สร้าง Safe Zone ให้ชีวิต พื้นที่ปลอดภัย ทางกาย ทางใจ ที่ทุกคนต้องการ

พื้นที่ปลอดภัย safe zone

พื้นที่ปลอดภัย กลายมาเป็นอีกหนึ่งคำที่ติดเทรนด์ความสนใจของผู้คนในยุค 2022 อีกครั้งโดยเฉพาะในแวดวงของประชากรโลก ในต่างประเทศหลายประเทศให้ความสำคัญกับ ‘เซฟโซน’ ในระดับที่มีการจัดตั้งหลักวิชาการเรียนการสอนว่าด้วยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทั้งตนเอง และสังคม

สำหรับคำว่าพื้นที่ปลอดภัยนั้นในไทยเองก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน จากการที่อินฟลูเร้นเซอร์เพศทางเลือกแบบเขื่อน ภัทรดนัย ได้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคน โดยตัวหมวยเขื่อนเองก็ได้นำประสบการณ์ของตัวเองออกมาขยาย และเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงให้กับเพศทางเลือกในไทยจากสิ่งที่ตัวเองประสบมาทั้งชีวิตจริง และในโลกออนไลน์

พื้นที่ปลอดภัย คืออะไร?

เราสามารถนิยามได้ว่าพื้นที่ปลอดภัย คือ พื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยจากสายตาคนภายนอก พื้นที่ที่ปราศจากการกล่าวโทษต่อว่าตัวเอง และเป็นพื้นที่ๆ เราสามารถรับฟังตัวเอง และเป็นตัวเองได้โดยปราศจากการตัดสินจากคนอื่น

พื้นที่ปลอดภัย สำคัญอย่างไรกับเพศทางเลือก?

“การเปิดเผยตัวเองมันต้องแลกบางอย่างในชีวิตเขา ถ้าเขาเปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBT ต้องพบกับแรงต้าน คนไม่สนับสนุน หรือคนที่ไม่ชอบอัตลักษณ์ทางเพศแบบนี้ มันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบเพราะเป็นกะเทย หรือเป็นเกย์ ก็มีผลต่อสภาพ บางที่ก็มีผลต่อการประเมิน ขั้นเงินเดือน ประเมินตำแหน่งหน้าที่การงาน” ครูเคท คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ให้สัมภาษณ์ผ่าน the matter (thematter.co/social/lgbt-inequality-with-krukath/48901)

อ้างอิงจากโควทดังกล่าวจะพบว่าสังคมไทยให้การยอมรับ LGBT อย่างมีเงื่อนไข เพราะพวกเขาขาดความเข้าใจทั้งอัตลักษณ์ทางเพศ ที่หมายถึงการรับรู้ว่าตนเองต้องการเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิง หรือต้องให้เพศสภาพภายนอกของตัวเองข้ามไปเป็นอีกเพศก็สามารถเป็นไปได้ และไม่เข้าใจเพศวิถี ที่หมายถึงรสนิยมความชอบ ความพึ่งพอใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น

โดยที่ทั้งอัตลักษณ์ทางเพศสามารถสอดคล้องกับเพศวิถี หรือแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็เป็นไปได้ เช่น เกิดมาเป็นผู้ชายทางเพศสภาพ แต่มีความรู้สึกสนใจเพศเดียวกัน หรือเกิดมาเป็นผู้ชายตามเพศสภาพ แต่ต้องการเปลี่ยนไปเป็นเพศสภาพแบบผู้หญิง โดยที่ยังมีความสนใจเพศตรงข้าม ทั้งหมดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ซ้ำร้ายไปมากกว่านั้น บางครั้งความไม่เข้าใจอาจจะประกอบขึ้นจากคนในครอบครัวของเราเอง

ทำให้พื้นที่ปลอดภัยในสังคมไทยของเพศทางเลือกเองก็ดูจะน้อยลงเรื่อย ๆ โดยสังเกตได้จากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ LGBTQNA+ ที่ถูกกระทำจากครอบครัวของพวกเขา เพราะพ่อแม่หลายคนคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็น Mini me ของตัวเอง จนสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นการทำร้ายกันทั้งหมดทั้งทางตรง และทางอ้อม

เมื่อสังคม และครอบครัวไม่เข้าใจสิ่งที่เพศทางเลือกเลือกที่จะเป็น ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนจะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองได้ เราสามารถสบายใจได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องประกอบสร้างความรู้สึกปลอดภัยจากใคร เพราะตัวเราเองเป็นเซฟโซนให้กับตัวเองได้ หากจะให้สรุปแล้ว โดยเนื้อแท้ของพื้นที่ปลอดภัยต้องประกอบไปด้วย 3 สิ่งคือ

  1. การเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในตัวตน มุมมอง และเนื้อแท้ของตัวเราเอง
  2. การไม่ตัดสิน ไม่ให้น้ำหนักว่าสิ่งที่ทำนั้นควรค่า หรือไม่ควรค่าอย่างไร เพราะเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคลซึ่งบุคคลนั้นๆ ย่อมต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเองแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
  3. การรับฟัง เพราะหลายครั้งแล้วเรามีผู้พูดแต่ไม่มีผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตเป็นได้ทั้งการเป็นผู้พูดที่ดี และผู้ฟังที่ดีไปพร้อมกันได้

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ยากในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับตัวเองด้วยตัวเราเอง แต่

ทำไมหลายคนถึงไม่สามารถมีเซฟโซนเป็นของตัวเองได้?

เพราะสังคมของมนุษย์เราไม่ได้ประกอบขึ้นโดยมีเพียงแค่ตัวเราเองเป็นเอกเทศจากทุกสิ่ง เรามีผู้คนที่ห้อมล้อมเราตั้งแต่เกิดอย่างครอบครัว มีผู้คนที่มีมุมมองที่แตกต่าง และมองเราต่างออกไปจากความเข้าใจของตัวเราเองอย่างคนในสังคมชั้นอื่นๆ เช่น เพื่อนที่โรงเรียน คนที่มหาวิทยาลัย หัวหน้าที่ทำงาน หรือแม้แต่คนแปลกหน้าทางอินเตอร์เน็ตที่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร

ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับฟัง ไม่ใช่ทุกคนที่จะไม่ตัดสิน และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจผู้อื่น หรือเขาอาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวเขาเองด้วยซ้ำ ดังนั้นแล้วปัญหาในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมันเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจของเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ความเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ก็มีไม่เหมือนกัน

พื้นที่ปลอดภัย ต้องรอใครสร้างไหม หรือเราก็สามารถเป็น safe zone ได้เอง

การแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนจะยากที่สุดนี้ เริ่มแรกเราอาจจะเริ่มต้นด้วยการเข้าใจในความไม่เข้าใจของพวกเขา เพราะเมื่อเราเข้าใจแล้วว่าปัญหาของเขาคือการเขาไม่เข้าใจความหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าโลกไม่ได้มีแค่สีขาว หรือสีดำ เราก็จะไม่ได้ให้คุณค่าอะไรกับน้ำหนักของความเกลียดชังที่ตื้นเขินพวกนั้น

การโอบรับความหลากหลายของผู้คนเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม เมื่อเราเข้าใจตนเองว่าเราเป็นเราที่ตรงไหน เราต้องการอะไร และเรากำลังทำอะไร เราเข้าใจครอบครัวไม่ว่าครอบครัวจะเข้าใจเราไปในรูปแบบไหน แต่ถ้าหากสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้รุกล้ำ หรือละเมิดที่เราเป็นเรา ก็ไม่น่าเป็นปัญหาแต่อย่างไรเพราะเราสามารถยอมรับตัวเองได้แล้ว ตลอดไปจนถึงสังคมที่หลายครั้งแล้วเขาไม่ได้สนใจเรามากขนาดนั้น เหมือนเวลาคุณขึ้นรถสาธารณะแล้วเจอคนแปลกหน้ามากมายแต่ถามว่าคุณสนใจคนทุกคนที่คุณเจอ หรือไม่ ก็ย่อมไม่ใช่ ให้คุณค่ากับคนที่ไม่เข้าใจเราน้อยลง ให้คุณค่ากับตัวเราเองที่เข้าใจทุกอย่างที่เราเป็นมากขึ้น เมื่อนั้น พื้นที่ปลอดภัย ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง