เทศกาลเวิลด์ไพรด์ เฉลิมฉลองความหลากหลาย เส้นทางสู่ความเท่าเทียม

เทศกาลเวิลด์ไพรด์

ประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดงาน Sydney WorldPride 2023 ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดติดต่อกันนานถึง 17 วัน ผู้ร่วมงานกว่าครึ่งแสนร่วมชมพาเหรดงานสุดยิ่งใหญ่ มีการปิดสะพานที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 50,000 คน สามารถเดินขบวนบนสะพาน ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ รวมระยะทางยาวประมาณ 4 กม. กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปิดท้าย เทศกาลเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ที่หลายประเทศทั่วโลกสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครได้ประกาศในงาน Bangkok Pride 2023 วางแพลนว่าจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2028

เป้าหมายของการจัดงาน เทศกาลเวิลด์ไพรด์

เป้าหมาย เวิลด์ไพรด์ (World Pride) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2540 เพื่อสนับสนุน และสร้างความตระหนักให้ทั้งโลกรู้จัก และเข้าใจสังคมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การจัดกิจกรรมเดินพาเหรดมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจะจัดเป็นประจำทุกๆ 2 ปี

งานบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) ที่ประเทศไทย

จัดงานที่ชื่อว่า บางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride) โดยวาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธาน และผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ซึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรดของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเมื่อปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนชื่อใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดงาน World Pride ในปี ค.ศ.2028 การจัดงาน World Pride  ซึ่งต้องได้การยอมรับจากชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ ความพร้อมของเมือง รวมถึงการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

ความหลากหลายทางเพศยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก

วาดดาวชี้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึง Medical Hub Tourism จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดีในหมู่ชาวต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการยืนยันเพศ และสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ พร้อมทั้งมีการรับรองด้านสุขภาพจิตด้วย อีกทั้งยังมีราคาที่จับต้องได้พร้อมด้วยบริการที่สะดวกสบายรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ซึ่งวาดดาวมองว่าหากรัฐบาลมีการเก็บข้อมูลตัวเลขในส่วนนี้อย่างจริงจัง และมีการสนับสนุนธุรกิจ Medical Hub Tourism ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ ไปทั่วประเทศ ก็อาจสร้างเม็ดเงินได้ถึงหลักแสนล้านบาท

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล ในงาน บางกอกไพรด์ 2023

คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลมองเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ Pride Month แต่คือ Pride Always และจะร่วมมือร่วมใจกับผู้ว่าฯ กทม. ทำเรื่องนี้ โดย 45 ร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอต่อสภามีอย่างน้อย 2 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งจะนำกิจกรรมระดับโลก World Pride มาจัดที่กรุงเทพมหานครในปี 2028 ให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสังคมไทยว่า คนเท่ากัน 

“ในฐานะที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องมองเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ Pride Month มันคือ Pride Always ก็ต้องพูดให้ชัดๆ ว่าภายใต้รัฐบาลของพรรคก้าวไกล ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำงานกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการนำ เทศกาลเวิลด์ไพรด์ World Pride 2028 มาจัดที่กรุงเทพฯ ให้จงได้”

เป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride

การจัดงานบางกอกไพรด์มีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก แนวคิดสำคัญคือ Beyond Gender เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

4 ประเด็นสำคัญของ เทศกาลเวิลด์ไพรด์ ที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม

1. สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) คือ การสมรสระหว่างบุคคลสองคน ไม่จำกัดเฉพาะชาย และหญิงเท่านั้น เป็นการรับรองสิทธิในการสมรสให้กับบุคคลทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition) คือการที่รัฐ หรือหน่วยงานทางกฎหมายรับรองเพศสภาพที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล โดยทั่วไปแล้ว การรับรองเพศสภาพจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเอกสารทางกฎหมายต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารทางการศึกษา หรือเอกสารทางการแพทย์ เพื่อให้เพศสภาพที่ระบุในเอกสารเหล่านั้นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล

3. สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights) คือสิทธิในการทำงานทางเพศที่ครอบคลุมถึงสิทธิ และเสรีภาพในการทำงานทางเพศอย่างปลอดภัย เท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิเหล่านี้รวมถึง

  • สิทธิในการประกอบอาชีพการทำงานทางเพศอย่างอิสระ และไม่ถูกจำกัด
  • สิทธิในการได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการที่เท่าเทียมกับแรงงานทั่วไป
  • สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และความปลอดภัย
  • สิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคม และกฎหมาย
  • สิทธิในการได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิด และความรุนแรง

4. สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health) คือสิทธิ และสวัสดิการของรัฐที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สวัสดิการเหล่านี้จะช่วยให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข และสมศักดิ์ศรี โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ ครอบคลุมถึงสิทธิ และสวัสดิการต่างๆ เช่น

  • สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และสาธารณสุข
  • สิทธิในการได้รับการศึกษา และการพัฒนาตนเอง
  • สิทธิในการประกอบอาชีพ และการทำงานอย่างเท่าเทียม
  • สิทธิในการได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิด และความรุนแรง
  • สิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคม และกฎหมาย

วาดดาว ชุมาพร ประธาน และผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ ได้พูดถึงการจัดงานระดับโลก เทศกาลเวิลด์ไพรด์ World Pride

ชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก เทศกาลเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ในปี 2028 ได้ โดยเป้าหมายในการจัดงานไม่เพียงเป็นการเฉลิมฉลอง แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี พร้อมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และหากถ้า Bangkok Pride ทำได้สำเร็จจะถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชีย และเป็นการเปิดประตูความหลากหลายทางเพศให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้

เราเชื่อว่าการที่หลายประเทศทั่วโลกหรือต้องการเป็นเจ้าภาพงาน World Pride มาก เพราะหัวใจสำคัญคือต้องการเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ หากรัฐบาล หรือภาคธุรกิจ หอการค้าต่างๆ มองเห็นความสำคัญว่าเม็ดเงินก้อนนี้ที่จะกลายเป็นธุรกิจใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ เราอย่าพลาดโอกาสนี้ เพราะเราเชื่อว่าหลายประเทศอยากได้เม็ดเงินก้อนนี้ ไม่อย่างนั้นเขาไม่รีบแก้กฎหมายจำนวนมาก เราก็หวังว่า 5-6 ปีข้างหน้า ถ้าวันหนึ่งเห็นว่า World Pride กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็คิดว่าวันนั้นอาจจะเปิด paradigm ใหม่ในความคิดของผู้คน ที่เปิดพื้นที่ให้กับพหุวัฒนธรรมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือความหลากหลายทางเพศ”

การขับเคลื่อนเมืองแห่งความหลากหลาย พร้อมโอบอุ้มทุกความแตกต่าง ต้องเตรียมความพร้อมของ Human Right ก่อน อย่างเช่น ถ้ามีคนหลักหมื่นซึ่งเป็น LGBTQ+ โรงแรมไหนบ้างที่รองรับพวกเราโดยที่ไม่กีดกันทางเพศ มีห้องน้ำที่ไม่ได้เป็น binary restroom นี่เป็นสิ่งที่เมืองจะต้องเริ่มพัฒนาให้เห็นว่าคุณเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ซึ่งจะทำให้สังคมลดการแบ่งแยก และมีความเท่าเทียมมากขึ้น