ไวรัสตับอักเสบ A B C เจาะลึกความแตกต่าง อาการ และแนวทางการรักษา

ไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบ จริงๆ แล้วมีต้นเหตุมาจากอาการตับอักเสบ เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย ส่งผลให้หน้าที่การทำงานของตับ ไม่สามารถเป็นไปได้ตามปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการแปลกๆ กับร่างกาย ถือว่าไวรัสตับอักเสบ ยังคงเป็นโรคที่บรรดาสาธารณสุข ยังคงเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่จำกัดเพศ และวัย ปกติแล้วจุดเริ่มต้นมักมาจากอาการตับอักเสบเฉียบพลัน แต่ก็มีไม่น้อย ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังก่อนจะลามไปเป็นมะเร็งตับ และโรคตับแข็งต่อไป สำหรับอาการไวรัสตับอักเสบ ที่พบเห็นได้บ่อย จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  • ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus)
  • ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus)
  • ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus)

โดยอาการแต่ละชนิดจะมีสาเหตุ และอาการที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ไวรัสตับอักเสบ เอ

ไวรัสตับอักเสบเอ มักเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร ที่มีเชื้อโรคเป็นพาหะเข้าสู่ร่างกาย โดยอาหารประเภทผักผลไม้ รวมถึงน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ไวรัสตับอักเสบเอ มีระยะของโรค หรือระยะฟักตัวประมาณ 1 เดือนเศษๆ เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไป หากเกิดขึ้นกับเด็กมักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นเท่าไหร่นัก

แต่ถ้าในผู้ใหญ่ จะมีอาการออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน โดยจะมีการถ่ายมาพร้อมอุจจาระนับตั้งแต่เข้าสู่ร่างกายได้ราวๆ 14 วัน มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกอย่างมาก จึงมักพบว่ามีการแพร่ระบาดได้ง่าย หากพื้นที่ไหนมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเอนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ชุมชน โรงเรียน ค่ายทหาร ฯลฯ

การรักษาไม่ได้มีอะไรมากอาจทานยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดเมื่อย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ไม่ควรซื้อยาทานเอง พร้อมกับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการของโรคจะหายไปเองรวมถึงร่างกายยังจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอีกด้วย ถือเป็นตับอักเสบที่ไม่รุนแรงมากนัก

ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี ถือเป็นโรค ไวรัสตับอักเสบ ที่คุ้นเคยกันดีเพราะมีประชากรในโลกเป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้กว่า 200 ล้านคน แบ่งเป็นประเทศไทยราว 5 ล้านคน การตรวจว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือไม่ จะต้องตรวจผ่านการเจาะเลือด หรือน้ำเหลืองเท่านั้น การหาปริมาณไวรัสในกระแสเลือด (HBV viral load) ซึ่งจะบอกจำนวนไวรัสในกระแสเลือดว่ามีมากขนาดไหน และจะมีประโยชน์ในบางรายที่เชื้อไวรัสมีการผ่าเหล่า ทำให้เสมือนตรวจไม่พบไวรัสในกระแสเลือด

แต่ตับอักเสบ การตรวจปริมาณไวรัสจะช่วยยืนยันว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบี ที่ทำให้ตับอักเสบจริง หรือการเจาะตับตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ จะมีประโยชน์ในการบอกพยาธิสภาพของตับว่ามีการอักเสบขั้นไหน ซึ่งจะทำในกรณีเตรียมการรักษา หรือวิธีการตรวจความยืดหยุ่นในตับ (Transient elastography, Fibroscan®) เป็นการตรวจหาพังผืดในตับเพื่อดูว่าอยู่ในเกณฑ์ต้องรีบรักษา หรือไม่โดยไม่ต้องเจาะตับ อย่างไรก็ตามสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำลาย, อสุจิ, น้ำภายในช่องคลอด, น้ำตา ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน

การติดเชื้อของไวรัสตับอักเสบบี ถือเป็นการติดเชื้อที่พบได้ง่าย หากไม่มีการป้องกันดูแลอันประกอบไปด้วย

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ โดยไม่มีการป้องกันด้วย ถุงยางอนามัย รวมถึงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ใช้สารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้น การฝังเข็ม หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีโอกาสนำเชื้อสู่ภายในร่างกาย เช่น มีดโกน, แปรงสีฟัน, เข็มเจาะหู ฯลฯ
  • สัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ โดยตัวผู้สัมผัส มีบาดแผลสดใหม่ที่จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • แม่ที่มีเชื้อในร่างกาย และมีการคลอดลูก ลูกมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงมาก

ระยะการเกิดโรคราวๆ 1 – 6 เดือน มักไม่ค่อยแสดงอาการ ทว่าบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย, ท้องเสีย, มีไข้, ปวดเมื่อย, เบื่ออาหาร สามารถหายเองได้ แต่ก็ยังคงมีเชื้อในร่างกาย และมีโอกาสแพร่ไปยังผู้อื่นต่อ หรือมีอาการดีซ่าน จะเริ่มสังเกตว่ามีปัสสาวะสีเข้ม และตัวเหลืองตาเหลือง หรือบางรายก็ไม่พบดีซ่านก็ได้ หลังจากอาการตัวเหลืองตาเหลืองมากถึงที่สุด อาการอ่อนเพลียจะดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงตับเข้าสู่ระยะซ่อมแซม อาการตัวเหลืองตาเหลืองจะค่อยลดลงจนหายเป็นปกติ ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 4 – 8 สัปดาห์

หากรู้ว่าป่วยก็ให้ไปพบแพทย์พร้อมรับคำแนะนำ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ, หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อีกความอันตรายของไวรัสตับอักเสบบี คือ บางรายเชื้อจะค่อยๆ ลุกลามไปจนถึงขั้นตับอักเสบเรื้อรัง, มีอาการตับแข็งจนกลายไปสู่โรคมะเร็งตับในที่สุด ตามรายงานระบุว่า ใครที่มีพาหะของเชื้อตัวนี้ โอกาสเสี่ยงในการป่วยเป็นมะเร็งตับสูง กันเลยทีเดียว แต่ยังโชคดีที่สามารถป้องกันโรคเบื้องต้นได้ ด้วยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบ ซี

ถือเป็น ไวรัสตับอักเสบ ที่พบไม่บ่อยนักราว 1 % ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการรับเลือดจากผู้อื่น แต่ทั้งนี้การสัมผัสกับน้ำเหลือง หรือใช้อุปกรณ์จำพวกเข็มฉีดยา, มีดโกนร่วมกันก็มีสิทธิเป็นได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีโดยไม่ได้ป้องกัน

การตรวจวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบซี ทำได้โดย การตรวจการทำงานของตับ ซึ่งบ่งถึงการอักเสบของตับ การตรวจหาหลักฐานของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยการตรวจ anti – HCV หากให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ และตรวจหา HCV RNA ซึ่งจะบอกถึงปริมาณไวรัสซี นอกจากนั้น การตรวจสายพันธุ์ของไวรัสจะมีความสำคัญต่อการเลือกยา และระยะเวลาในการใช้ยารักษา การตรวจพยาธิสภาพของตับ เพื่อประเมินการอักเสบ และพังผืดในตับ ทำได้โดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับหรือใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับวัดปริมาณพังผืด (ความยืดหยุ่น) ในเนื้อตับ การตรวจ ultrasound และการตรวจเลือด หาสาร alpha – fetoprotein เพื่อประเมินภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ

ระยะของอาการไวรัสตับอักเสบซีราว 2 เดือน อาจจะทำให้มีอาการตับอักเสบเฉียบพลัน และส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จนเข้าสู่ภาวะมะเร็งตับได้ ที่สำคัญ คือ ยังคงไม่มีวัคซีนไวรัสตับอักเสบซีที่ได้ผลสำเร็จแต่มียาฆ่าเชื้อโดยตรงที่สามารถรับประทาน และรักษาให้หายขาดได้ภายใน 3 เดือน ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดยารักษาไวรัสตับอักเสบเป็นอย่างมาก

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ

อาการของโรค ไวรัสตับอักเสบ อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของไวรัส และความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • อุจจาระสีซีด
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบสามารถทำได้ ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบี
  • รับประทานอาหารที่สะอาด และปลอดภัย
  • ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการสัก หรือเจาะหู จากสถานที่ที่ไม่สะอาด
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ

การรักษาโรค ไวรัสตับอักเสบ ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส และความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยทั่วไปการรักษาอาจรวมถึง การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคไวรัสตับอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับได้

ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่ร้ายแรง การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบี และการปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า