โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) (1)

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคฝีดาษลิงมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก โรคฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือกับโรคฝีดาษลิง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคฝีดาษลิง คืออะไร ?

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือ ไข้ทรพิษลิง เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง” โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1 – 10 % ทั้งนี้การเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ

  • สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1 %
  • สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10 %

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการเป็นอย่างไร ?

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการเป็นอย่างไร

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว ประมาณ 7 – 14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1 – 3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ โดยสรุป อาการจะเป็นดังนี้

  • มีไข้ ไข้สูง (สามารถสังเกตุได้)
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามลำตัว
  • ปวดกระบอกตา เบ้าตา
  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย อันนี้เป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ของโรคไข้ฝีดาษลิง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ เป็นต้น หรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคไข้สุกใส (Chickenpox) ที่เป็นไข้ออกผื่นลักษณะเดียวกัน
  • มีผื่น ตุ่มหนอง หลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3 วัน จะเข้าสู่ช่วงระยะออกผื่น โดยลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินเวลานานประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดง ๆ กลม ๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และ กลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ด จะทำเกิดรอยโรคหรือรอยแผลเป็นได้

หากคุณมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

การตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง

การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสจีนัส Orthopoxvirus ด้วยเทคนิค Real – time PCR และตรวจจำแนกไวรัสฝีดาษลิงด้วยการทดสอบลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อ 

สถานการณ์ ฝีดาษลิง รอบโลก

WHO วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก พบผู้ป่วยยืนยันแล้วมากกว่า 16,000 คนใน 75 ประเทศเป็นอย่างน้อย องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุถึงการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้นว่า ผู้ติดเชื้อใหญ่อยู่ในกลุ่ม ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แนะนำให้กลุ่ม ชายรักชาย ลดจำนวนคู่นอนรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหน้าใหม่ เพื่อจำกัดการสัมผัสเชื้อ โดย ญี่ปุ่นก็พบผู้ป่วยรายที่ 2 ในโตเกียว มีประวัติกลับจากตปท. นอกจากนี้ ออสเตรเลียประกาศฝีดาษลิงเป็น “อุบัติการณ์โรคติดต่อ” สำคัญระดับชาติ

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ติดต่อได้อย่างไร ?

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ติดต่อได้อย่างไร

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน 

สามารถเกิดได้จากการ สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรืออาจอาจติดเชื้อจากการโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงไม่สุก 

การแพร่เชื้อจากคนสู่คน 

สามารถติดต่อได้จาก การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ทางปาก ทางตา หรือทางจมูก

การรักษาโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงที่มีอาการรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคได้เอง ในระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว จะมีการรักษาโดยใช้ยา Tecovirimat, Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคไข้ทรพิษ องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

การป้องกัน โรคฝีดาษลิง

การป้องกัน โรคฝีดาษลิง
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ ที่ปรุงไม่สุก
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ กับคนที่ไม่รู้จัก
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
  • ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ต่อการแพร่ระบาด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเฉพาะลิง
  • กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศ ที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการ หากมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

บทความที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง

อ้างอิงและขอบคุณเนื้อหา

  • ฝีดาษลิง โรคจากลิงสู่มนุษย์ ที่ต้องระวัง https://www.praram9.com/monkeypox-virus/
  • ทำความรู้จัก “ฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร? https://www.sikarin.com/doctor-articles/monkeypox
  • ฝีดาษลิง พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต – อาการอย่างไร? ติดต่อทางไหน? https://www.sikarin.com/health/โรคฝีดาษลิง-พบไม่บ่อย-แต

โรคฝีดาษลิง ยังคงระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ แม้จะเป็นโรคที่มีโอกาสติดต่อน้อย แต่ก็ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่จำเพาะกับโรคฝีดาษลิง ดังนั้นควรระมัดระวัง และป้องกันตัวเองอยู่เสมอ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า