โรคกลากบริเวณขาหนีบ (Tinea cruris) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โรคสังคัง” เป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ลักษณะคล้ายกับโรคกลากที่ทำให้เกิดผื่นสีแดงและคันในบริเวณที่มีความอบอุ่นและชื้นของร่างกาย อาจมีรูปร่างเหมือนวงแหวนและทำให้เกิดผื่นคัน แสบ หรือร้อนในบริเวณขาหนีบ ด้านในของต้นขา และร่องก้น (บริเวณรอยแยกของสะโพก) โรคสังคังได้รับชื่อนี้เนื่องจากพบได้บ่อยในนักกีฬา และยังพบได้ในผู้ที่มีเหงื่อออกมากหรือมีน้ำหนักตัวเกิน แม้จะทำให้รู้สึกไม่สบายและรบกวน แต่โรคสังคังมักจะไม่ร้ายแรง การรักษาอาจประกอบไปด้วยการรักษาความสะอาดและความแห้งของบริเวณขาหนีบ และทายาต้านเชื้อราบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ
สาเหตุของโรคสังคัง
โรคสังคัง (กลากบริเวณขาหนีบ) เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ โดยเฉพาะชนิด Trichophyton rubrum และ Epidermophyton floccosum การแพร่กระจายของเชื้อรามายังบริเวณขาหนีบมักเกิดจากเชื้อที่มาจากเท้า (กลากที่เท้า) หรือเล็บ (กลากที่เล็บ) ผ่านการเกา หรือการใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าปูที่นอนที่มีเชื้อปนเปื้อน
การแพร่กระจายของ โรคสังคัง
โรคสังคังมักแพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนังระหว่างคนต่อคน หรือการสัมผัสกับพื้นผิวที่ติดเชื้อ สามารถติดเชื้อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ หรือการใช้ผ้าขนหนูหรือเสื้อผ้าร่วมกับผู้ที่มีเชื้อ
ในบางกรณี การติดเชื้อสังคังอาจเกิดขึ้นได้หากมีเชื้อราที่เท้า (กลากที่เท้า) การแพร่กระจายเชื้อราสามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสบริเวณขาหนีบหลังจากสัมผัสกับเท้าที่ติดเชื้อ หรือการแพร่เชื้อจากเท้ามายังขาหนีบผ่านเสื้อผ้า เมื่อต้องแต่งตัว ควรใส่ถุงเท้าก่อนสวมกางเกงชั้นในเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากเท้ามายังขาหนีบ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคสังคัง
หากคุณมีปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดโรคสังคัง
- เป็นเพศชาย
- อยู่ในช่วงวัยรุ่น
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน ซึ่งเพิ่มจำนวนรอยพับของผิวหนัง เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคสังคังมักเติบโตได้ดีในบริเวณรอยพับผิวหนังที่มีเหงื่อ
- มีแนวโน้มที่จะมีเหงื่อออกมาก ซึ่งเพิ่มความชื้นของผิวหนังและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อรา
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่เต็มที่ เนื่องจากภาวะสุขภาพบางอย่างหรือการรักษา ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อรา เช่นโรคสังคัง
- ใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นหรือชุดชั้นในที่แนบเนื้อ
- ใส่ชุดว่ายน้ำเปียกเป็นเวลานาน
- มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคสังคัง
อาการของ โรคสังคัง
- อาการคันที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ และมีอาการคันเรื้อรัง
- ผื่นที่ปรากฏเป็นบริเวณสีแดง ชัดเจน มีลักษณะเป็นเกล็ด มักมีรูปร่างเป็นวงแหวน
- อาการแสบร้อน
- บางครั้งอาจมีตุ่มพองตามขอบของผื่น
- ผิวหนังลอกเป็นขุย
- สีผิวบริเวณที่ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงไป
ผื่นจากโรคสังคังมักเกิดที่บริเวณส่วนบนของต้นขา ต้นขาด้านใน และบางครั้งที่ผิวหนังของสะโพก โดยปกติแล้วผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศจะไม่ได้รับผลกระทบ
ปัจจัยที่อาจทำให้อาการแย่ลง
- การออกกำลังกาย
- การเดิน
- การสวมเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่คับแน่น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคสังคัง
- ผิวหนังเปื่อย (Maceration) และติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียหรือเชื้อรา Candida
- อาจเกิดรอยถลอก ผิวหนังหนาตัว (lichenification) และเปลี่ยนสีของผิวหนัง
- ภาวะ Tinea incognita เนื่องจากการใช้ยาสเตียรอยด์แบบทา
โรคสังคัง หายเองได้หรือไม่?
โรคสังคังมักไม่หายเอง หากไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น
- เล็บ: การติดเชื้อราที่เล็บรักษายากกว่าผิวหนังทั่วไป และมักดื้อต่อการรักษาหลายประเภท
- มือ: การติดเชื้อราแบบเดียวกันสามารถแพร่ไปยังมือได้ หากเกาบริเวณขาหนีบที่ติดเชื้อหรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดทั้งสองบริเวณ
- เท้า: เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคสังคังอาจแพร่ไปที่เท้า เรียกว่า “กลากที่เท้า” หรือ Athlete’s foot เชื้อสามารถแพร่จากขาหนีบไปยังเท้าผ่านชุดชั้นใน หรือใช้ผ้าขนหนูเช็ดทั้งสองบริเวณ
ควรพบแพทย์เมื่อไร
ควรพบแพทย์หากผื่นทำให้รู้สึกเจ็บหรือมีไข้ และหากผื่นไม่ดีขึ้นหลังจากรักษา 1 สัปดาห์ หรือยังไม่หายสนิทหลังจากรักษา 3 สัปดาห์
การวินิจฉัยโรคสังคัง
แพทย์มักสามารถวินิจฉัยโรคสังคังได้โดยการตรวจร่างกายและดูผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ ในบางกรณี แพทย์อาจเก็บตัวอย่างเซลล์ผิวหนังเพื่อตรวจ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยและแยกโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น โรคสะเก็ดเงิน
การรักษา โรคสังคัง
ยาต้านเชื้อราแบบทาที่บริเวณผื่นขาหนีบเป็นวิธีการรักษาที่พบบ่อย ยาต้านเชื้อรามีหลายรูปแบบ เช่น
- ครีม
- เจล
- น้ำยา
- แป้ง
- สเปรย์
ยาต้านเชื้อราแบบทาสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา โดยเภสัชกรสามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับคุณ หากคุณมีทั้งโรคสังคังและกลากที่เท้า ควรรักษาทั้งสองบริเวณพร้อมกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
ในบางกรณี เช่น หากเชื้อรามีความรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการทา ยาต้านเชื้อราแบบรับประทานอาจจำเป็นสำหรับการรักษา เช่น
- เทอร์บิเนฟีน (Terbinafine, ชื่อการค้า: Lamisil, Tinasil)
- ฟลูโคนาโซล (Fluconazole, ชื่อการค้า: Diflucan, Dizole)
- กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin, ชื่อการค้า: Grisovin)
ผลข้างเคียงของยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน ได้แก่
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- ปวดศีรษะ
- อาการไม่ย่อยอาหาร
บางประเภทของยาต้านเชื้อราแบบรับประทานอาจไม่เหมาะสมสำหรับบางคน แพทย์จะสามารถแนะนำการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
การดูแลตนเอง
การปฏิบัติตามวิธีการดูแลตนเองเหล่านี้ก็มีความสำคัญในการรักษาโรคสังคัง
- ล้างและเช็ดผิวหนังบริเวณขาหนีบให้แห้งทุกวัน
- เปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน (หรือบ่อยขึ้นหากมีเหงื่อออกมาก)
- ใส่ชุดชั้นในที่หลวมและหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่ทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณนี้
วิธีป้องกัน โรคสังคัง
มีหลายวิธีที่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้โรคสังคังกลับมาเกิดใหม่ได้
- ล้างและเช็ดให้แห้ง: ล้างบริเวณขาหนีบทุกวันและเช็ดให้ผิวแห้งสนิท
- รักษาความแห้ง: รักษาบริเวณขาหนีบให้แห้ง เช็ดอวัยวะเพศและต้นขาด้านในให้แห้งสนิทด้วยผ้าขนหนูสะอาดหลังจากอาบน้ำหรือออกกำลังกาย โดยให้เช็ดเท้าสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อราที่เท้าไปยังบริเวณขาหนีบ
- เลือกเสื้อผ้าที่พอดี: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเสื้อผ้าโดยเฉพาะชุดชั้นในและชุดกีฬาเหมาะสม ไม่คับจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังเสียดสีและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคสังคัง ควรลองสวมกางเกงในแบบบ็อกเซอร์แทนการสวมกางเกงในแบบรัด
- เลือกชุดชั้นในจากผ้าฝ้าย: ใช้ชุดชั้นในผ้าฝ้ายและหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ
- ซักเสื้อผ้าและผ้าขนหนูบ่อยๆ: ควรซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์รองรับขาหนีบบ่อยๆ
- สวมเสื้อผ้าที่สะอาด: เปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน หรือบ่อยขึ้นหากมีเหงื่อออกมาก ควรเลือกชุดชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายหรือผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและช่วยให้ผิวแห้ง
- หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น: อย่าให้ผู้อื่นใช้เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือของใช้ส่วนตัวอื่นๆ และอย่ายืมของเหล่านี้จากผู้อื่น
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณที่ติดเชื้อ: หากต้องเกาให้ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ฆ่าเชื้อก่อนสัมผัสส่วนอื่นของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคสังคัง: ควรรอให้โรคสังคังหายไปก่อนถึงจะมีเพศสัมพันธ์
หากคุณมีโรคกลากที่เท้า (Athlete’s foot) ควรรักษาให้หายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อราไปยังบริเวณขาหนีบ เมื่อต้องแต่งตัว ควรใส่ถุงเท้าก่อนใส่ชุดชั้นใน เพื่อไม่ให้เชื้อราจากเท้ากระจายไปยังขาหนีบ
อ้างอิง
- JockItch (Tinea Cruris) https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22141-jock-itch-tinea-cruris
- Jockitch (tinea cruris) https://www.mydr.com.au/jock-itch-tinea-cruris/
- Jockitch https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/jock-itch/symptoms-causes/syc-20353807
- Everything You Need to Know About Jock Itch https://www.healthline.com/health/jock-itch