อย. ร่วมกับกรมควบคุมโรค และศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ปลดล็อคให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทราบถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นำไปสู่การรักษา และป้องกันที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ป้องกันการถ่ายทอดเชื้อให้บุคคลอื่น และลดอุบัติการณ์การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้
ประโยชน์ 6 ข้อที่ควรตรวจเอชไอวี
- สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ
- ได้รับการรักษา จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างปกติ
- สามารถวางแผนป้องกันคู่ของตนเองติดเชื้อ และชวนคู่ไปตรวจเลือดได้
- สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้
- สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง พ.ศ. 2562 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 เมษายน 2562
ซึ่งสาระสำคัญของการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ มีการกำหนดนิยามสำคัญที่เกี่ยวข้อง กำหนดคุณภาพมาตรฐาน และข้อกำหนด ซึ่งต้องผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานระดับประเทศ หรือมาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น หลักเกณฑ์ และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ISO 13485 เป็นต้น รวมถึงกำหนดให้แสดงฉลากต่อผู้บริโภคในประเด็นที่สำคัญต่างๆ เช่น ข้อบ่งใช้ วิธีการใช้ วิธีการเก็บรักษา คำเตือน ข้อควรระวัง
องค์ความรู้เกี่ยวกับระยะการตรวจหาการติดเชื้อไม่พบของชุดตรวจนั้นๆ (Window period) แบบประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ช่องทางการให้ข้อมูลสนับสนุนของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าในการใช้ชุดตรวจดังกล่าวผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล และความรู้ สาธิตวิธีการตรวจ การสรุปผล การเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการ หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อให้คำปรึกษาเพิ่มเติมโดยตรงได้ และการแปลผล โดยแสดงเป็นภาพอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจน และมีข้อความว่า “ใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเองเท่านั้น
หากตรวจพบ มีปฏิกิริยา (reactive) ต้องได้รับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีจากหน่วยบริการที่สามารถตรวจยืนยันวินิจฉัยได้” นอกจากนี้ ยังให้ผู้รับใบอนุญาตผลิต หรือนำเข้าจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลที่ผู้ถูกตรวจควรรู้ (subject information) ก่อนการตรวจ และภายหลังทราบผลการตรวจ
โดยอยู่ในภาชนะบรรจุ เพื่อให้กระบวนการให้คำปรึกษามีความชัดเจน ตลอดจนการเชื่อมเข้าสู่ระบบบริการตรวจวินิจฉัย ยืนยัน รักษา และป้องกัน โดยอาจทำในลักษณะขั้นตอน หรือกระบวนการที่ชัดเจน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย. โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศฯ กำหนด
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การยุติปัญหาเอดส์ โดยปลดล็อคให้ประชาชนการเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มทางเลือกในการตรวจคัดกรองแทนที่ต้องไปตรวจ ณ สถานพยาบาล เท่านั้น ทำให้ประชาชนทราบถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
มีโอกาสป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังบุคคลอื่น แต่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การตรวจเพื่อรู้สถานการณ์การติดเชื้อเร็วจะทำให้สามารถเริ่มรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่นต่อไป
ข้อมูลจาก oryor.com