ความปลอดภัยของ การเทคฮอร์โมน เพศในปัจจุบัน แม้ปัญหาการยอมรับคนข้ามเพศ และเพศทางเลือกจะลดน้อยลงตามความเข้าใจที่ทำให้อคติของผู้คนค่อยๆ จางหายไป แต่ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนา และการรักษาตนเองคนข้ามเพศก็ยังคงมีค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะแต่ก่อนนั้น อคติของผู้คนเห็นว่าคนข้ามเพศ “สามารถ” ที่จะกลับมาเป็นเพศเดิมได้ การดูแลคนข้ามเพศคือการส่งเสริมให้คนทำผิดขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นชุดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในอดีต
มุมมองของคนทั่วไปต่อ การเทคฮอร์โมน
คนส่วนใหญ่มองว่าการ เทคฮอร์โมน หรือทำสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางเพศนั้นล้วนแล้วแต่เป็นในลักษณะเสริมความงามมากกว่าการดูแลรักษาด้วยวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมน ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ ความชำนาญการ และประสบการณ์ในการทำงาน ตามที่ได้มีการสำรวจประชากรหญิงข้ามเพศในประเทศไทย พบว่ามีมากกว่าสามแสนบุคคล ซึ่งเป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่น้อย (ส่วนสำหรับชายข้ามเพศ ยังเป็นปัญหาในการบันทึกจัดเก็บข้อมูลจำนวนประชากร)
ปัญหาที่พบเจอได้บ่อย
ปัญหาที่หลายๆ คนข้ามเพศต้องเจอคือการไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแล และพัฒนาตนเองได้ อีกทั้งกลุ่มหญิงข้ามเพศยังถือเป็นบุคคลกลุ่มเปราะบางต่อเชื้อ HIV จากอคติ และการเลือกปฏิบัติของคนในชุมชน จนส่งผลให้พวกเธอเหล่านั้นเลือกที่จะไม่ไปตรวจสุขภาพ หรือหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว และพลาดโอกาสในการดูแลป้องกันตนเอง นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนข้ามเพศในประเทศไทยเท่านั้น โครงการเอดส์แห่งสหนานาชาติ (UNAIDS) ก็ยังชี้ให้เห็นว่าหญิงข้ามเพศทั่วโลกก็ประสบปัญหาจากอคติ และการขาดแคลนองค์ความรู้ในการดูแลตัวเองเช่นเดียวกันกับในประเทศไทย
ปัจจุบันการให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพเป็นหลัก เช่น การปรับปรุงโครงสร้างของร่างกายให้ตรงตามสภาพจิตใจที่คนข้ามเพศมองว่าตนเองเป็น เพราะหลายคนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับเพศสภาพภายนอกของตนเองจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เทคฮอร์โมนแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ?
การเทคฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศจะช่วยให้สรีระเล็กลง ผิวหนัง และเส้นขนตามร่างกายมีขนาดเล็กมากขึ้น เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ขนาดของกล้ามเนื้อเล็กลง ส่วนในฝั่งของชายข้ามเพศนั้น การได้รับฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ร่างกายปรับตามไปด้วย เช่น ทำให้ประจำเดือนลดน้อยลง ขนดกมากขึ้น เสียงทุ้มขึ้น กล้ามเนื้อขยายมากขึ้น ซึ่งเมื่อสามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายของคนข้ามเพศได้แล้ว จิตใจย่อมได้รับการเยียวยาไปด้วยจากปัญหาการไม่พอใจลักษณะเพศโดยตรงของตัวเองที่เคยเป็นมา
เรื่องที่ควรรู้ก่อน การเทคฮอร์โมน
การเทคฮอร์โมนนั้นไม่สามารถทำได้โดยปราศจากความเข้าใจได้ เพราะฮอร์โมนส่งผลโดยตรงต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งแต่ละบุคคลเองก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปทั้งอายุ หรือปัจจัยร่วมอื่นๆ ที่อาจจะทำให้ฮอร์โมนกลายเป็นดาบสองคมขึ้นมาได้ เช่น โรคประจำตัวที่แฝงอยู่ในร่างกายของแต่ละคน และสามารถประทุขึ้นมาได้เพราะการให้ฮอร์โมน
การให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศมีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ
- เพื่อกดระดับของฮอร์โมนเพศเดิมในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ลดการแสดงออกของลักษณะทางเพศทุติยภูมิของเพศกำเนิด (Secondary Sex Characteristics)
- เพื่อให้ร่างกายมีลักษณะเป็นไปตามเพศสภาพที่ต้องการ
การเริ่มใช้ฮอร์โมนข้ามเพศควรพิจารณาหลังจากได้รับการประเมินทางจิตสังคม (Psychosocial Assessment) โดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีความเชี่ยวชาญ และมีการขอความยินยอม (Informed consent)จากผู้รับบริการก่อน ทุกครั้ง โดยการพิจารณาต้องสอดคล้องตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ได้รับการยืนยันว่ามีภาวะ Gender Dysphoria จริง
- มีความสามารถในการตัดสินใจ และให้ความยินยอมในการรักษาได้
- อายุเข้าตามเกณฑ์ของแต่ละประเทศที่กำหนด
- หากมีโรคประจำตัว หรือโรคทางจิตเวชที่อาจส่งผลต่อการให้ฮอร์โมนควรรักษาให้สามารถควบคุมตัวโรคให้ดีก่อน เพราะการให้ฮอร์โมนอาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษา และสภาพจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้รับการให้บริการได้
อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ผู้ให้บริการเองก็อาจจะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่มากกว่าแค่หลักเกณฑ์ตามตัวอักษร หากเห็นควรว่าเหมาะแก่การใช้ฮอร์โมนผู้รับบริการก็ควรได้รับสิทธิ์ในการรักษาดังกล่าว ตรงนี้เองที่แสดงให้เป็นว่าบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญการจำเป็นแค่ไหนสำหรับการให้คำแนะนำด้านการใช้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ นอกจากนั้น ช่วงอายุในการรับการเทคฮอร์โมนเอง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเหมือนกันในการนำในพิจารณา เช่น หากเกิดกับหญิงข้ามเพศ หรือชายข้ามเพศที่ยังเด็ก อยู่ในช่วงวัยรุ่นข้ามเพศ
อาจจะต้องมีการทำความเข้าใจกันทั้งระหว่างตัวผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ ผู้ปกครอง และอาจจะมีการข้อความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วย เช่น ฝั่งกุมารเวชศาสตร์ เพราะต้องคำนึงถึงผลของฮอร์โมนต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เช่นผลข้างเคียงต่อเซลล์สืบพันธุ์ การทำงานของสมอง และพฤติกรรม รวมถึงการเปลี่ยนกลับความคิดต้องการกลับไปเป็นเพศกำเนิด ซึ่งอาจพบได้ในผู้รับบริการที่อายุน้อยมากๆ
การเทคฮอร์โมน ทำได้ที่ไหน?
ปัจจุบันประเทศไทยเองมีหลายศูนย์คลินิก และการให้บริการด้านการเทคฮอร์โมนที่ถูกต้อง เช่น จากทางฟากฝั่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งสถานบริการที่เน้นย้ำถึงความปลอดภัยของการเทคฮอร์โมน และการดูแลคนข้ามเพศรวมไปถึงสถานคลินิกอื่นๆ ทั้งของภาครัฐ และเอกชน ที่พร้อมจะดูแลให้คนข้ามเพศสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนกับบุคคลอื่นในสังคม
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมที่นี่
กล่าวโดยสรุปคือ การเทคฮอร์โมนเป็นกระบวนการในการรับประทาน หรือฉีดฮอร์โมนเพศ เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของร่างกายให้สอดคล้องกับเพศที่ต้องการ มักใช้ในกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) เพื่อทำให้ร่างกายมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับเพศที่ตนระบุตัวตนมากที่สุด ฮอร์โมนเพศ คือฮอร์โมนที่ผลิตโดยต่อมไร้ท่อในร่างกาย
ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมลักษณะทางกายภาพของเพศ เช่น ขนบนใบหน้า เสียง รูปร่าง ประจำเดือน เป็นต้น ฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) มีหน้าที่ควบคุมลักษณะทางกายภาพของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) มีหน้าที่ควบคุมลักษณะทางกายภาพของเพศหญิง หากกำลังพิจารณาการเทคฮอร์โมนเพศ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำ และคำปรึกษาที่เหมาะสม