โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่ติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการร่วมเพศ บางโรคอาจติดต่อกันโดยการสัมผัสทางเพศ หรือการถ่ายทอดสู่ลูกขณะอยู่ในครรภ์ ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริมอวัยวะเพศ ฝีมะม่วง หนองใน หนองในเทียม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก พยาธิช่องคลอด เชื้อราช่องคลอด โรคโลน
โรคโลน คืออะไร ?
โรคโลน (Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice) คือ แมลงขนาดเล็กที่อยู่ในกลุ่มของปรสิต มีขนาดเล็กมากประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร มีขา 3 คู่ แต่ที่ปลายขาหน้าจะมีลักษณะพิเศษเป็นก้ามคล้ายขาปู โลนสามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีกิจกรรมทางเพศทุกชนิด
โลนสามารถดำรงวงจรชีวิตได้ด้วยการกินเลือดมนุษย์ และทำให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรงในบริเวณนั้น โลนมักจะอาศัยอยู่บริเวณขนหัวหน่าวและแพร่กระจายผ่านการสัมผัส ในบางกรณีอาจพบได้ในขนตา ขนรักแร้ ขนหน้าอก หนวดเครา ขนคิ้ว และขนบนใบหน้า แต่จะไม่พบบนเส้นผม โลนจะมีขนาดเล็กกว่าเหาบนหัว การแพร่ระบาดของโลนส่วนมากติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ตัวโลนที่เกาะอยู่ตามเส้นขนนั้นจะมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียจะวางไข่บนเส้นขน ซึ่งโดยปกติแล้วโลนตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง เมื่อวางไข่แล้ว อีก 7 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย เพื่อผสมพันธุ์และออกไข่ต่อไป
โลนเป็นหนึ่งในสามประเภทของเหาที่รบกวนมนุษย์
- เหาบนหัว Pediculus humanus capitis
- เหาบนร่างกาย Pediculus humanus corporis
- เหาในอวัยวะเพศ หรือ โลน
อาการของโรคโลน
อาการของ โรคโลน จะเริ่มมีอาการจะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ ซึ่งอาการในผู้หญิง และผู้ชายจะคล้ายกัน โดยที่เห็นชัดเจนคือ อาการคันบริเวณอวัยวะเพศ บริเวณทวารหนัก หรืออาจมีอาการคันที่บริเวณอื่น ๆ เช่น ใต้รักแร้ บริเวณที่มีขน เช่น ขา หน้าอก ท้อง หรือหลัง หนวด เครา คิ้ว หรือขนตา
บ่อยครั้งที่พบว่ามีรอยเการุนแรง จนเลือดออก หากมีโลนที่อวัยวะเพศ อาจมองเห็นอุจจาระของโลนเป็นจุดสีดำ ๆ ติดกางเกงใน และมองเห็นไข่โลนที่ขนตามร่างกาย โดยเห็นเป็นเม็ดสีน้ำตาล เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นเป็นจุดสีแดง ซึ่งเป็นรอยที่โลนดูดเลือดเป็นอาหาร หากลองสังเกตให้ดีจะเห็นโลนเดินอยู่บนเตียงนอน มันมักจะหยุดอยู่นิ่งเมื่อเปิดไฟและเริ่มเดินอีกครั้งเมื่อดับไฟ
ในบางรายบริเวณที่ตัวโลนกัดและดูดเลือดจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดตุ่มหนองบริเวณรากขน และหากมีโลนอาศัยอยู่บริเวณขนตาอาจเสี่ยงต่ออาการเยื่อบุตาอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งอาการคัน จะคันมากขึ้นในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น
- มีไข้ต่ำ ๆ
- หงุดหงิด ฉุนเฉียว
- ไม่มีแรง
- มีรอยช้ำเล็ก ๆ จากการกัดบนผิวหนังบริเวณต้นขา หรือหน้าท้องส่วนล่าง
- มีผงลักษณะสีดำติดที่กางเกงชั้นใน
ตัวโลนที่พบได้ในร่างกายมนุษย์มีทั้งหมด 3 ระยะ คือ
- ไข่ (Nit) มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่อาจเห็นได้ด้วยการใช้แว่นขยาย ไข่ของโลนมีสีขาว หรือสีเหลือง และมักจะเกาะอยู่ตามเส้นขน ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 6 – 10 วัน ก่อนจะออกมาเป็นตัวอ่อน
- ตัวอ่อน (Nymph) หลังจากไข่ฟักตัวแล้ว ตัวอ่อนของโลนจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอวัยวะเพศ และอาศัยเลือดของมนุษย์เป็นอาหาร ลักษณะของตัวอ่อนจะคล้ายกับตัวโตเต็มไว แต่มีขนาดเล็กกว่า และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าจะโตเต็มไว
- ตัวเต็มวัย (Adult) ลักษณะเด่นคือ มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีเทาอ่อน ๆ มีหกขา โดยขาหน้า 2 ขาจะใหญ่และมีลักษณะคล้ายก้ามปู ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ หากตัวโลนร่วงจากร่างกายมนุษย์ก็จะตายเองภายใน 1 – 2 วัน
ระยะฟักตัวของโรค
หลังจากติดโลน จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ในการแสดงอาการ
สาเหตุของ โรคโลน
เกิดจากแมลงขนาดเล็กที่มีชื่อว่า โลน (Pubic Lice) ซึ่งเป็นแมลงที่ไม่สามารถบิน หรือกระโดดได้ และต้องการเลือดมนุษย์เพื่อดำรงชีวิต โลนติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่น การกอด จูบ แต่ที่มักพบได้บ่อยที่สุดคือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญคือโลนไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย หรือการใช้ยาคุมกำเนิด โลนมักจะพบได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือวัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แล้ว แต่ถ้าพบในเด็กอาจเป็นสัญญาณของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
โดยสามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ
- ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากตัวโลนมักอาศัยอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเวลามีเพศสัมพันธ์ โลนสามารถติดไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่าย ๆ
- ติดต่อจากการใช้ของใช้ร่วมกัน หากใครในบ้านเป็นโรคโลน แล้วไม่ระวังตัวเอง และไปใช้ผ้าเช็ดตัว ใส่เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน หรือแม้กระทั่งนั่งบนโถส้วมที่มีเชื้อโรคโลนอยู่ ก็สามารถทำให้เกิดการติดโรคโลนได้ เพราะโลนสามารถมีชีวิตนอกร่างกายได้นานถึง 24 ชั่วโมง ถึงโลนจะไม่สามารถกระโดดได้ แต่มันจะค่อยๆ คืบคลานไปตามขนและพื้นผิว
การรักษา โรคโลน
โดยทั่วไปแล้วโลนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยแชมพู โลชั่น หรือครีมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงจำพวกโลนหรือเหา โดยแพทย์หรือเกสัชจะแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้มากที่สุด ผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเอกสารกำกับยา ตัวยาที่ใช้ได้แก่ เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งมีวิธีการใช้ดังต่อไปนี้
- ทายาบริเวณที่มีอาการ หรือบริเวณที่มีเส้นขนเยอะ ๆ เช่น บริเวณอวัยวะเพศ คิ้ว หนวด เครา ยาบางชนิดอาจจำเป็นต้องทาทั่วร่างกายเพื่อป้องกันโลน
- หากใช้ยาดังกล่าวใกล้กับตาเกินไป จนตัวยาเข้าตาควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด
- ยาบางชนิดอาจต้องทาทิ้งไว้แล้วล้างออกในภายหลัง หากครบกำหนดเวลาแล้วควรล้างออกให้สะอาด
การรักษาด้วยยาครั้งแรกมักจะเป็นการกำจัดตัวโลนที่อยู่ในร่างกาย ดังนั้น ไข่ที่ยังไม่ฟักจึงไม่ถูกทำลาย ภายหลังการใช้ยาครั้งแรก 3 – 7 วัน จึงควรใช้ซ้ำเพื่อกำจัดตัวโลนที่เพิ่งออกมาจากไข่ แต่หากใช้ยาซ้ำเป็นครั้งที่ 2 แล้วอาการยังไม่ทุเลาลง หรือการรักษาไม่ได้ผล ควรกลับไปปรึกษาแพทย์ และไม่ควรใช้ยาซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น ผิวหนังระคายเคือง มีอาการคัน ผิวหนังแดง หรือปวดแสบปวดร้อน เป็นต้น
การป้องกัน โรคโลน
- หลีกเลี่ยงการมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ที่ติดโลน เนื่องจากการมีกิจกรรมทางเพศร่วมกันในระหว่างที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดโลน จะทำให้เกิดแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะรักษาโลนให้หายดีก่อน
- หลีกเลี่ยงการใช้ เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หรืออุปกรณ์เครื่องนอนกับผู้ที่ติดโลน แม้ว่ามีโอกาสน้อยในการติดโลนผ่านเสื้อผ้า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะโลนสามารถอาศัยอยู่ในเนื้อผ้าได้ในระยะสั้น ๆ หากใช้สิ่งของดังกล่าวต่อกันก็อาจทำให้ตัวโลนแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้
- อาบน้ำให้สะอาด ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโลน
- หลีกเลี่ยงการลองชุดในห้างสรรพสินค้า ในการซื้อเสื้อผ้า ควรหลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้าจะดีที่สุด โดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ หากต้องลองควรสวมใส่ชุดชั้นในขณะลองเพื่อป้องกันการติดโลน หรือเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย
- หากรู้ว่าคนนั้นเป็นโรคโลน ต้องไม่ใช้เตียง หรือห้องน้ำร่วมกัน จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาหายจากโรคโลนแล้วเท่าน้้น
- ถ้าตัวเราเองติดโรคโลน ควรนำเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอนหรือของใช้ที่ต้มได้ ไปต้มในน้ำเดือดเพื่อฆ่าตัวโลนให้หมด ถ้าต้มไม่ได้ ให้นำใส่ถุงมัดให้แน่น วางทิ้งไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ตัวโลนตายสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดเสมอ
ถึงแม้ว่าโรคโลนจะรักษาได้ แต่จะดีกว่าไหมหากเราป้องกันไว้ก่อน โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโลน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้คุณห่างไกลจากโรคโลนแล้วครับ