ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี เรื้อรังมากถึง 71 ล้านคน จากสถิติพบผู้ป่วยเรื้อรังในประเทศไทย ประมาณ 2 ล้านคน และอีกประมาณ 7 แสนคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ 100% ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ง่าย ทว่าผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนได้รับเชื้อ เนื่องจากโรคไม่แสดงอาการที่ชัดเจนในช่วงเริ่มต้น และจะทราบว่าตนมีอาการผิดปกติเมื่อตับเริ่มเสื่อมสภาพลง
การติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบซี
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสจะอาศัยอยู่ในบริเวณตับ และทำการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในระยะแรกผู้ป่วยจะเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน แต่จะไม่แสดงอาการของโรคที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจลุกลามเข้าสู่ระยะตับแข็งได้ในที่สุด
ชนิดของไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV) มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ หลักเรียกว่า genotype และสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้คือ 1a, 1b, 1c; 2a, 2b, 2c; 3a, 3b; 4a, 5a, และ 6a โดยที่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีแต่ละ genotype จะกระจายตัวต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งชนิดที่พบมากในประเทศไทยคือ 1 และ 3 ส่งผลให้มีแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีแต่ละชนิดต่างกัน เพื่อให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี
ไวรัสตับอักเสบซี ระยะเฉียบพลัน
ปกติผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในระยะนี้มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน อาจมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะแสดงอาการเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในผู้ป่วยบางราย สามารถหายได้เอง และในผู้ป่วยบางรายที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอจะส่งผลให้ภายในร่างกายยังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหลงเหลืออยู่เป็นเวลาประมาณ 10-30 ปี และเชื้อไวรัสจะพัฒนาเข้าสู่ระยะเรื้อรังได้ โดยผู้ป่วยบางรายในระยะเฉียบพลันอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว
- มีไข้สูง
- มีอาการปวดบริเวณช่องท้อง
- มีอาการเบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคดีซ่าน เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปัสสาวะสีเข้ม
- น้ำหนักตัวลด
- ปวดเมื่อยตามข้อ และกล้ามเนื้อ
ไวรัสตับอักเสบซี ระยะเรื้อรัง
ระยะนี้จะแสดงอาการที่ชัดเจนก็ต่อเมื่อตับถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคตับที่รุนแรง โดยผู้ป่วยในระยะเรื้อรังจะมีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว
- มีอาการปวดข้อต่อ และปวดกล้ามเนื้อ
- ขามีอาการบวมผิดปกติ
- ปวดช่องท้อง
- น้ำหนักลด
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- มีรอยช้ำบริเวณร่างกาย
- มีภาวะเลือดออกง่าย
- มีอารมณ์ที่แปรปรวน
การติดต่อของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- การสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- การใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน (ผู้ที่ติดยาเสพติด)
- ผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอวี และโรคเอดส์
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวม ถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง
- การรับเลือดจากอุปกรณ์การแพทย์ที่อาจติดเชื้อ
- ผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นตอนการฟอกเลือดด้วยไตเทียม
- ผู้ที่มีผลตรวจเกี่ยวกับตับอักเสบ
การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี
เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติคล้ายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจ เลือดเพื่อวิเคราะห์การทำงานของตับว่ามีการอักเสบ หรือไม่ การตรวจ anti-HCV เพื่อนับปริมาณไวรัสในเลือด การตรวจหาสายพันธ์ุของไวรัสตับอักเสบซี การตรวจแบบ Polymerase Chain Reaction หรือ PCR การตรวจการทำงานของตับ AST และ ALT หรือในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้วิธีการเจาะชิ้นเนื้อตับ
การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
โรคไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัสตับอักเสบซีที่ตรวจพบ โดยที่แพทย์จะพิจารณาการใช้ยา และการรักษาตามภาวะของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย มีทั้งการฉีดยาร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัส หากผลตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสในระยะเฉียบพลัน แพทย์จะเฝ้าดูอาการ และประเมินว่าไม่มีความจำเป็นต้องรับการรักษา และในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อในระยะเรื้อรัง แพทย์จะทำการรักษาโดยคำนึงถึงความรุนแรงของอาการรวมถึงภาวะร่างกายของผู้ป่วยรายนั้นๆ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบซี
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังต่อเนื่องนานหลายปี อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาตั้งแต่ 20-30 ปี ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอาการตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นอาการที่ตับถูกทำลายจนทำงานผิดปกติ
- กรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งตับ (Liver Cancer)
- หากผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งอาจลุกลามจนมีถึงขั้นรุนแรงทำให้ตับวาย (Liver Failure)
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี
สำหรับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติทั่วไป ลดความวิตกกังวล หรือความเครียด ทั้งนี้ต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ หรือการติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มเติม งดรับประทานอาหาร และยาที่เป็นอันตรายต่อตับ และที่สำคัญผู้ป่วยต้องเข้าพบแพทย์ตามเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกันโรค ไวรัสตับอักเสบซี
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม หรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยสวมถุง
- สวมถุงมือเมื่อสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่ง
- หลีกเลี่ยงการสัก หรือเจาะหูในที่ ที่ไม่น่าเชื่อถือ
- ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซีเป็นประจำ
ไวรัสตับอักเสบซีหากเป็นแล้ว ไม่ได้รับการรักษา ประมาณ 75 – 85% ของผู้ป่วยจะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้ เพราะโรคนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นได้ชัด ดังนั้น หากสงสัยว่าตนเองอาจได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ