ฝีดาษลิงไทย ติดตามข่าวสาร สถิติผู้ป่วย และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ที่นี่

ข่าวฝีดาษลิง

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ “ฝีดาษลิง” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ติดตามสถานการณ์ ข่าวฝีดาษลิง อย่างใกล้ชิด พร้อมมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เราจึงต้องทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มาก ทั้งการป้องกัน และการสังเกตอาการ วันนี้ทาง Lovefoundation ได้รวบรวม ข่าวฝีดาษลิง ในประเทศไทย มาอัพเดทให้ทุกคนได้ทราบ เพื่อจะได้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน

21 ส.ค. 2567 – กรมควบคุมโรคยืนยันพบผู้ป่วยฝีดาษวานร Clade 1b รายแรกในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานผลตรวจพบเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 1b ในผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางมาจากแอฟริกา นับเป็นรายแรกในไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เข้มงวดมาตรการป้องกันควบคุมโรค

Love2Test

อธิบดีกรมควบคุมโรคแจ้งว่าจะรายงานต่อ WHO ตามมาตรฐาน IHR พร้อมสั่งการด่านควบคุมโรคทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ให้เพิ่มความเข้มงวดกับผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ซึ่งต้องลงทะเบียนผ่าน Thai Health Pass และผ่านการคัดกรอง

การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 ราย ยังไม่พบผู้มีอาการ แต่จะติดตามต่อเนื่อง 21 วัน หากมีอาการผิดปกติให้รีบเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ฝีดาษวานรมักมีอาการผื่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ จึงแพร่เชื้อได้น้อยกว่าโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด

ขอบคุณข้อมูล : thairath

21 ส.ค. 2567 – รายแรกของไทย ผู้ต้องสงสัยป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์ Clade 1B

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีพบผู้ต้องสงสัยป่วยโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B) รายแรกในประเทศไทย โดยเป็นผู้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา

นพ.ธงชัยชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เคลด 1 บี แต่ทางกรมควบคุมโรคตัดสินใจแถลงข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ป่วยรายนี้อาจติดเชื้อฝีดาษลิงที่ไม่ใช่สายพันธุ์เคลด 2 บี

ผู้ป่วยเดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 18.00 น. โดยมาจากแอฟริกา และแวะเปลี่ยนเครื่องที่ตะวันออกกลาง วันรุ่งขึ้น (15 สิงหาคม) ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ และมีตุ่มขึ้นเล็กน้อย จึงเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่าไม่ใช่เชื้อสายพันธุ์เคลด 2 แต่ผลการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์เคลด 1 บี ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ยืนยันว่าเป็นเชื้อฝีดาษลิง แต่ยังต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อระบุสายพันธุ์ที่แน่ชัด

นพ.ธงชัยเน้นย้ำว่า การแถลงข่าวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน และป้องกันการเผยแพร่ข่าวลือ หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

“ผู้ป่วยต้องสงสัยรายนี้คอนข้างเชื่อได้ว่าเป็นฝีดาษลิงแน่ และมาจากประเทศที่มีการระบาดของเคลด 1 บี และเรามีระบบในการติดตามคนสัมผัส คนนั่งเครื่องบินเดียวกัน 2 แถวใกล้ผู้ป่วยรายนี้ มีการสอบสวนโรค ซึ่งมีรายชื่อทั้งหมดแล้ว รวม 43 คน ทั้งไทย และต่างชาติ เข้าสนามบินอย่างไร พบใครบ้าง พักที่ไนน จะเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้มีเวลาสัมผัสกับคนสั้นมาก เพราะมาถึงไทย 6 โมงเย็น แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปพบแพทย์ และอยู่ที่ รพ. เลย ทั้งนี้ติดตามคนสัมผัสประมาณ 21 วัน”

เมื่อถามว่า ผู้ป่วยเป็นชาติคนสัญชาติอะไร นพ.ธงชัย กล่าวว่า เป็นชาวยุโรป อาการล่าสุดดี ไม่รุนแรง คาดว่าวันศุกร์นี้ จะยืนยันได้ 100% ว่าเป็นสายพันธุ์ใดกันแน่ รวมถึงจะยืนยันได้ว่าเป็นเคลด 1 บี หรือไม่ ถ้ายืนยันก็ถือว่าเป็นรายแรกของไทย ที่ป่วยสายพันธุ์เคลด 1 บี เบื้องต้นรายนี้ไม่มีการป่วยโรคอื่น

ขอบคุณข้อมูล : dailynews

19 ส.ค. 2567 – อยู่บ้านเดียวกัน 4 ชั่วโมง เสี่ยงติดเชื้อฝีดาษวานร

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ของโรคฝีดาษวานร (Mpox หรือ Monkeypox) ในงานสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์ และการแพทย์แม่นยำ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม โรคฝีดาษวานรมีสายตระกูลหลัก 2 กลุ่ม คือ Clade 1 และ Clade 2 โดย Clade 1 ดั้งเดิมมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในปัจจุบันไม่ใช่ Clade 1 ดั้งเดิม แต่เป็นสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาเป็น Clade 1b มีลักษณะสำคัญคือ

  1. อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 1% ซึ่งถือว่าน่ายินดี
  2. มีการติดต่อที่ง่ายกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในปี 2565 (Clade 2b)

สำหรับประเทศไทย สายพันธุ์ที่พบในปัจจุบันคือ Clade 2b ซึ่งไม่รุนแรงเท่ากับ Clade 1b

เสี่ยงติดเชื้อฝีดาษวานรเมื่ออยู่บ้านเดียวกัน 4 ชั่วโมง

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ใหม่ ดังนี้

  1. อัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงถึง 70% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น
  2. การแพร่เชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม
  3. มีข้อมูลจากแอฟริกาว่าการอยู่ในบ้านเดียวกันเพียง 4 ชั่วโมงก็มีความเสี่ยงติดเชื้อได้
  4. การติดเชื้อไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ แต่สามารถเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือการใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา
  5. ยืนยันว่าไม่ใช่การติดเชื้อทางอากาศ (airborne)

ศาสตราจารย์ยังอธิบายว่าการกลายพันธุ์ของฝีดาษวานรไม่เหมือนกับโควิด-19 และยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการแพร่ระบาดที่รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งโดยกรมควบคุมโรค

ขอบคุณข้อมูล : hfocus

19 ส.ค. 2567 – ฝีดาษวานร สายพันธุ์ใหม่ ต้องเฝ้าระวัง รุนแรงกว่าเดิม

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งเตือนประชาชนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 เกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (MPOX) สายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ยงแนะนำให้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยฝีดาษวานรทุกราย โดยต้องมีการตรวจวินิจฉัย และแยกสายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของทั้งสายพันธุ์เดิม และสายพันธุ์ใหม่ในประเทศ มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการระบาด และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ขอบคุณข้อมูล : tnnthailand

14 ส.ค. 2567 – WHO ประกาศ “ฝีดาษวานร” เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษวานร (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 หลังพบการระบาดรุนแรงในหลายประเทศแถบแอฟริกา โดยเฉพาะในภูมิภาคกลาง และตะวันออกของทวีป โรคนี้เดิมเป็นที่รู้จักในชื่อฝีดาษลิง

ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO แถลงว่า “การระบาดของ Mpox ในแอฟริกาสร้างความกังวลอย่างมาก เรากำลังเห็นแนวโน้มที่โรคอาจแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นนอกแอฟริกา จึงจำเป็นต้องมีการตอบสนองระดับนานาชาติโดยเร่งด่วน เพื่อควบคุมการระบาด และช่วยชีวิตประชาชน”

แหล่งที่มา : bbc, thairath

30 พ.ค. 2567 – กรมควบคุมโรครุกเฝ้าระวัง พบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่ม

นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือน ก.ค.2565 จนถึงวันที่ 20 พ.ค. 2567

  • มีรายงานผู้ป่วยรวม 787 คน
  • เป็นเพศชาย 768 คน
  • คิดเป็นร้อยละ 97

ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ระยอง และอุดรธานี ตามลำดับ ข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2567 มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นระยะ และเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย. ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์จนถึงเดือน พ.ค. จึงต้องเฝ้าระวัง พร้อมป้องกัน ลดเสี่ยง ลดโรค

ขอบคุณข้อมูล : thairath

30 ต.ค. 2566 – ฝีดาษวานร สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 24 ราย

กรมควบคุมโรค เผยขณะนี้ยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 24 ราย และมีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 ราย เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือผู้มีอาการสงสัยฝีดาษวานร หลีกเลี่ยงปาร์ตี้ที่มีสารมึนเมา และตามด้วยการมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2566)

  • พบ ผู้ติดเชื้อรวม 559 ราย
  • เสียชีวิต 2 ราย
  • เป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง ชาวไทย 503 ราย
  • ชาวต่างชาติ 52 ราย
  • ไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ  474 ราย และรู้ว่าติดเชื้อ HIV 274 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.18 กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี (241 ราย) ตามด้วยอายุ 20-29 ปี (172 ราย)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 24 ราย

  • กรุงเทพ 9 ราย
  • เชียงใหม่ และ นนทบุรีจังหวัดละ 3 ราย
  • ภูเก็ต 2 ราย
  • นครปฐม ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี สระบุรี อุดรธานี และอุบลราชธานีจังหวัดละ 1 ราย

มีรายงานผู้ป่วยเอชไอวีติดฝีดาษวานรเสียชีวิต 1 รายล่าสุด ว่า เป็นชายไทย อายุ 24 ปี เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และขาดยามา 3 ปี ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 3 เซลล์ต่อมิลลิลิตร เริ่มป่วยตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2566 และไปรับ การรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย มีผื่นใบหน้า หลัง มือ บริเวณอวัยวะเพศ และต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2566 ได้รับการส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศบำราศนราดูร เนื่องจากมีอาการรุนแรง คือ ผิวหนังตายบริเวณที่จมูก แผ่นหลัง และนิ้วมือ และมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนัง

ในสภาพที่ผู้ป่วยเอชไอวีรายนี้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องพบการแพร่กระจายของเชื้อฝีดาษวานรไปที่ปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ มีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดจากเชื้อซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) แม้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา tecovirimat นาน 28 วัน ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่ตรวจพบ แต่ยังมีการตายของเนื้อเยื่อเป็นบริเวณกว้างขึ้น ต่อมามีภาวะไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด

ขอบคุณข้อมูล : pptvhd36

24 ต.ค. 2566 – เวียดนาม พบผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” เกือบทั้งหมดติดเชื้อ HIV

วันนี้ (24 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า สำนักอนามัยนครโฮจิมินห์ซิตีทางตอนใต้ของเวียดนาม รายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในท้องถิ่น 18 รายจากทั้งหมด 20 ราย มีผลตรวจเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นบวก

รายงานระบุว่า ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงทั้งหมดข้างต้นรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งชาติของเมือง โดยสองรายมีอาการหนักขั้นรุนแรง ส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆ มีอาการดีขึ้น

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจดูแลสุขภาพของเมืองไม่พบปัจจัยอันเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในปัจจุบัน โดยหน่วยงานดูแลสุขภาพท้องถิ่นกำลังเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อตรวจจับการติดเชื้อในชุมชน มุ่งเน้นกลุ่มที่ติดเชื้อง่ายในโรงพยาบาล และป้องกันเชื้อไวรัสที่อาจแพร่เข้ามาผ่านด่านชายแดน

ขอบคุณข้อมูล : ejan

14 ส.ค. 2566 – เสียชีวิตรายแรกจาก “โรคฝีดาษลิง” โดยพบการติดเชื้อ HIV- ซิฟิลิส ร่วมด้วย

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จากการลงพื้นที่

พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี

  • มีประวัติเป็นไข้
  • ปวดศีรษะ
  • คัน และมีผื่น และตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษลิง จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง และขณะเดียวกันยัง ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว ได้รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้

ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูก และคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขน และขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อ มล. แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษลิง และยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลง และเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566

สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566

  • มีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงรวม 189 รายในไทย
  • เป็นสัญชาติไทย 161 ราย
  • ชาวต่างชาติ 28 ราย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อ เอชไอวี ร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43) ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง

ขอบคุณข้อมูล : prachachat

ข่าวฝีดาษลิง 24 มี.ค. 2566 – สธ.พบผู้ป่วยฝีดาษลิง เพิ่ม 3 ราย

วันที่ 24 มี.ค. 2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงสถานการณ์ฝีดาษลิง ตั้งแต่ช่วงก.ค.ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย พบผู้ป่วยฝีดาษวานรยืนยัน รวมสะสม 18 ราย โดยอยู่ในระบบการรักษาล่าสุดที่สถาบันบำราศนราดูร 3 ราย เป็นชายทั้งหมด อายุเฉลี่ยในช่วง 27-40 ปี ซึ่งเป็นการทยอยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในจำนวน 3 รายนี้ 2 รายเป็นชายรู้จักกัน มีกิจกรรมใกล้ชิด

ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น ยังไม่มีวงรอบในการแพร่กระจาย ไปยังผู้อื่น เนื่องจากลักษณะของโรคฝีดาษวานรการจะแพร่สู่กันได้นั้น จะเป็นในรูปแบบสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสตุ่มหนอง เน้นย้ำ ในเรื่องของการดูแลสุขภาพ เนื่องจากโรคฝีดาษลิง การติดต่อกันจะมาจากการสัมผัสใกล้ชิด ระมัดระวังกันมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมโรค ระบุเพิ่มเติมว่า โรคฝีดาษลิง ยังคงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หากดูจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว เฉลี่ยพบเดือนละ 1-3 ราย หรือบางเดือนก็ไม่พบผู้ป่วยเลย อย่างไรก็ตามหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ที่มีตุ่มหนองตามร่างกาย ส่วนประชาชนทั่วไป ไม่ต้องกังวลถึงโรคฝีดาษวานร

หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง และมีการป้องกันตนเองทางด้านสุขอนามัย และไม่ได้ไปสัมผัสตุ่มหนอง โอกาสที่จะเป็นโรคดังกล่าว ถือว่าน้อยมาก. ส่วนการจัดกิจกรรมความหลากหลายทางเพศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฝากเน้นย้ำ เลี่ยง การมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หากมีอาการป่วย หรือมีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกายไม่ควรเข้าร่วมกิจกรรม

ขอบคุณข้อมูล : pptvhd36

ข่าวฝีดาษลิง 24 ตุลาคม 2565 – ไทย พบฝีดาษลิง รายที่ 12 เดินทางมาจาก ประเทศโอมาน

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายใหม่ เป็นนักท่องเที่ยวเพศชาย อายุ 25 ปี สัญชาติโอมาน เดินทางจากประเทศโอมาน มาถึงประเทศไทยวันที่ 3 ต.ค. 65 และบินตรงมาถึงภูเก็ตวันที่ 4 ต.ค. 65 โดยเดินทางมากับเพื่อน 4 คน

จากการตรวจสอบประวัติ พบว่า ผู้ป่วยฝีดาษลิง มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิง ไปร้านอาหารอาหรับ แต่ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ และปฏิเสธเพศทางเลือก

  • วันที่ 11 ต.ค. 65 เริ่มมีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ มีตุ่มหนองขึ้นตามลำตัว อวัยวะเพศ ขา และหน้าอก
  • วันที่ 18 ต.ค. 65 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต และทางโรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จ.ภูเก็ต

ผลตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 12 ส่วนเพื่อนอีก 3 คน ไม่มีอาการ สำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

ขอบคุณข้อมูล : komchadluek, ch7

17 ตุลาคม 2565 – ฝีดาษลิง รายที่ 11 ชายไทย 40 ปี เดินทางกลับจากกาตาร์

วันนี้ (17 ต.ค.65) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง รายใหม่ เป็นชายชาวไทย อายุ 40 ปี ไปประกอบอาชีพให้บริการนวดที่ประเทศกาตาร์ เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 8 ต.ค.65 ด้วยอาการไข้ และมีผื่นที่บริเวณสะโพกมือแขน มีอาการป่วยก่อนเดินทางกลับไทย

วันที่ 15 ต.ค.65 เดินทางมาถึงประเทศไทย ได้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จ.ปทุมธานี แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นเข้าข่ายผู้ป่วยฝีดาษวานร จึงประสานส่งตัวมารักษาที่สถาบันบำราศนาดูร ผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อไวรัสฝีดาษวานร ถือเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 11 ของไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูล : อีจัน

ข่าวฝีดาษลิง 30 กันยายน 2565 – “ฝีดาษลิง” พบป่วยเพิ่มอีก 2 ราย ที่ ภูเก็ต เป็นรายที่ 9 และ 10 ในไทย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ได้รับรายงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ตรวจพบผู้ป่วยโรค “ฝีดาษลิง” จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 9 และรายที่ 10 ในจังหวัดภูเก็ต ประวัติพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

ผู้ป่วย ยืนยันรายที่ 9 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย อายุ 37 ปี อาชีพ พนักงานบริการ เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว ให้ประวัติว่าได้สัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวเยอรมัน อายุ 54 ปี แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยได้ข้อมูลว่าไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่น หรือตุ่มที่ผิวหนัง และไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ในช่วง 21 วัน ก่อนป่วย แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดชาวต่างชาติ แพทย์วินิจฉัยว่าสงสัยเป็น โรคฝีดาษลิง ส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ วันที่ 26 กันยายน 2565 ผลตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus กรมควบคุมโรคส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา

และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลในพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 27 – 30 กันยายน 2565 ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จนพบชาวเยอรมนี เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 10 จากผลการตรวจ PCR ข้อมูลการสอบสวนพบว่าติดเชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด

ขอบคุณข้อมูล : komchadluek, ch7

16 กันยายน 2565 – “ฝีดาษลิงรายที่ 8” ชายไทยอายุ 23 ปี กลับจากกาตาร์

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เป็นชายไทย อายุ 23 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไปประกอบอาชีพให้บริการที่ประเทศกาตาร์ จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีตุ่มบริเวณหลังลักษณะคล้ายสิว และเริ่มมีอาการป่วย เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565

  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • มีผื่นบริเวณฝ่ามือข้างขวา นิ้วกลางข้างซ้าย ใต้รักแร้ซ้าย แขนซ้าย หลัง ก้น และทวาร

**โดยรวมตุ่มแผลประมาณ 15 ตุ่ม**

ผู้ป่วยเดินทางกลับจากประเทศกาตาร์ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 หลังจากเดินทางเข้าประเทศไทยมีประวัติสัมผัสเพื่อนชาวไทย 2 คน โดยคนแรก ผู้ป่วยไปเก็บของที่ห้องของเพื่อน รับประทานอาหารร่วมกัน และเข้าใช้ห้องน้ำที่ห้องเพื่อน และคนที่สอง ผู้ป่วยนำกระเป๋าไปฝากเพื่อนโดยไม่ได้เข้าไปในห้องเพื่อน ซึ่งเพื่อนทั้งสองคนไม่ได้สัมผัสผิวหนัง หรือบริเวณที่มีตุ่มแผล และวันที่ 14 ก.ย. 2565 จึงเข้าไปตรวจที่สถาบันบำราศนราดูร แพทย์เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของสถาบันบำราศนราดูร และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ “ผลพบเชื้อฝีดาษลิง”

“สรุปได้ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศ และในขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการป่วยแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทางไปที่ชุมชน/เข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนพลุกพล่าน หลังพบอาการต้องสงสัยจึงเข้าพบแพทย์ในทันที”

ขอบคุณข้อมูล : mgronline, pptvhd36

ข่าวฝีดาษลิง 13 กันยายน 2565 – สหรัฐพบผู้เสียชีวิต “รายแรก” ในลอสแองเจลิส

กรมสาธารณสุข นครลอสแองเจลิส พร้อมด้วยศูนย์ควบคุม และป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ตามเวลาท้องถิ่น ว่า พบผู้อาศัยอยู่ในนครลอสแองเจลิส เสียชีวิตจากการติดเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นรายแรก

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ผู้เสียชีวิตมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง และได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพื่อเป็นการรักษาความลับ และรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้เสียชีวิต

ดร.วิลเลียม ชาฟฟ์เนอร์ ศาลตราจารย์ประจำหน่วยโรคระบาด ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University Medical Center) ให้ข้อมูลกับซีเอ็นเอ็นว่า ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถจัดการกับไวรัสที่เข้ามาในร่างกายได้ เมื่อไวรัสมีการเพิ่มจำนวน และแพร่กระจายไปยังระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จะนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติได้

ขอบคุณข้อมูล : prachachat, news.ch7

28 สิงหาคม 2565 – พบผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” รายที่ 7 มีไข้-ตุ่มหนอง ประวัติใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (28 สิงหาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสถาบันบำราศนราดูร ว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายที่ 7 เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จึงมอบหมายให้ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค กองระบาดวิทยา ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา สถาบันบำราศนราดูร ดำเนินการสอบสวนโรคในวันที่ 27 สิงหาคม 2565

จากการสอบถามประวัติของผู้ป่วย เป็นเพศหญิงสัญชาติไทย อายุ 37 ปี มีโรคประจำตัว อาศัยอยู่บ้านคนเดียวที่กรุงเทพฯ ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ และไม่ได้ไปประเทศที่มีการระบาด พบประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติผิวสีก่อนมีอาการป่วย ซึ่งจากการสอบสวนโรค และเวชระเบียนของสถาบันบำราศนราดูรพบว่า

ในระยะ 3 สัปดาห์ก่อนป่วย ไปเที่ยวย่านบันเทิงที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ

  • วันที่ 20 ส.ค. 65 ผู้ป่วยเริ่มมีไข้ต่ำๆ
  • วันที่ 21 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มเหมือนหนองขนาดเล็กบริเวณทวารหนัก
  • วันที่ 22 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มหนองลักษณะเดียวกันผุดมากขึ้น อาการเป็นมากขึ้น

ผู้ป่วยจึงเข้ารับการรักษาในสถาบันบำราศนราดูร  ต่อมาวันที่ 26 ส.ค. 65 แพทย์ทำการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจากเลือด ตุ่มหนอง และลำคอ ด้วยวิธีการ (Real-time PCR) ผล พบเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ในทุกสิ่งส่งตรวจ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีประวัติไปเยี่ยมญาติสูงอายุ ทำให้มีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 3 ราย จึงกำชับให้หน่วยงาน ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทั้ง 3 รายอย่างใกล้ชิด ซึ่งวันที่สัมผัสผู้ป่วยวันสุดท้ายคือวันที่ 21 ส.ค. 65 และจะครบกำหนดระยะเฝ้าระวังในวันที่ 11 ก.ย. 65

ขอบคุณข้อมูล : pptvhd36

ข่าวฝีดาษลิง 26 สิงหาคม 2565 – สธ. ยืนยัน ไทยพบผู้ป่วย “ฝีดาษลิง” รายที่ 6 เป็นหญิงไทย เพิ่งกลับจากกาตาร์

กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงยืนยันรายที่ 6 เป็นเพศหญิง สัญชาติไทย ประกอบอาชีพพนักงานนวดแผนไทย เดินทางกลับจากประเทศกาตาร์ มาประเทศไทยตรวจพบเชื้อฝีดาษลิง ที่โรงพยาบาลในจังหวัดมหาสารคาม

วันนี้ (26 ส.ค.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ว่าพบผู้ติดเชื้อยืนยันโรคฝีดาษลิง เป็นเพศหญิง อายุ 21 ปี สัญชาติไทย ไปประกอบอาชีพพนักงานนวดแผนไทยที่ประเทศกาตาร์

  • วันที่ 10 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ
  • วันที่ 21 ส.ค. 65 เดินทางกลับมาประเทศไทย และเดินทางกลับบ้านที่ จ.มหาสารคาม
  • วันที่ 22 ส.ค. 65 เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย พบว่ามีตุ่มน้ำใส และอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ
  • วันที่ 24 ส.ค. 65 ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโรคฝีดาษลิง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

และจากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด พบผู้สัมผัสจำนวน 28 คน แบ่งเป็นเสี่ยงสูง 4 คน และเสี่ยงต่ำ 24 คน และให้ผู้สัมผัสทุกคนสังเกตอาการตนเอง

“สรุปได้ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศ ขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการผื่นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในร่มผ้า อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่นๆ ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 6 ของประเทศไทย”

ขอบคุณข้อมูล : pptvhd36

23 สิงหาคม 2565 – “วชิรพยาบาล” ประกาศผู้ป่วยฝีดาษลิง กทม.รายแรก พ้นระยะแพร่เชื้อ-ออกจาก รพ.แล้ว

คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลออกประกาศ ผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของกรุงเทพมหานครหายป่วย พ้นระยะแพร่เชื้อ ออกจากโรงพยาบาลแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ลงนามออกประกาศ รายงาน กรณีผู้ป่วยฝีดาษลิงรายแรกของกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 2 โดยระบุว่า

ตามที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้รายงานกรณีผู้ป่วยฝีดาษวานรรายแรกของกรุงเทพมหานครไปแล้วเมื่อ 28 กรกฎาคมนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยไว้หอผู้ป่วยแยกโรค และให้การดูแลตามมาตรฐาน ซึ่งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ

โดยปัจจุบัน ทุกรอยโรคได้ตกสะเก็ด และหลุดทั้งหมด ผิวหนังปกติ พ้นระยะแพร่เชื้อแล้ว แพทย์จึงพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาล ในวันที่ 22 สิงหาคม เรียบร้อยแล้ว

ขอบคุณข้อมูล : mgronline

ข่าวฝีดาษลิง 22 สิงหาคม 2565 – รายแรก! ป่วย “ฝีดาษลิง-โควิด-HIV” พร้อมกัน เหตุมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน

อิตาลี พบชายป่วย 3 ไวรัส พร้อมกัน คือ

  • ฝีดาษลิง
  • โควิด-19
  • HIV-1

ข้อมูลจาก วารสารวิชาการ Journal of Infection ที่มีการรายงานเคสของผู้ป่วยฝีดาษลิงคนหนึ่ง ที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศสเปน ขณะที่อยู่ที่นั่นได้มีกิจกรรมทางเพศแบบชายรักชาย แบบไม่ป้องกัน โดยชายคนนี้ มีอาการนำประกอบด้วย ไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดศีรษะ และต่อมน้ำเหลืองโต ตรวจพบเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้นผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมีอาการ ตุ่มหนองบนร่างกายบริเวณ แขน ลำตัว ฝ่ามือ นิ้ว ขา สะโพก

“ผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการที่โรงพยาบาลยืนยันว่าผู้ป่วยรายนี้มีเชื้อฝีดาษลิง สายพันธุ์ที่ระบาดในสเปน ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.5.1 และยังมีเชื้อ HIV-1 อยู่ในร่างกาย ด้วย อาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยรับเชื้อ HIV มาก่อนหน้านี้ไม่นาน และไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้ออยู่”

สำหรับผู้ที่อาจสงสัยว่า “โควิด” กับ “ฝีดาษลิง” จะผสมกันเป็นไวรัสตัวใหม่ได้ หรือไม่ ต้องตอบว่า เป็นไปไม่ได้แน่นอนโควิดเป็นไวรัสที่มี “RNA” เป็นสารพันธุกรรม แต่ ฝีดาษลิงเป็น “DNA”

“ดังนั้น ไวรัสสองชนิดนี้ จึงไม่น่าจะผสมกันได้”

ขอบคุณข้อมูล : อีจัน ,thaipbs

17 สิงหาคม 2565 – กรมควบคุมโรค ย้ำ ถุงยาง ป้องกันโรคฝีดาษลิงไม่ได้!

วันนี้ (17 ส.ค.65) กรมควบคุมโรค เผยแพร่ข้อมูลเป็นอินโฟกราฟิกเรื่อง “หยุดพฤติกรรมเสี่ยงฝีดาษวานร โดยระบุว่า หยุดมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก / คู่นอนหลายคู่ แม้การใส่ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่! ไม่สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ เพราะการสัมผัสชิดเนื้อแนบเนื้อก็สามารถติดเชื้อได้

ทั้งนี้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวระหว่างแถลงยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 5 เมื่อวันที่ 15 ส.ค.65 ที่ผ่านมา ว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่าย หรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนังของผู้ป่วย จึงอยากแนะนำประชาชน รวมถึงผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานร หรือพำนักอาศัยที่ต่างประเทศ ให้ป้องกันตัวจากโรคฝีดาษวานร ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดโอกาสการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หรือสัตว์ติดเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของร่างกาย ไม่สัมผัสแนบชิด ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก

ขอบคุณข้อมูล : กรมควบคุมโรค , อีจัน

15 สิงหาคม 2565 – WHO เปลี่ยนชื่อฝีดาษลิง เป็น เคลด (Clade)

สำนักข่าวซินหัว รายงาน องค์การอนามัยโลก ออกแถลงการณ์ ข่าวฝีดาษลิง เมื่อวันศุกร์ (12 ส.ค.) ประกาศชื่อใหม่ของเชื้อไวรัสฝีดาษลิงชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นทางวัฒนธรรม หรือสังคม

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้กำหนด ชื่อใหม่ ให้กับสายพันธุ์หลัก 2 สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง

โดยสายพันธุ์ที่ราบลุ่มคองโก มีชื่อใหม่ว่า >>> สายพันธุ์เคลด 1 (Clade I)

สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีชื่อใหม่ว่า >>> สายพันธุ์เคลด 2 (Clade II)

โดยสายพันธุ์เคลด 2 (Clade II) ยังแบ่งย่อยออกมาเป็น 2 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่

  • สายพันธุ์ 2 เอ (IIa)
  • สายพันธุ์ 2 บี (IIb)

***ซึ่งสายพันธุ์ 2 บี คือกลุ่มสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้***

องค์การฯ ระบุว่าชื่อใหม่เหล่านี้ควรถูกปรับใช้ทันที ส่วนเชื้อไวรัสฯ ที่ค้นพบใหม่ โรคที่เกี่ยวข้อง และเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ควรถูกตั้งชื่อที่หลีกเลี่ยงการดูหมิ่นทางวัฒนธรรม สังคม ชาติ ภูมิภาค อาชีพ หรือชาติพันธุ์ และลดผลกระทบเชิงลบต่อการค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว หรือสวัสดิภาพสัตว์ให้เหลือน้อยที่สุด

ขอบคุณข้อมูล : chiangmainews

15 สิงหาคม 2565 – พบฝีดาษลิงรายที่ 5 หญิงวัย 25 ปี ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ข่าวฝีดาษลิง ประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงรายที่ 5 เป็นผู้หญิงไทย อายุ 25 ปี ไปอยู่ต่างประเทศ และมีอาการป่วยที่ต่างประเทศ และเดินทางกลับมาจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาถึงไทยวันที่ 14 ส.ค. เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระบบคัดกรอง ตรวจ และสังเกตอาการ พบเข้าข่ายสงสัย เนื่องจากดูมีอาการเหมือนไม่ค่อยสบาย พอเข้าไปสอบถามก็สังเกตเห็นตุ่ม จากการซักประวัติก็ให้ความร่วมมือดี จึงนำมารับการตรวจวินิจฉัยใน รพ. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นฝีดาษลิง เข้าสู่การรักษาตามระบบปกติ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนประวัติตามระบบ เบื้องต้นมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เนื่องจากอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งจุดที่มีคนต่างชาติไปรวมตัวกันถือว่าเป็นจุดที่มีการระบาด โดยเฉพาะตะวันออกกลางเป็นชุมทางที่คนทั่วโลกมารวมกันถือเป็นจุดเสี่ยง รวมถึงประเทศไทยมีคนต่างชาติเดินทางเข้าออกเยอะพอสมควร แต่โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย หรือทางหายใจเป็นหลัก การติดต่อคือสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ถ้าเราใช้ชีวิตปกติก็ไม่ต้องกังวลไป

ขอบคุณข้อมูล : springnews

5 สิงหาคม 2565 – ยืนยันฝีดาษลิงรายที่ 4 มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิง

อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวเป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2565 แต่ยังไปเที่ยวสถานบันเทิงพร้อมเพื่อนชาวไทย และชาวต่างชาติ

วันที่ 30 ก.ค. 2565 เริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขน ขา และลามไปทั่วร่างกายรวมถึงอวัยะเพศ วันที่ 3 ส.ค. 2565 จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. และห้องปฏิบัติการที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันพบเชื้อฝีดาษวานร (Monkeypox virus) วันที่ 4 ส.ค. 2565 ก่อนส่งตัวผู้ป่วยมารับการดูแลรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค

ขอบคุณข้อมูล : thecoverage

3 สิงหาคม 2565 – ยืนยันฝีดาษลิงรายที่ 3  เดินทางเข้าไทยที่จ.ภูเก็ต

กรมควบคุมโรคเผยพบผู้ป่วยฝีดาษวานร ยืนยันรายที่ 3  เดินทางเข้าไทยที่จ.ภูเก็ต  เบื้องต้นยังไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง  ส่วนเรื่องวัคซีนป้องกัน คาดเข้ามาไม่เกิน ส.ค.นี้  ขณะที่คกก.สร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ กำหนด 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรก ไม่มีประวัติติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูง  เช่น บุคลากรทางการแพทย์ฯ จนท.ห้องแล็บ  และกลุ่มสองมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยฝีดาษลิง  ขณะที่กรมการแพทย์เผยพบผู้ป่วยต้องรับรักษาใน รพ.ทุกราย

ยืนยันในรายที่ 3 เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมนี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งทางจังหวัดกำลังจะรายงานไทม์ไลน์ผู้ป่วยมาให้กรมควบคุมโรค โดยเบื้องต้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวเมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ จึงคาดว่า น่าจะติดเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเดินทางมาเที่ยวในไทย เคยไปๆ มาๆ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นผลยังไม่พบผู้ติดเชื้อในผู้สัมผัส แต่ตามแนวทางจะต้องให้สังเกตอาการ 21 วัน โดยสามารถไปไหนมาไหนได้โดยระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูล : thaich8

28 กรกฎาคม 2565 – พบฝีดาษลิงรายที่ 2 ในกรุงเทพฯ สปคม.เร่งสอบโรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานจากอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า วันนี้ สธ.โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 จากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล กรุงเทพมหานคร เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติ มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 จากนั้น 2 วัน เริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ 1 สัปดาห์ต่อมา มีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงไปตรวจที่ รพ. ขณะนี้ รับไว้ใน รพ.และติดตามผู้สัมผัสมาตรวจ และเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับชายรายดังกล่าว มีประวัติอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทางสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปสอบสวนโรคแล้วพบว่ามีผู้สัมผัสร่วมบ้าน 10 ราย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาเชื้อ และให้สังเกตอาการ 21 วัน อย่างไรก็ตาม ทีมสอบสวนโรคกำลังเร่งหาผู้สัมผัสรายอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ หากประชาชนที่มีสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้

ขอบคุณข้อมูล : matichon

ข่าวฝีดาษลิง 21 กรกฎาคม 2565 – กรมควบคุมโรคยืนยันพบ “ฝีดาษลิง” รายแรกในไทย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยฝีดาษลิง รายแรกในไทยแล้ว โผล่ภูเก็ตเป็นชายชาวไนจีเรีย ข่าวฝีดาษลิง ล่าสุดวันนี้ 21 ก.ค. ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) กองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2565 พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย

ผลสรุปว่า เป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิง ที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต เพื่อมอบหมายเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อดำเนินการติดตาม และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมพร้อมประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มข้น

ขอบคุณข้อมูล : thainewsonline

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า