ซีรีย์วายไทย เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกับการเป็น ‘ซอร์ฟพาวเวอร์’ ให้ต่างชาติสนใจ? เรียกได้ว่าเป็นประเภทของสื่ออีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจทั้งสำหรับตัวนักแสดง และค่ายผู้จัดทำสำหรับการทำซีรีย์วายไทย หรือที่เราเข้าใจกันว่าเป็นหนังสำหรับเพศทางเลือก แม้ที่จริงแล้ว ซีรีย์วายไทย จะทำมาเพื่อขายตลาดอื่น ที่ไม่ใช่เพศทางเลือกก็ตามแต่
ถ้านับกันจริงๆ จังๆ ก็ต้องบอกว่า ‘เลิฟซิก’ ในปีพ.ศ. 2557 เป็นซีรีย์ชายชายที่มาก่อนกาลจริงๆ ถ้าคุณสังเกตเห็นอะไรบางอย่างจะตกใจมากขึ้นไปอีกว่ามันออนแอร์ผ่านฟรีทีวีอย่างช่อง 9 ในตอนนั้น และหลังจากนั้นเราก็แทบจะไม่ได้ซีรีย์ชายชายผ่านหน้าสื่อฟรีทีวีอีกเลย จนกระทั้งระบบช่องปรับปรุงไปสู่ยุคดิจิทัล ผู้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการรับชม การแข่งขันทางการตลาดดุเดือดมากขึ้น พอมีความต้องการของผู้ชมมากเข้า ผู้จัดก็ต้องตอบสนองต่อตลาดที่มีกำลังซื้อเป็นธรรมดา
เช่นเดียวกันกับสื่อหน้าจอทีวี ก่อนจะมาเป็นซีรีย์ ในวงการหนังสือแวดวงวรรณกรรมเอง ‘วาย’ หรือ YAOI (ยาโอย) ก็เคยผ่านยุคมืดมาก่อน ทั้งจากบอร์ดผู้ให้บริการในการลงนิยายหรือแม้แต่ตัวสำนักพิมพ์ที่ต่างหมางเมิน และมองว่าเป็นประเภทหนังสือที่ไม่สามารถขายได้ผ่านหน้าร้าน (แม้ปัจจุบันคุณจะเห็นโซนหนังสือขนาดใหญ่แยกออกมาเป็นเอกเทศพร้อมประกาศแบบตะโกนว่าฉันคือนิยายวายจ้า เข้ามาอ่านฉันสิจ๊ะก็ตามแต่)
จนถึงวัน และเวลาที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนมากขึ้นจนสามารถขึ้นมาอยู่บนดินได้อย่างเต็มภาคภูมิในฐานะประเภทของวรรณกรรมอีกเรื่องที่ไม่ใช่แค่ชายชาย แม้แต่ฝั่งหญิงหญิงเอง หรือ LGBT ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
แล้วนิยายวายสัมพันธ์กันอย่างไร? กับ ซีรีย์วาย
เพราะหลายครั้งแล้วนิยายที่ได้รับการคัดเลือกมาทำเป็นบท ซีรีย์วายไทย มักจะเป็นนิยายชื่อดัง มีฐานแฟนคลับนิยายที่พร้อมซัพพอร์ต พร้อมตามต่อแล้วว่าตัวละครที่พวกเขาชื่นชอบนั้นจะออกมาเป็น “มนุษย์” ในรูปแบบลักษณะใด รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ทำให้หลายเรื่องเองก็มีแฟนคลับติดตามตั้งแต่เริ่มถ่ายทำ เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นแฟนคลับจากตัวหนังสือมาก่อนนั้นเอง (ตรงนี้ถ้าเปรียบเทียบกับละครชายหญิงสมัยก่อนแล้วต้องนับว่าใกล้เคียงกันอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เห็นภาพว่าจริงๆ ‘ด้อม’ หรือติ่งมีมาตั้งแต่แต่ก่อนแล้ว แค่เราไม่ได้รับรู้การมีตัวตนอยู่ของพวกเขา)
ในอีกฟากเอง ซีรีย์วาย เป็นก้าวสำคัญสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นดาราที่ประชาชนรู้จักจากการที่ไม่ได้มีฐานแฟนคลับอะไรมาก่อนเลย แต่ก้าวนี้เองก็เป็นอีกก้าวที่จะเป็นเงาตามตัวนักแสดงไปเรื่อยๆ เหมือนกัน คุณสามารถโด่งดังได้จากการมีคู่จิ้น มี ‘โมเม้นท์’ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ หรือปรุงแต่งเพื่อการตลาด แต่มันจะยากถ้าคุณคิดจะขยับไปแสดงเรื่องอื่นในฐานะบทบาทของ ‘ผู้ชาย’ เพราะภาพจำคุณจะถูกผูกมัดเอาไว้แล้วว่าคุณไม่ใช่ผู้ชาย
ยังไม่รวมถึงกลุ่มแฟนคลับเดิมที่อาจจะไม่ได้มองว่าคุณเป็นดารา หรือนักแสดง แต่มองคุณเป็นอีกคู่จิ้นนึงของอีกคนทั้งหมดเป็นสิ่งที่คุณต้องเจอ และรับมือหากคุณไม่ได้คิดจะหยุดเส้นทางของตัวเองไว้กับคู่จิ้น และซีรีย์เรื่องเดียว
ถึงจะเป็นแบบนั้นแต่ก็ยังมีนักแสดงอีกมากที่พร้อมจะทุ่มเทให้กับซีรีย์วายเรื่องแรกของตนเอง เพราะมันมีหลักฐานประจักษ์อย่างว่า ‘ซีรีย์วาย’ ทำกำไรมากแค่ไหน ทั้งในแง่ตัวเลขของเรตติ้ง และกำไรที่จับต้องได้จากากรบริหารงานทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับนักแสดงนำสองท่านของเรื่อง และนี่เองที่เป็นอีกปัจจัยว่าทำไมแม้แต่ช่องทีวีธรรมดาอย่างช่อง 3 ของไทยยังต้องลงมาเล่นในตลาดนี้ เพราะถ้าคุณสามารถทำงานตอบสนองแฟนคลับได้ถึงขีดสุด แฟนคลับก็พร้อมตอบสนองคุณทุกช่องทาง ทั้งทางตรง และทางอ้อม (นี่เรายังไม่พูดถึงแฟนคลับที่เป็นกลุ่มนอกประเทศที่ก็มีค่าเฉลี่ยใช้จ่ายสูงต่อหัวด้วยซ้ำ)
ซีรีย์วาย สามารถเป็นซอร์ฟพาวเวอร์ให้กับประเทศไทยได้ หรือไม่?
คำตอบคือ สามารถเป็นไปได้ และหรือจริงๆ มันก็เป็นไปแล้ว และเป็นไปได้ด้วยดีมากๆ ด้วย แต่แค่ไม่มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ หรือองค์กรอื่นๆ ที่มีหน้าที่ตรงนี้ เพราะพวกเขามองเห็นภาพไม่ตรงกันกับคนทำงาน
ซอร์ฟพาวเวอร์ หรือ ‘อำนาจละมุน’ แท้จริงแล้ว คือที่เราคล้อยตามบางสิ่งบางอย่างที่เขาไม่ได้สื่อสารกับเราโดยตรง เราดูซีรีย์เกาหลี เห็นฉากสวยๆ แล้วอยากไปเที่ยวตามนั้น ก็ถือเป็นซอร์ฟพาวเวอร์ของประเทศเกาหลีแล้ว คุณทราบไหมว่าตอนจบของซีรีย์วายเรื่องหนึ่งติดเทรนด์ความสนใจจากเว้ยป้อ หรือเว็บบอร์ดของจีน หรือแม้แต่เทรนด์ทวิตเตอร์ของต่างชาติแม้แต่เทรนด์โลกก็ยังเคยติดอันดับมาแล้ว นั้นแหละคือสิ่งที่บ่งบอกว่าต่างชาติให้ความสนใจกับสื่อวายจากไทยมากแค่ไหน
ซีรีย์วายไทย นำเสนออะไรบ้าง?
มันน่าเศร้าที่หลายครั้งแล้วผู้จัด และนักแสดงไม่สามารถออกจากกรอบที่วางไว้ได้ ทั้งวิถีของเนื้อเรื่องที่เป็นซีรีย์ในชีวิตมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ไปเที่ยวในสถานที่ๆ งดงามเสียเท่าไหร่ ไม่ได้แสดงอะไรที่ทำให้คนอยากกิน อยากใช้ อยากทำตาม หรือตัวผู้จัดเองก็ไม่ได้คำนึงว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไร เน้นไปที่การขายซีนความสัมพันธ์ หรือเพศสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสองคนมากกว่า จนทำให้ “ส่วนที่สามารถส่งออกได้” ไม่ได้ทำงานตามที่มันควรจะทำ
ถึงจะทุลักทุเลแบบนั้นไปบ้าง แต่หากมองกันอย่าง to be fair แค่การที่ซีรีย์วายโด่งดังในต่างประเทศ จนมีงานมีตติ้ง มีงานพบปะแฟนคลับ หรือแม้แต่คอนเสิร์ต เท่านั้นก็ชักนำให้เกิดการสร้างรายได้ตั้งแต่เรียกแฟนคลับจากต่างประเทศมาที่ประเทศไทย มากินมาใช้จ่ายที่นี้ ไปจนถึงการสนับสนุนสินค้าที่คนไทยทำด้วยกันเอง
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจต่อไปในอนาคตข้างหน้า หากภาครัฐมองเห็นสิ่งเดียวกันกับที่สื่อวายมองเห็น ผู้จัด และนักแสดงก้าวออกจากคอมฟอร์ดโซนของเนื้อเรื่องความรักในรั้วมหาวิทยาลัย ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่มีซอร์ฟพาวเวอร์เป็นนักแสดงซีรีย์วายที่โด่งดัง และทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกส่วนของภาคสังคมผ่านผลงานของพวกเขาก็เป็นได้