ผลตรวจ HIV มีกี่แบบ เจาะลึกทุกวิธีตรวจ พร้อมเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย

ผลตรวจ HIV มีกี่แบบ

โรคติดต่อที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถค้นพบวิธีรักษาให้หายขาดได้ 100% แน่นอนว่าหลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ ไวรัสเอชไอวี HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ไวรัสชนิดนี้จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถต่อต้านต่อเชื้อต่างๆ ได้ในที่สุด ดังนั้น การทราบ ผลตรวจ HIV เร็วย่อมเป็นผลดีต่อตัวผู้ตรวจ

การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ที่แพทย์แนะนำคือ การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจ HIV อย่างสม่ำเสมอ เพื่อทราบ ผลตรวจ HIV อย่างชัดเจน และรับมือกับการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่ทราบผลว่าติดเชื้อ ซึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ตรวจ HIV มาก่อน อาจมีข้อสงสัยมากมาย หนึ่งในคำถามยอดนิยมทั้งก่อน-หลังการตรวจ

Love2Test

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยวิธีการแบบใดก็ตามคือ ความหมายของผลการตรวจ HIV แต่ละแบบหมายความว่าอย่างไร และเมื่อทราบผลการตรวจแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป ในบทความนี้เราจะมาไขข้อสงสัยให้หายข้องใจ โดยเราได้รวบรวมความหมายของผลการตรวจตลอดจนคำแนะนำในการรับมือหลังจากทราบผล เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจ HIV ต่อไปนั่นเอง

การตรวจ HIV มีกี่วิธี? แต่ละวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไร?

ปัจจุบันการตรวจ HIV โดยการวินิจฉัยการติดเชื้อโดยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีทั้งหมด 4 แบบ และการตรวจด้วยชุดตรวจ HIV ด้วยตนเองที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกที่ผู้เสี่ยงสามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง 2 แบบ

การตรวจ HIV แบบ HIV p24 antigen testing

การตรวจ HIV โดยการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ HIV จากการวินิจฉัยโปรตีนของเชื้อที่มีชื่อว่า p24 สามารถตรวจพบเชื้อได้ในระยะที่ผู้ติดเชื้อผ่านการติดเชื้อมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้แพทย์จะพิจารณาจากผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ในระยะแรก ซึ่งร่างกายยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อ (Anti-HIV) หรืออีกกรณีคือผู้ตรวจมีระดับแอนติบอดีต่ำ และไม่สามารถตรวจวัดค่าได้

การตรวจ HIV แบบ Anti-HIV testing

การตรวจ HIV โดยการตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะของเชื้อ HIV สามารถตรวจพบได้ในระยะที่ผู้ติดเชื้อผ่านการติดเชื้อมาแล้วประมาณ 3-4 สัปดาห์ เป็นวิธีการตรวจ HIV ที่ปัจจุบันนิยมใช้ในการตรวจคัดกรองมากที่สุด

การตรวจ HIV แบบ Fourth Generation หรือ HIV Ag/Ab combination assay

การตรวจ HIV โดยการวินิจฉัยจากชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะของเชื้อ HIV และตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ HIV ในคราวเดียวกันด้วยการใช้น้ำยาตรวจชนิดเดียวกัน สามารถตรวจพบได้ในระยะที่ผู้ติดเชื้อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 2 สัปดาห์ วิธีนี้เป็นการตรวจ HIV ที่แสดงผลได้ทั้งค่า HIV p24 antigen และ/หรือ Anti-HIV ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากประหยัดเวลา และมีประสิทธิภาพในการคัดกรองสูง

 การตรวจ HIV แบบ Nucleic Acid Test (NAT)

การตรวจ HIV โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV ที่มีชื่อว่า Nucleic Acid วิธีนี้เป็นการตรวจที่ทราบผลได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจพบได้หลังจากที่ติดเชื้อตั้งแต่ 3-7 วัน ทั้งนี้วิธีการนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการตรวจคัดกรองภายในสถานพยาบาล แต่ใช้ในการคัดกรองผู้บริจาคโลหิตเท่านั้น

การตรวจ HIV ด้วยชุดตรวจ HIV Self-Test

ชุดตรวจ HIV ด้วยตัวเอง เป็นทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถตรวจได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง หาซื้อได้สะดวก และทราบผลเลือดได้เร็วโดยไม่ต้องเดินทางไปตรวจยังสถานพยาบาลให้เสียเวลา ซึ่งการตรวจแบบนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการตรวจคัดกรองในสถานพยาบาล โดยได้รับการยืนยันจากการวิจัยว่ามีความแม่นยำกว่า 99% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะการตรวจหลังจากที่ผ่านความเสี่ยงมาอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน ปัจจุบันมีทั้งหมด 2 แบบ คือ ตรวจด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว และตรวจด้วยน้ำลาย

ความหมายของ ผลตรวจ HIV มีอะไรบ้าง?

การตรวจ HIV ในปัจจุบันแต่ละวิธีโดยทั่วไปแล้วจะแสดงผลการตรวจออกเป็น 3 รูปแบบดังนี้

Reactive หรือ Positive

หากคุณได้รับผลการตรวจที่แสดงผลเป็น Reactive หรือ Positive ซึ่งส่วนใหญ่อาจรู้จักกันจากคำว่า “เลือดบวก” หมายความว่าคุณติดเชื้อเอชไอวีในร่างกาย หากคุณเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาล คลีนิคนิรนาม หรือคลินิกเฉพาะทาง ทางแพทย์ผู้ตรวจจะให้คุณเลือกได้ว่าจะรับผลเลือดทางใดเพื่อความเป็นส่วนตัวตามที่ผู้ตรวจต้องการ ในกรณีนี้หากคุณเลือกรับผลเป็นเอกสารจัดส่งถึงบ้าน

แน่นอนว่าจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ควรรับมืออย่างมีความรู้ความเข้าใจโดยที่ไม่มีความตื่นตระหนก เนื่องจากปัจจุบันการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยการรับ ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพ และการตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติไม่ต่างจากคนทั่วไป

หากในกรณีที่รับผลการตรวจ HIV จากแพทย์ผู้ตรวจโดยตรง แพทย์จะให้คำแนะนำในการเริ่มต้นเข้ารับการรักษาอย่างเป็นกระบวนการ คุณจะได้รับคำปรึกษา สอบถาม ขอคำแนะนำได้เต็มที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการรักษาให้คุณได้มากกว่านั่นเอง หรือหากเป็นการตรวจจากชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง ผู้ตรวจควรเข้ารับการตรวจยืนยันโดยแพทย์อีกครั้ง ตลอดจนป้องกัน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

Non-Reactive หรือ Negative

หากคุณได้รับผลการตรวจที่แสดงผลเป็น Non-Reactive หรือ Negative ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเข้าใจในคำว่า “เลือกลบ” หมายความว่าคุณไม่ติดเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากผลการตรวจเป็นลบ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาให้ตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อป้องกันผลลบปลอมที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการที่ผู้ตรวจเข้ารับการตรวจในช่วงระยะฟักตัวของเชื้อ (Window period) ซึ่งไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้แต่ร่างกายมีเชื้อเอชไอวีอยู่ ดังนั้นจึงต้องตรวจ HIV อีกครั้ง คือ 3 – 6 เดือน

หลังจากการตรวจครั้งแรก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ร่วมด้วย แต่ในกรณีของผู้ตรวจที่เลือกใช้ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง เน้นย้ำว่าอย่าเพิ่งชะล่าใจในผลการตรวจที่ได้รับ คุณควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งในระยะ 3-6 เดือนเช่นเดียวกัน หรือเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากที่สุดควรเข้ารับการตรวจยืนยันโดยแพทย์อีกครั้ง ทั้งนี้ไม่ควรคิดว่าตนเองไม่มีเชื้อ 100% ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อ หรือแพร่เชื้อด้วย

Invalid Result

ผลการตรวจนี้จะแสดงเฉพาะในชุดตรวจ HIV ด้วยตนเองเท่านั้น เป็นผลที่บ่งบอกว่า ชุดตรวจนั้นไม่สามารถแปรผลได้ หรือ ไม่แสดงผล เนื่องจากปัจจัยหลากหลายด้านที่ทำให้ชุดตรวจไม่สามารถแสดงผลที่ชัดเจนได้ เช่น อุปกรณ์บางส่วนชำรุด เสียหาย ไม่พร้อมต่อการใช้งาน ปริมาณเลือด หรือปริมาณน้ำยาที่น้อยเกินไป

รวมไปถึงผู้ตรวจอาจปฏิบัติตามขั้นตอนไม่ครบถ้วนตามคำแนะนำ ตลอดจนข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการตรวจด้วยตนเอง ซึ่งผู้ตรวจควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยขั้นตอน และวิธีการที่ตรงตามคำแนะนำ หรือเพื่อให้เกิดความมั่นใจ พร้อมป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง แนะนำให้เข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล คลินิก มูลนิธิที่ให้บริการจึงจะดีที่สุด

ข้อควรปฏิบัติหลังทราบ ผลตรวจ HIV ว่าติดเชื้อ

หลังจากที่ทราบ ผลตรวจ HIV และได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วว่า ติดเชื้อเอชไอวี สิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้คือการเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเข้มงวด ด้วยการพิจารณาแนวทางการรักษาจากแพทย์เจ้าของไข้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่น โดยมีแนวทางข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ทำความเข้าใจ ศึกษา ปรึกษา ซักถาม ข้อสงสัยต่างๆ จากแพทย์ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง หากมีความกังวลว่าคนในครอบครัวจะตื่นตระหนกกับผลการตรวจ ควรให้ครอบครัวเข้าฟังคำแนะนำจากแพทย์ด้วย จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยที่ไม่ต้องระแวงว่าคนใกล้ชิดจะตีตราในแง่ลบ
  • เข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวีตามคำแนะนำของแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัสลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงมากกว่านี้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ทานยาให้ครบ และตรงเวลาที่กำหนด
  • หากมีอาการผิดปกติในระหว่างการรักษา ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อแจ้งอาการโดยเร็ว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • คลายความกังวล ไม่คิดมาก ดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงร่วมด้วย หากต้องการคำปรึกษาให้พบแพทย์ หรือเลือกเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสารเสพติดทุกชนิด การพักผ่อนไม่เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจตามมาได้
  • ผู้ที่มีครอบครัว หรือ คู่รัก ควรปรึกษาแพทย์ด้านการปฏิบัติตน การดูแล ตลอดจนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ หรือ มีบุตร โดยการรับยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง

การตระหนักถึงประโยชน์ของการตรวจ HIV นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทุกคนควรทำ เพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังเป็นการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดได้ การที่ตายใจว่าผลการตรวจ HIV เป็นลบ (ไม่ติดเชื้อเอชไอวี) แล้วยังปฏิบัติตนที่เสี่ยงเช่นเดิม ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัย หรือห่างไกลจาก เอชไอวี

แต่ควรพึ่งคิดไว้เสมอว่าการป้องกันทุกด้านอย่างครอบคลุม ทั้งการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ และการตรวจ HIV อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยให้ห่างไกลจากเอชไอวีรวมถึงโรคติดต่ออื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า