วันเอดส์โลก Equalize : ทำให้เท่าเทียม

วันเอดส์โลก Equalize ทำให้เท่าเทียม

วันเอดส์โลก ถูกนำกลับมาพูดถึง ในทุกปีเมื่อถึงวันที่ 1 ธันวาคม วันสำคัญนี้กำหนดขึ้นมา เพื่อเป็นการรณรงค์ ยับยั้ง การแพร่เชื้อเอชไอวี ที่ยังคงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลโดยเฉลี่ย ปี พ.ศ. 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละประมาณ 16 คนต่อวันเลยทีเดียว และยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้สถานะเอชไอวีของตัวเอง ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที เสี่ยงแพร่เชื้อให้กับคู่นอน และเสี่ยงต่อโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสภาพร่างกายอ่อนแอลง

ประวัติ วันเอดส์โลก

โรคเอดส์ ถูกพบอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักชาย ป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อนิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่แต่เดิมเป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก่อน โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จากการศึกษาย้อนหลัง ในปี พ.ศ. 2503 โรคเอดส์นี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบอัฟริกาตะวันตก และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันเอดส์โลก” (World AIDS Day) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2531 เป็นปีแรก โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
  • เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
  • เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อและการเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์
  • เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุนให้มีมาตรการการป้องกันให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ
เอชไอวี ≠ เอดส์ (วันเอดส์โลก)

โรคเอดส์ คืออะไร

โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) เป็นภาวะการเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่เข้าโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และลดความแข็งแรงของร่างกายที่จะต่อต้านเชื้อโรคอื่นๆ จึงทำให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย และทำให้เสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษา

อาการของโรคเอดส์

วิธีที่จะรู้ว่า คุณมีหรือไม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่นั้น ไม่ใช่ดูได้จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเชื้อเอชไอวีไม่ได้ทำปฎิกิริยากับร่างกายรวดเร็ว และยังมีปัจจัยอื่นๆ ของสุขภาพแต่ละคนด้วย การที่จะรู้ว่าติดเอชไอวีได้ จำเป็นจะต้องเจาะเลือดตรวจเท่านั้น เป็นสิ่งสำคัญที่เมื่อคุณรู้ตัวเร็วเท่าไหร่ คุณก็มีโอกาสที่จะดูแลตัวเองได้ทันที ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหรือมีอาการ

อาการของคนที่ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกๆ แทบจะเหมือนกับโรคอื่นทั่วไป โดยไม่สามารถระบุได้เฉพาะเจาะจงว่าอาการนี้ เป็นโรคนี้ สามารถแบ่งระยะอาการเป็น 3 ระยะด้วยกัน ดังนี้

ระยะแรก

หรือเรียกว่า “ระยะการติดเชื้อเอชไอวีแบบเฉียบพลัน” จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย แขนขาชา ท้องเสีย มีผื่นแดง มีแผลในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต มีเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน เป็นผลมาจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาการในระยะแรกนี้สามารถหายไปได้เอง

ระยะสงบทางคลินิก

หรือเรียกว่า “ระยะการติดเชื้อเอชไอวีแบบเรื้อรัง” จะเป็นช่วงที่แทบจะไม่มีอาการใดๆ หรือมีเพียงเล็กน้อยมาก ร่างกายจะมีการเพิ่มปริมาณของเชื้อเอชไอวีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปในอัตราที่ต่ำ เรียกว่าค่อยๆ แพร่เชื้อกินภูมิคุ้มกันของร่างกายไปนานกว่า 10 ปี

ระยะสุดท้าย

หรือเรียกว่า “ระยะโรคเอดส์” เป็นช่วงที่เชื้อเอชไอวีได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มขั้นจนเข้าสู่ภาวะเอดส์ ผู้ป่วยจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น มีไข้ ท้องเสียเรื้อรังติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ น้ำหนักลด มีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ เริมในช่องปาก งูสวัด เริ่มสูญเสียความจำ ปอดอักเสบ วัณโรค เป็นต้น

“Equalize : ทำให้เท่าเทียม”

เป้าหมายหลักของการยุติปัญหาเอดส์

เป้าหมายที่กำหนดขึ้น ตระหนักถึงความสำคัญของโรคเอดส์ที่ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย
มีอยู่ด้วยกัน 3 ม. คือ ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา

  • ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้ไม่เกิน 1,000 คนต่อปี
  • ลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้ไม่เกิน 4,000 คนต่อปี
  • ลดการตีตราและเลือกปฎิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ดังนั้น เพื่อประเด็นการ “ทำให้เท่าเทียม” จึงเริ่มต้นได้ที่พวกเราทุกคน โดยการไม่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อสร้างค่านิยมให้สังคมไทยใหม่ว่า

  • เอชไอวี/เอดส์ เป็นเรื่องปกติ
  • การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องปกติ
  • การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นเรื่องปกติ
  • การเข้าถึงบริการการป้องกันและการรักษาเอชไอวี เป็นเรื่องปกติ

การสนับสนุนความเท่าเทียมในการให้บริการทุกรูปแบบ ได้แก่

ขับเคลื่อนประเด็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ

ในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ซึ่งหากพบเห็นการถูกตีตรา และเลือกปฏิบัติ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะร้องเรียนการละเมิดนี้ผ่านเว็บไซต์ Crisis response system: CRS ได้ทันที ซึ่งเป็นช่องทางการร้องเรียนที่เข้าถึงได้ง่ายผ่านออนไลน์ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติกล้าที่จะเรียกร้อง และมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเท่าเทียมเหมือนกันทุกคน

ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย

การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับใครก็ตาม ให้ทุกคนมองเป็นเรื่องปกติ (Normalize Condom Use) ทำการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี เพราะถือเป็นการรับผิดชอบต่อคู่นอนของตนเองและสังคม โดยทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงถุงยางอนามัยเพื่อการป้องกัน สามารถขอถุงยางอนามัยได้ฟรีที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลรัฐ และสามารถสอบถามข้อมูลการขอรับบริการถุงยางอนามัยได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ

ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง

ส่งเสริมการเข้าถึงชุดตรวจหาการติดเชื้อด้วยตนเอง (HIV Self-Test) โดยเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ทุกคนได้ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง สามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ง่ายด้วยความสมัครใจ เป็นการผลักดันให้ทุกคนตรวจเอชไอวีได้ทุกที่ ทุกเวลา อย่างเท่าเทียม โดยสามารถหาซื้อชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเองได้ที่ร้านขายยาทั่วไป ถึงแม้ในปัจจุบันอาจยังมีการจำหน่ายไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และถึงแม้ทำการตรวจด้วยตัวเองแล้วพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ควรตรวจยืนยันผลอีกครั้งที่โรงพยาบาล และต่อไปในอนาคตอาจมีชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่คนไทยสามารถเข้าถึงชุดตรวจเอชไอวีได้ฟรี

การบริการด้านเอชไอวี

การจัดบริการเอชไอวีโดยชุมชนในรูปแบบการให้บริการ โดยองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมความ เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเอดส์ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายในชุมชน

วันเอดส์โลก Equalize ทำให้เท่าเทียม

วันเอดส์โลก เป็นเพียงวันหนึ่งวันที่ย้ำเตือนในทุกๆ ปี ให้ทุกคนเข้าใจเรื่องไวรัสเอชไอวี และโรคเอดส์อย่างถูกต้อง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การนำเสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ จะช่วยสร้างความเท่าเทียมกับทุกคนที่มีเชื้ออยู่ และคนที่ยังไม่มีเชื้อ มีการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสมทั่วประเทศได้ต่อไปในอนาคต

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า