บอกลาซิฟิลิส คู่มือการรักษาโรคซิฟิลิสให้หายขาด พร้อมวิธีการดูแลตัวเอง

โรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการประกาศให้ โรคซิฟิลิสคือ โรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โรคซิฟิลิสสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง ส่วนใหญ่พบมากในวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 15 -24 ปี ซึ่งสาเหตุหลักของการติดต่อ ซิฟิลิส คือ การมีเพศสัมพันธ์

โดยอาการเริ่มต้นผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือปาก แต่ส่วนใหญ่แล้วร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส มักไม่แสดงอาการที่ชัดเจนในระยะแรก หากไม่รู้ตัว และปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลให้โรคซิฟิลิสเกิดอาการลุกลามรุนแรงมากขึ้นได้

Love2Test

โรคซิฟิลิส เกิดจากอะไร?

syphilis คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) เชื้อชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัส หรือรับเชื้อโดยตรงจากบาดแผล และรอยขีดข่วนต่างๆ บนผิวหนังรวมถึงเยื่อบุในร่างกาย ซึ่งสาเหตุหลักๆ ร่างกายจะได้รับเชื้อซิฟิลิส ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด อีกทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อซิฟิลิส ยังสามารถแพร่เชื้อสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วย ส่งผลให้ทารกเกิดการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Congenital syphilis) ทำให้ทารกอาจคลอดก่อนกำหนด มีอาการตาบอด หูหนวก ระบบประสาทผิดปกติ และเสียชีวิตในช่วงทารก หรือร้ายแรงจนอาจเสียชีวิตภายในครรภ์มารดาได้

โรคซิฟิลิส ติดต่อกันอย่างไร​​?

  • การสัมผัสกับเชื้อ เมื่อเราไปสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการทำให้เกิดโรคซิฟิลิส ก็มีโอกาสรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีทางทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ นอกจากนี้รวมถึงการจูบ หรือการทำ ออรัลเซ็กส์
  • การติดจากแม่ที่มีเชื้อสู่ลูกน้อยในครรภ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร

อาการของโรคซิฟิลิสมีทั้งหมดกี่ระยะ​

โรคซิฟิลิส คือ มีการแสดงอาการแตกต่างกันในแต่ละช่วงระยะ โดยที่ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการทับซ้อน หรือแสดงอาการสลับไม่เรียงตามระยะ ซึ่งอาการของโรคมีทั้งหมด 4 ระยะด้วยกัน คือ

  • ระยะที่ 1 Primary Stage
  • ระยะที่ 2 Secondary Stage
  • ระยะแฝง Latent Stage
  • ระยะที่ 3 Tertiary Stage

ระยะอาการของโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสระยะที่ 1 :

อาการระยะแรกของผู้ติดเชื้อซิฟิลิส โดยผู้ป่วยจะมีแผลเล็กลักษณะแข็ง สีแดง ทางการแพทย์เรียกว่า “แผลริมแข็ง” (Chancre) ขึ้นบริเวณช่องคลอด อวัยวะเพศ ใต้หนังหุ้มปลายองคชาต ทวารหนัก หรือปาก ผู้ป่วยบางรายอาจมีแผลเพียงจุดเดียว หรือหลายจุดก็ได้ โดยที่แผลดังกล่าวจะไม่มีอาการเจ็บปวด มักจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อซิฟิลิสเข้าสู่ร่างกายประมาณ 10 วัน – 3 เดือน หรือในบางรายอาจแสดงอาการเร็วกว่าเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น และหลังจากนั้นอาการต่างๆ เหล่านี้จะหายได้เองภายใน 3-6 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามเชื้อซิฟิลิสยังคงกระจายตัวอยู่ร่างกายของผู้ป่วย

โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 :

อาการที่เกิดขึ้นหลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 1-3 เดือน โดยที่ผู้ป่วยจะมีผื่น ตุ่มนูน ลักษณะคล้ายหูด ขึ้นบริเวณลำตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอวัยวะเพศ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นขึ้นบริเวณอื่นๆ ตามร่างกาย ซึ่งผื่นนี้จะไม่มีอาการคัน แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ มีอาการเจ็บคอ  อ่อนเพลีย ผมร่วง หรือต่อมน้ำเหลืองบวมผิดปกติ อาการเหล่านี้จะหายไปเอง หรือกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้ง​

  • มีอาการไข้
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • บางคนมีอาการปวดกล้ามเนื้อ​

โรคซิฟิลิสระยะแฝง หรือระยะสงบ :

โรคซิฟิลิส ระยะนี้ต่อเนื่องมาจากผู้ป่วยกว่า 30% ที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะที่ 2 อย่างถูกต้อง และเหมาะสม จนส่งผลให้เกิดเป็นระยะแฝงในที่สุด และโรคอาจดำเนินเข้าสู่ระยะที่ 3 ได้ง่ายมากขึ้น โดยระยะแฝงนี้จะยังคงมีเชื้อซิฟิลิสอยู่ภายในร่างกายเป็นระยะเวลานานหลายปี โดยจะไม่มีอาการแสดงอย่างชัดเจนแต่อย่างใด

ซิฟิลิสระยะสงบทางคลินิกนี้ น่ากลัวเพราะสามารถแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้ หากคุณมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย

โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 :

ระยะนี้เป็นระยะสุดท้ายของผู้ป่วยโรคซิฟิลิส เกิดจากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที มีมักจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 10-20 ปี ทำให้เชื้อลุกลามไปทั่วร่างกายจนส่งผลให้ร่างกายถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระยะนี้จะแสดงอาการอย่างชัดเจน เช่น สมองเสื่อม ตาบอด อัมพาต หูหนวก โรคหัวใจ ไร้สมรรถภาพทางเพศ และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

แบบนี้ไม่ติดซิฟิลิส​

  • การนั่งฝารองชักโครก หรือใช้ห้องน้ำเดียวกัน
  • การกอด การจับมือ
  • การใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน
  • การรับประทานอาหาร และใช้ภาชนะร่วมกัน
  • การว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายร่วมกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นซิฟิลิส?

คนส่วนใหญ่มักจะตรวจเจอเชื้อซิฟิลิส ก็ต่อเมื่อไปบริจาคเลือด ตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ หรือตรวจสุขภาพประจำปี ดังนั้นหากมีโอกาสก็ควรทำการตรวจซิฟิลิสสักครั้ง คนที่ควรตรวจโรคนี้ ได้แก่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่น และเพศที่สาม กลุ่มชายรักชาย หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือมีคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

​การตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิส สามารถทำได้ด้วยการตรวจหนองจากแผลในระยะที่หนึ่ง หรือทำการตรวจเลือดก็ได้ โดยแบ่งวิธีการตรวจออกเป็น 3 วิธีได้แก่

การตรวจซิฟิลิสแบบ Dark Field Exam  คือ การส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนัง น้ำเหลืองจากแผล หรือผื่นที่สงสัยว่าจะติดเชื้อซิฟิลิสในระยะแรก หรือระยะที่สอง

การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อซิฟิลิส โดยแยกเป็น

  • การเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเบื้องต้น ซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ การตรวจ VDRL หรือ RPR หลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว และเริ่มปรากฏอาการเริ่มแรก หากให้ผลบวกต้องเจาะเลือดอีก เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
  • ​การเจาะเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ FTA-ABS (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption Test) หรือ MHA-TP (Microhemagglutination-Treponema Pallidum) สำหรับการตรวจนี้ ผู้ที่เคยเป็นซิฟิลิสมาก่อน ถึงจะรักษาหายแล้ว อาจจะให้ผลบวกได้ โดยที่ไม่เป็นโรคในขณะนั้น​

การตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid Test) จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่า ผู้ตรวจมีการติดเชื้อในระบบประสาท

โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อกันได้อย่างไร

เชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคซิฟิลิส สามารถติดต่อผ่านการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งหมด 3 ทาง คือ  การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส การสัมผัสกับแผลบนร่างกายของผู้ติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง แผลริมฝีปาก แผลในปาก หรือเยื่อบุต่างๆ และสุดท้ายคือ การติดเชื้อจากแม่ที่มีเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ ซึ่งโรคซิฟิลิสนั้นไม่สามารถติดต่อผ่านการใช้ของใช้ส่วนตัว ใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว การใกล้ชิด การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการสัมผัสสิ่งต่างๆร่วมกันได้

โรคซิฟิลิส กับเด็กน้อยแรกเกิด

เด็กน้อยแรกเกิด มีโอกาสติดโรคซิฟิลิสจากคุณแม่ที่มีเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ได้ เราจะเรียกว่า “การติดโรคซิฟิลิสโดยกำเนิด” กรณีนี้เกิดขึ้น เพราะคุณแม่ไม่ได้รับการตรวจเลือดคัดกรอง หรือไม่ได้ปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการมีบุตรล่วงหน้า อาจจะไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ หรือติดเชื้อจากสามีก็เป็นได้

โรคซิฟิลิสที่เกิดกับเด็กแรกเกิดนี้จะส่งผลคุณแม่มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด ทารกน้อยอาจเสียชีวิตในครรภ์ หรือคลอดมาแล้วมีโอกาสเสียชีวิตภายหลังได้ หากเด็กแรกเกิดคลอดก่อนกำหนดยังส่งผลให้เด็กมีอาการหูหนวก ตาบอด หรือมีความผิดปกติทางระบบประสาท ถึงแม้จะสามารถตรวจพบ และรักษาได้ทันที แต่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนักถึงผลที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตลูกน้อย ถ้าไม่รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสก่อนมีบุตร

การรักษาโรคซิฟิลิส

ปัจจุบันโรคซิฟิลิสสามารถใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคซิฟิลิสมากที่สุด โดยที่แพทย์จะเลือกใช้ขนาด และปริมาณของยาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย ด้วยการฉีดยาเป็นระยะเวลาติดต่อกันเพื่อให้ตัวยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 : ใช้ยา Benzathine penicillin G ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ครั้งโดยใช้ขนาดยา 2.4 ล้านยูนิต
  • ผู้ป่วยระยะแฝง และ ระยะที่ 3 : ใช้ยา Benzathine penicillin G ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 3 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยใช้ขนาดยา 2.4 ล้านยูนิต
  • กรณีโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง : ใช้ยา Benzathine penicillin G โดยใช้ขนาดยา 3-4 ล้านยูนิต ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10-14 วัน หรือใช้ยา Procaine Penicillin เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง โดยใช้ขนาด 2.4 ล้านยูนิต ควบคู่กับการทานยา Probenecid วันละ 4 ครั้ง
  • กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาเพนนิซิลิน : ใช้ยาอื่นๆ รับประทานทดแทน เช่น อีริโทรมัยซิน โดยต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง 1 เดือน

กรณีที่ป่วยซิฟิลิสแต่กำเนิด : ใช้ยา Benzathine penicillin G โดยใช้ขนาดยา 50,000 ยูนิตต่อกิโลกรัม IV ทุก 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ หรือ ทุก 8 ชั่วโมง ติดต่อกัน 10-14 วัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง โรคซิฟิลิส กับเอชไอวี

หลายคนคงมีความกังวลว่า โรค ซิฟิลิส คือ อะไรเหมือนกับเอดส์ หรือไม่? ความจริงแล้วสองโรคนี้แตกต่างกัน แต่สามารถติดโรคได้ด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันนั่นก็คือการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซิฟิลิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เอชไอวียังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่การทานยาต้านไวรัสอย่างมีวินัยจะช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่เข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน และเจ็บป่วยได้ในอนาคต เช่นเดียวกับซิฟิลิส หากไม่รีบทำการรักษาก็อาจเกิดอาการลุกลามได้

โรคติดต่อ ข้อเท็จจริง
ความเสี่ยง ผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส เสี่ยงต่อการติดไวรัสเอชไอวี มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นโรคถึง 2-5 เท่า
สาเหตุ การติดต่อผ่านทางแผลริมแข็งที่อาจมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ เป็นช่องทางเข้าของไวรัสเอชไอวี
โรคแทรกซ้อน เชื้อซิฟิลิสส่งผลต่อหัวใจและสมอง เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคเส้นเลือดแดงโป่งพอง โรคเส้นเลือดแดงใหญ่อักเสบ โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคเยื่อหุ้มไขสันหลังอักเสบ หูหนวก ตาบอด

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับ โรคซิฟิลิส

วิธีป้องกัน โรคซิฟิลิส

หลักการป้องกันโรคซิฟิลิสสามารถใช้วิธีเดียวกับการป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ คือ การลดความเสี่ยงในการรับเชื้อจากผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิส ดังต่อไปนี้

  1. การงดเว้นมีเพศสัมพันธ์: การละเว้นกิจกรรมทางเพศ หรือการมีความสัมพันธ์กับคู่สมรสเพียงคนเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่ติดเชื้อซิฟิลิส จะช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสโรค แต่ในความเป็นจริงแล้ววิธีค่อนข้างทำได้ยาก
  2. การใช้ถุงยางอนามัย: สวมถุงยางอนามัยที่ทำจากยาง หรือโพลียูรีเทนอย่างสม่ำเสมอ และถูกต้องในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ สามารถลดความเสี่ยงของโรคซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อย่างมาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
  3. การตรวจคัดกรองเป็นประจำ: ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจเลือดคัดกรองซิฟิลิสเป็นประจำ รวมถึงการตรวจ HIV ด้วย การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
  4. การรักษาเชิงป้องกันสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง: ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงบางกลุ่ม เช่น ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย และบุคคลที่ติดเชื้อ HIV แพทย์อาจแนะนำการรักษาเชิงป้องกันสำหรับซิฟิลิส ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณปกติ
  5. การสื่อสาร และการศึกษา: การสื่อสารอย่างเปิดเผย และซื่อสัตย์กับคู่นอนเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ สถานะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความเสี่ยงสามารถช่วยในการตัดสินใจโดยมีข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับการปฏิบัติทางเพศอย่างปลอดภัย
  6. สุขศึกษา และการตระหนักรู้: การรณรงค์ด้านสาธารณสุข และโปรแกรมการศึกษาสามารถเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับซิฟิลิส วิธีการแพร่เชื้อ และการป้องกัน ความรู้ช่วยให้บุคคลสามารถใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสม
  7. การฉีดวัคซีน: ถึงแม้ว่ายังไม่มีวัคซีนสำหรับโรคซิฟิลิส อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเพิ่มโรคได้
  8. การวางแผนก่อนมีบุตร: หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสก่อนคลอด เพื่อตรวจหา และรักษาโรคติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังทารกในระหว่างการคลอดบุตร
  9. ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น: ซิฟิลิสสามารถส่งต่อเชื้อผ่านทางเลือดได้ในกรณีที่ใช้เข็มฉีดยาเข้าเส้นก็มีความเสี่ยงสูงมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์เสียอีก เพราะฉะนั้นหากคุณยังไม่ได้บำบัดขอให้ใช้เข็มฉีดยาส่วนตัวจะดีกว่า

รักษา โรคซิฟิลิส ที่ไหน

จังหวัด สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม เอกชน คลินิก
กรุงเทพฯ รักษาฟรี รักษาฟรี ชำระเอง ชำระเอง
ต่างจังหวัด รักษาฟรี รักษาฟรี ชำระเอง ชำระเอง

กล่าวโดยสรุป ซิฟิลิสคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประเภทที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Treponema Pallidum โดยหลักแล้ว โรคซิฟิลิส ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก และช่องปาก หรือการทำออรัลเซ็กส์ (Oral Sex) การติดเชื้อ ซิฟิลิส อาการ จะดำเนินไปหลายระยะ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้มีแผลบริเวณที่ติดเชื้อ มีผื่น มีไข้ และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จนเข้าสู่ ซิฟิลิส ระยะแฝง นั่นคือไม่มีอาการปรากฏให้เห็น และระดับสุดท้ายที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่ออวัยวะ และระบบต่างๆ ภายในร่างกาย

ซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อจากมารดาที่ติดเชื้อไปยังทารกได้ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือการคลอดบุตร ซึ่งนำไปสู่ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด การป้องกันเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ และถูกต้อง การมีคู่นอนคนเดียว และการตรวจกามโรคเป็นประจำ ความตระหนักรู้ของคนทุกคน และการตรวจคัดกรองคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตร องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ช่วยในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคซิฟิลิสได้ในที่สุดครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า