย และผู้หญิงทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารก, เด็ก, ผู้ใหญ่, และผู้สูงอายุ รวมถึงมักพบในวัยเจริญพันธุ์จากการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์อีกด้วย อาการที่พบบ่อยคือการเกิดตุ่มเนื้อเล็กๆ ที่คล้ายกับสิวขึ้นบริเวณผิวหนังชั้นนอก เช่น ใบหน้า, แขน, ลำตัว, หรือบริเวณอวัยวะเพศ โรคนี้ไม่สามารถเข้าสู่กระแสเลือด หรือระบบประสาทเหมือนกับโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ และมักพบในบุคคลที่มีระบบภูมิต้านทานต่ำ
หูดข้าวสุกมีอาการอย่างไร
หูดข้าวสุกจะไม่มีอาการป่วยผิดปกติจากภายในร่างกาย เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดหูดชนิดนี้ ไม่มีการเข้าสู่กระแสเลือดได้ ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือน ก่อนที่ร่างกายผู้ป่วยจะมีอาการที่ชัดเจน โดยรอยหูดข้าวสุกที่พบได้บ่อยมีลักษณะ
- เป็นตุ่มเล็ก สีแดง
- มีความเรียบเงา รูปทรงโดม
- คล้ายกับเม็ดสิวที่ไม่อักเสบ
- บางรายแผลอาจมีรอยบุ๋มตรงกลาง
สามารถพบได้ทั่วร่างกายไม่ว่าจะเป็น ใบหน้า ลำตัว ท้อง แขน ต้นขา ขา ข้อพับ และอวัยวะเพศ มีขนาดประมาณ 2 – 5 มิลลิเมตร ซึ่งหากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รอยโรคหูดข้าวสารอาจมีขนาดใหญ่ถึง 15 มิลลิเมตร
สาเหตุของโรคหูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัสมอลลัสคุม คอนทาจิโอซุม (Molluscum contagiosum virus) ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มพอกซ์ไวรัส (Poxvirus) สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสิ่งแวดล้อมที่ชื้น และอบอุ่น รวมถึงในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะมีโอกาสเกิดโรคหูดข้าวสุกได้มากกว่า ซึ่งจะเกิดรอยโรคเฉพาะบริเวณผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น โดยสาเหตุหลักๆ จากการติดหูดข้าวสุกมาจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ที่เป็นโรค ผ่านการสัมผัส หรือใช้สิ่งของที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส และการติดเชื้อเมื่อมีเพศสัมพันธ์
การวินิจฉัยหูดข้าวสุก
- แพทย์จะทำการซักถามประวัติ และวินิจฉัยเบื้องต้น
- ตรวจวินิจฉัยรอยโรคทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อด้วยการขูดผิวหนัง ด้วยวิธีการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือการเก็บตัวอย่าง Biopsy
- กรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อหูดข้าวสุกบริเวณอวัยวะเพศ แพทย์จะทำการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อป้องกันติดต่อ และลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
- แพทย์จะแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจร่วมด้วย เพื่อตรวจหาเชื้อ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากพบว่าติดโรคหูดข้าวสุก หรือโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดข้าวสุก
ผู้ที่เป็นโรคหูดข้าวสุกอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นบริเวณโดยรอบรอยตุ่ม หรือผิวหนัง เช่น
- อาการอักเสบที่เกิดจากการตุ่มหูดติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนโดยการเกา การแกะ การบีบ ทำให้เสี่ยงติดเชื้ออื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
- หากมีรอยโรคบริเวณเปลือกตา อาจส่งผลให้เกิดเยื่อตาอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคหูดข้าวสุกที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจเกิดผื่นแดงมีอาการคันร่วมด้วย
การป้องกันโรคหูดข้าวสุก
หูดข้าวสุก สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันหูดข้าวสุกได้ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการหมั่นดูแลสุขอนามัยของร่างกายอย่างถูกวิธี ดังนั้นควรป้องกันด้วยวิธีการดังนี้
- หลึกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผิวหนัง หรือรอยโรคของผู้ที่เป็นหูดข้าวสุก
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผล หรือตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- รักษาความสะอาดของร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
- ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ หรือสัมผัสกับผู้อื่น
- ตรวจสุขภาพ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
วิธีรักษา หูดข้าวสุก
วิธีรักษาหูดข้าวสุก ส่วนใหญ่อาการของหูดข้าวสุกมักหายได้เองภายใน 6-12 เดือน ซึ่งการรักษาผู้ป่วยมีหลายวิธีโดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายมากที่สุด อาจใช้เพียงวิธีเดียว หรือหลายวิธีร่วมกัน เช่น
- การใช้ยาแต้มบริเวณตุ่มหูดข้าวสุก ที่มีส่วนผสมของกรด Salicylic Acid , Potassium Hydroxide , Benzoyl Peroxide , Hydrogen Peroxide
- การรักษาหูดข้าวสุกด้วยยาชนิดรับประทาน เช่น Cimetidine
- การใช้ยาแต้มบริเวณตุ่มหูดข้าวสุกชนิดเจล หรือครีม ที่มีส่วนผสมของ Retinoids
- การจี้หูดข้าวสุกด้วยความเย็น (Cryotherapy / Cryosurgery)
- การรักษาหูดข้าวสุกด้วยเลเซอร์ (Pulsed Dye Laser Therapy)
- การรักษาหูดข้าวสุกด้วยการขูดเนื้อเยื่อ
- การรักษาหูดข้าวสุกด้วยกับการฉีดสารกระตุ้นภูมิ ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอการรักษา
หูดข้าวสุก จัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ถ้าหากเป็นแล้วไม่ควรแกะ หรือขูดหูดออกด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้หูดข้าวสุกแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้ ดังนั้นควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์