ทำความรู้จักโรคฝีดาษลิง จากสาเหตุ อาการ สู่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

โรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคฝีดาษลิงมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก โรคฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือกับโรคฝีดาษลิง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โรคฝีดาษลิง คืออะไร ?

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือ ไข้ทรพิษลิง เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง” โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1 – 10 % ทั้งนี้การเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ

  • สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1 %
  • สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10 %

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) อาการเป็นอย่างไร ?

เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว ประมาณ 7 – 14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1 – 3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้า และลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน จะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ โดยสรุป อาการจะเป็นดังนี้

  • มีไข้ ไข้สูง (สามารถสังเกตุได้)
  • ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามลำตัว
  • ปวดกระบอกตา เบ้าตา
  • ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย อันนี้เป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ของโรคไข้ฝีดาษลิง เช่น คอ ไหปลาร้า ข้อศอก รักแร้ เป็นต้น หรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจ จากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ ได้เช่นกัน ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตนี้จะเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคไข้สุกใส (Chickenpox) ที่เป็นไข้ออกผื่นลักษณะเดียวกัน
  • มีผื่น ตุ่มหนอง หลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3 วัน จะเข้าสู่ช่วงระยะออกผื่น โดยลักษณะผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินเวลานานประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผื่นมักจะขึ้นที่บริเวณใบหน้า แขน และขา มากกว่าที่ลำตัว โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจาก จุดแดงๆ กลมๆ หลังจากนั้นผื่นจะกลายเป็น ตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง และกลายเป็นสะเก็ด ในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง จะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ ผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้หลังจากผื่นตกสะเก็ด จะทำเกิดรอยโรค หรือรอยแผลเป็นได้

หากคุณมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

การตรวจวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง

การตรวจสารพันธุกรรมไวรัสจีนัส Orthopoxvirus ด้วยเทคนิค Real – time PCR และตรวจจำแนกไวรัสฝีดาษลิงด้วยการทดสอบลำดับสารพันธุกรรมของเชื้อ

สถานการณ์ ฝีดาษลิง รอบโลก

WHO วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้การระบาดของโรคฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก พบผู้ป่วยยืนยันแล้วมากกว่า 16,000 คนใน 75 ประเทศเป็นอย่างน้อย องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุถึงการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้นว่า ผู้ติดเชื้อใหญ่อยู่ในกลุ่ม ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แนะนำให้กลุ่ม ชายรักชาย ลดจำนวนคู่นอนรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหน้าใหม่ เพื่อจำกัดการสัมผัสเชื้อ โดย ญี่ปุ่นก็พบผู้ป่วยรายที่ 2 ในโตเกียว มีประวัติกลับจากตปท. นอกจากนี้ ออสเตรเลียประกาศฝีดาษลิงเป็น “อุบัติการณ์โรคติดต่อ” สำคัญระดับชาติ

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ติดต่อได้อย่างไร ?

การติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

สามารถเกิดได้จากการ สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรืออาจอาจติดเชื้อจากการโดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงไม่สุก

การแพร่เชื้อจากคนสู่คน

สามารถติดต่อได้จาก การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลที่ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ทางปาก ทางตา หรือทางจมูก

การรักษาโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่จำเพาะสำหรับโรคฝีดาษลิง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงที่มีอาการรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคได้เอง ในระยะเวลาประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว จะมีการรักษาโดยใช้ยา Tecovirimat, Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคไข้ทรพิษ องค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

การป้องกัน โรคฝีดาษลิง

  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ ที่ปรุงไม่สุก
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ กับคนที่ไม่รู้จัก
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
  • ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ต่อการแพร่ระบาด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำใส จากผู้มีประวัติเสี่ยง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด น้ำเหลืองของสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเฉพาะลิง
  • กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศ ที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ต้องทำการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการ หากมีอาการเจ็บป่วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

อ้างอิง และขอบคุณเนื้อหา

  • ฝีดาษลิง โรคจากลิงสู่มนุษย์ ที่ต้องระวัง praram9.com/monkeypox-virus/
  • ทำความรู้จัก “ฝีดาษลิง” (Monkeypox) แพร่เชื้อ-ติดต่ออย่างไร? sikarin.com/doctor-articles/monkeypox
  • ฝีดาษลิง พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต – อาการอย่างไร? ติดต่อทางไหน? sikarin.com/health/โรคฝีดาษลิง-พบไม่บ่อย-แต

โรคฝีดาษลิง ยังคงระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศ แม้จะเป็นโรคที่มีโอกาสติดต่อน้อย แต่ก็ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่จำเพาะกับโรคฝีดาษลิง ดังนั้นควรระมัดระวัง และป้องกันตัวเองอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า