ในปีพุทธศักราช 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น เป็นอีกปีที่มีภาพยนตร์ที่นำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+ อย่างถึงเครื่องในหลายแง่มุม และหลากหลายเรื่องราว หนึ่งในภาพยนตร์น้ำดีที่จะนำมาเสนอในวันนี้ คือ เรื่อง The Whale ที่รับบทโดย เบรนแดน เฟรเซอร์ นำเสนอเรื่องราวของชายอ้วนวัยกลางคนน้ำหนักมากกว่า 200 ปอนด์ ที่อยากกินข้าวจนตายหลังจากเสียคนรักไปในช่วงบั้นปลายของชีวิต!
โดยหลักใหญ่ใจความมาจากการที่เขาค้นพบว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชายปกติทั่วไป หลังจากที่ได้แต่งงาน และมีครอบครัวรวมไปถึงได้ให้กำเนิดบุตรสาวแล้ว และแล้ววันหนึ่งคนรักชายของเขาก็จากไป ในขณะที่ตัวเองก็อยากกลับไปสานสัมพันธ์กับลูกสาวคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ เป็นพล็อตที่ดูเหมือนจะเดาทางหนังได้ง่าย แต่ก็มีเรื่องราวทับซ้อนระหว่างนั้นไม่น้อย ทั้งการยอมรับตนเอง และผู้อื่นที่อยู่รอบตัว
ตัวบทดังเดิมนั้นมาจากบทละครเวทีที่เขียนขึ้นมาโดย แซมมวล ดี. ฮันเตอร์ และได้ผู้กำกับมากฝีมือ ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ผู้กำกับน้ำดีจากเรื่อง Mother! และ Black Swan ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้นับว่าเป็นผลงานลำดับถัดมาจากเรื่องมาเธอร์ที่ได้รับคำวิจารณ์อย่างถล่มทลายของดาร์เรน
รสนิยมทางเพศ LGBTQ+
แท้จริงแล้วไม่มีคำว่าสาย ถ้าเราจะค้นพบว่าความสุขของตัวเองนั้นเป็นไปในทิศทางใด ถึงแม้จะเป็นบทภาพยนตร์แต่ชีวิตจริงของผู้เขียนบทวิจารณ์นี้ ก็ค้นพบไม่น้อยว่ามีหลายคนที่เพิ่งทราบความต้องการของตนเองหลังจากผ่านช่วงชีวิตช่วงหนึ่งมา โดยช่วงชีวิตที่ว่าก็อาจจะเป็นการแต่งงาน ซึ่งถือเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของ “ชีวิตคู่” ของคนสองคน ตามค่านิยมความมั่นคงของการเป็นครอบครัวกัน
มันเป็นเรื่องยากที่ผู้ชายคนหนึ่งที่มีบทบาทความเป็น “พ่อคน” จะสามารถยอมรับได้โดยสนิทใจว่าในวันหนึ่งเขาอาจจะไม่มีรสนิยมทางเพศแบบเดิมแล้ว เพราะหลายๆ ครั้ง ชีวิตคนเราไม่สามารถมีอิสระได้โดยปราศจากกฎเกณฑ์ และหน้าที่ รวมไปถึงสังคมที่เราอยู่ก็ไม่ใช่ทุกสังคมจะสามารถทำความเข้าใจได้ถึงการเปลี่ยนไปของเราในบางช่วงเวลา สิ่งที่เราแบกรับก็ไม่เท่ากัน บางครั้งแล้วหลายคนก็เลือกที่จะไม่ปริปากอะไรไปจนถึงวันสุดท้าย หากมองว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากับคนอื่นๆ
ทั้งนี้ การที่เรามีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างออกไปตามช่วงเวลานั้นไม่ใช่เรื่องผิด บางครั้ง บางเรื่อง ต้องใช้ระยะเวลาในการบ่มเพาะ และก้าวข้ามขถบกับความรู้สึกเดิมๆ ที่พยายามบอกว่าเราเป็นคนผิด แต่ถึงแบบนั้นแล้วเราทุกคนก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ นั้นคือ “หน้าที่” เช่น ในกรณีภาพยนตร์ดังกล่าว ชาร์ลี (พ่อในภาพยนตร์เรื่องนี้) ไม่ผิดที่จะค้นพบว่าตัวเองชอบผู้ชาย แต่การทิ้งลูกสาวของเขาไปก็ต้องนับว่าเขาบกพร่องในหน้าที่ของการเป็นพ่อคน เพราะเขาเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้จริงๆ
เราต้องไม่ลืมว่าลูกไม่ใช่คนที่เลือกว่าจะกำเนิด หรือไม่กำเนิด คนที่เป็นคนเลือกแต่แรกคือคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่ตัดสินใจร่วมกัน นั้นหมายความว่าการเกิดขึ้นมาของลูกคือความรับผิดชอบของเราที่จะต้องดูแล ให้ความรัก และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแก่คนๆ หนึ่งเพื่อเติบโตมาเป็นวงจรที่ดีของสังคมต่อไป
ในมุมกลับกัน ลูกเองก็ต้องไม่ลืมว่าพ่อแม่หลายคนก็เป็นมนุษย์เท่ากันกับพวกเขา นั้นหมายถึงว่าพ่อแม่เองก็มีสิทธิ์ที่จะทำผิดพลาดได้ตามประสามนุษย์คนหนึ่ง การให้อภัยซึ่งกัน และกันจึงเป็นเรื่องสำคัญของสถาบันครอบครัว และทุกความรักที่เราจะมอบให้แก่กัน และกันได้
ดังนั้น ผู้เขียนมองว่า เราสามารถเป็นพ่อคนโดยที่เรามีแฟนเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่งได้ หรือเราสามารถที่จะเป็นแม่คน โดยที่คนรักของเราอีกคนในอนาคตอาจจะเป็นสุภาพสตรีอีกท่านหนึ่งก็ได้ ขอเพียงแค่เราทำ “หน้าที่ของพ่อแม่” อย่างเต็มภาคภูมิ การแยกกันอยู่ แยกย้ายไปเติบโต ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างปมในใจของลูกได้เท่าความไม่รักแต่ยังต้องอยู่ด้วยกันเพราะแค่มองว่ามันเป็นหน้าที่
ตัวภาพยนตร์ The Whale เองก็นำเสนอได้อย่างดีเยี่ยม ตัวหนังนำเสนอความค้างคาใจสุดท้ายของผู้ชายที่มีความบกพร่องทางสภาพจิตใจกับลูกสาว และนางพยาบาลที่ดูแลได้อย่างเจ็บปวด ตัวละครทุกคนมีความเป็นมนุษย์ ความต้องการ และการแสดงออกที่ไม่แพ้กัน รวมไปถึงต้องบอกว่า เบรนแดน เฟรเซอร์ ยังเป็นนักแสดงชั้นนำที่มีฝีมืออย่างถึงที่สุดในการถ่ายทอดอารมณ์ และความเจ็บปวดของผู้ชายคนหนึ่งที่มีรอยร้าวในความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว พอเห็นการแสดงระดับนี้แล้วก็น่าเสียดายที่นักแสดงที่เคยเป็นดาวรุ่งคนนี้ ต้องถูกกีดกันออกไปจากวงการแสดงเพราะปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเขาจากผู้มีอำนาจในวงการ
หนัง LGBTQ+ ได้รับการตอบรับอย่างดี
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งกระแสคำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายสำนัก อาทิ Cameron Bailey ซีอีโอของงานมอบรางวัล the TIFF Tribute Award for Performance หรือ รางวัลเกียรติยศที่มอบให้กับนักแสดงที่มีผลงานยอดเยี่ยมได้ให้เหตุผลเอาไว้กับเว็บไซต์ Deadline ว่า
“แบรนแดน เฟรเซอร์ ได้มอบการแสดงที่ลึกซึ้ง ทรงพลัง และมีความแตกต่างอย่างน่าทึ่งใน The Whale อดีตชาวโตรอนโตคนนี้ เขาเป็นทั้งนักแสดงแอ็คชั่น, ตัวการ์ตูน และนักแสดงนำหนังโรแมนติก เราตื่นเต้นมากที่ได้ต้อนรับเขากลับบ้านในฐานะนักแสดงที่อยู่เบื้องหลังหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี”
ตลอดไปจนถึงเรื่องของรายได้ที่มากกว่าหกแสนเหรียญทั้งๆ ที่ฉายไม่มากโรงเท่าหนังภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น และที่น่าสนใจมากที่สุด คือ นักแสดงที่ได้รับรางวัลจากงาน the TIFF Tribute Award มักจะได้รับเสนอชื่อเข้าชิง หรือแม้แต่ได้รับรางวัลออสการ์ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ วาคีน ฟีนิกซ์ ในปี 2019 และนักแสดงชั้นนำอื่นๆ มากมาย ผู้เขียนเองก็หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีอีกครั้งของ แบรนแดน เฟรเซอร์ นักแสดงยอดฝีมือ ผู้เคยถูกทำให้หายไปจากวงการ และกลับมายืนหยัดใหม่ได้อีกครั้งอย่างสง่างามที่สุด