หลายคนคงไม่คิดว่า จะไป ตรวจมะเร็งทวารหนัก หรอก เพราะไม่คิดว่ามันเป็นส่วนที่สำคัญอะไร แต่ในบางกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก (Anal Sex) ถือเป็นการสร้างสีสันให้กิจกรรมบนเตียงของคู่รัก ได้มีความสุขมากขึ้น ทั้งในคู่รักชายหญิงทั่วไป รวมทั้งกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย “ทวารหนัก” จึงกลายเป็นบริเวณที่เราควรให้ความใส่ใจ ไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
การสอดใส่อวัยวะเพศชาย หรือเซ็กส์ทอย ไปในทวารหนักของคู่นอน ช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับอีกฝ่ายจนสามารถถึงจุดสุดยอดได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์แบบอื่น หรือในกลุ่มชายรักชาย ที่เป็นฝ่ายรับให้สามารถมีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักยังช่วยลดความเครียด ทำให้นอนหลับสบาย เสริมความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีที่เป็นเพศหญิงอีกด้วย
ความสำคัญของทวารหนัก
ทวารหนักนั้น เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นส่วนท้ายสุดของระบบย่อยอาหาร โดยมีหน้าที่หลัก ในการควบคุมการปล่อยของเสียออกจากร่างกาย ขับถ่ายอุจจาระ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูด 2 ส่วน คือ หูรูดภายใน (Internal Sphincter) และหูรูดภายนอก (External Sphincter) โดยเป็นส่วนที่ต่อจากลำไส้ และภายนอก มีลักษณะเป็นรูอยู่กลางร่างกายระหว่างก้น
“ชายรักชาย เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทวารหนักมากกว่าคนทั่วไปถึง 40 เท่า!”
ในการร่วมเพศทางทวารหนัก มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ มากกว่าการมีเซ็กส์ทางช่องคลอด หรือการทำออรัลเซ็กส์ (ทำรักทางปาก) เพราะเยื่อบุบริเวณรอบทวารหนักมีความบอบบางมาก หากมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดการฉีกขาดได้ เนื่องจากอวัยวะส่วนนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเซ็กส์ จึงไม่มีสารหล่อลื่นเหมือนกับช่องคลอด เมื่อมีการร่วมเพศอาจทำให้เกิดแผลที่ขอบทวารหนัก หรือมีเลือดออก ทำให้รู้สึกแสบ และเจ็บปวดเมื่อถ่ายอุจจาระ เป็นต้น
โรคที่อาจเกิดขึ้นได้หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- มะเร็งทวารหนัก
- หนองใน
- ซิฟิลิส
- เริม
- ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี
- ไวรัสเอชไอวี
- เชื้อพยาธิลำไส้
รู้จักโรคมะเร็งทวารหนัก
โรคมะเร็งทวารหนัก เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับเพศหญิงในโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งช่องคลอด เชื้อ HPV นี้สามารถติดต่อกันได้ในบริเวณอวัยวะที่บอบบางพวกนี้ เพราะทั้งทวารหนัก ช่องคลอด หรือช่องปาก เป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนชนิดจากเยื่อบุ เป็นผิวด้านนอก จึงเป็นแหล่งที่เชื้อชอบเข้าไปสะสมอยู่
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ทั้งนั้น อาการของโรคมะเร็งทวารหนัก จะทำให้มีอาการคันผิดปกติบริเวณทวารหนัก มีเลือดออก มีก้อนเนื้อขนาดเล็ก และเติบโตช้า การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองโต ขาหนีบบวมได้ วิธีป้องกันนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนักเป็นประจำ ก็จะช่วยให้เรารู้ปัญหาสุขภาพของตนเอง และหากพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถทำการรักษาได้ทันที
ใครบ้างที่ควร ตรวจมะเร็งทวารหนัก ?
- ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อเอชพีวี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ต้องการทราบว่ามีโรคทางทวารหนัก หรือไม่
- ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งช่องคลอด
เตรียมตัวอย่างไรก่อน ตรวจมะเร็งทวารหนัก
ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรเตรียมตัวให้พร้อม แพทย์จะทำการซักประวัติส่วนตัว ประวัติคนในครอบครัวว่าเคยมีใครเป็นโรคมะเร็งมาก่อน หรือไม่ ซักอาการที่ผิดปกติหากมี เช่น อาการแน่นท้อง ปวดเสียด ท้องผูก ท้องเสียบ่อยครั้ง น้ำหนักลดลง มีเลือดปนออกมาระหว่างถ่ายอุจจาระ อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก เป็นต้น
โดยทั่วไปจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที ผู้ตรวจอาจรู้สึกตึงๆ หรือแน่นท้องได้ หากแพทย์ทำการตรวจด้วยการใส่กล้องเข้าไปในรูทวารหนัก ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก หรือในบางรายถ้ามีอาการปวดมาก แพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ หลังจากตรวจทวารหนัก สามารถรับประทานอาหาร และทำกิจกรรมได้ตามปกติ
วิธีการ ตรวจมะเร็งทวารหนัก
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนัก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่
ตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนัก (Anal Pap Smear)
ทำได้โดยการป้ายเอาเนื้อเยื่อ ในรูทวารหนัก ลึกลงไปราว 2 เซ็นติเมตร นำมาส่องกล้องตรวจหาเชื้อ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และสามารถทราบผลการตรวจภายใน 2-3 วัน หากผลตรวจไม่พบเซลล์ที่ผิดปกติ ควรทำการตรวจมะเร็งทวารหนักซ้ำปีละ 1 ครั้ง แต่หากเจอเซลล์ที่ผิดปกติ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม ถ้าอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้
ตรวจมะเร็งทวารหนัก ด้วยกล้องกำลังขยาย (High Resolution Anoscopy)
ทำได้โดยการใส่อุปกรณ์เข้าไป ในรูทวารหนัก และใช้กล้องที่มีกำลังซูมขยาย เพื่อดูตำแหน่งที่ปากทวารหนักว่า มีความผิดปกติใด หากพบ แพทย์จะนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที หากมีการตรวจชิ้นเนื้อ จะสามารถทราบผลการตรวจภายในเวลา 3-5 วัน
การตรวจคัดกรองคัดกรองมะเร็งทวารหนักทั้ง 2 วิธีนี้ ไม่ทำให้ผู้ตรวจรู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยถ้าเป็นการตรวจแบบใช้กล้อง High Resolution Anoscopy แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการตรวจ คุณอาจรู้สึกอึดอัดเพียงเล็กน้อย แต่อยากให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง การตรวจแบบนี้สามารถวินิจฉัยโรคได้หลายชนิด เช่น มะเร็งทวารหนัก แผลปริที่ขอบทวารหนัก ริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น
มีเซ็กส์ประตูหลังอย่างไรให้ปลอดภัย
คำแนะนำ | คำอธิบาย |
---|---|
ทำความสะอาดก่อน และหลังมีเพศสัมพันธ์ | ไม่ควรสวนล้าง หรือฉีดน้ำเข้าไปอย่างรุนแรง ให้ใช้น้ำเปล่าลูบทำความสะอาดเบาๆ หรือใช้สบู่อ่อนล้างบริเวณนั้น และควรถ่ายอุจจาระให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอาการปวดในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์อยู่ |
ตัดเล็บมือให้สั้น | ล้างมือให้สะอาด และตัดเล็บให้สั้น เพราะหากมีการใช้นิ้วสอดใส่ด้วย ถ้าเล็บยาวอาจทำให้คู่นอนบาดเจ็บ และติดเชื้อจากการโดนเล็บข่วน |
เลือกขนาดเซ็กส์ทอยที่พอดี | ขนาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรเลือกไซส์ที่ใหญ่จนเกินไป เพราะทำให้การสอดใส่ยากลำบาก และคู่นอนอาจจะรู้สึกเจ็บ ไซส์ที่พอดีจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย |
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง | การใช้ถุงยางอนามัย ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และช่วยให้คุณปลอดภัย แต่ระวังอย่าสอดใส่ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และทางปาก ในคราวเดียวกัน เพราะจะปนเปื้อนเชื้อโรค ถ้าจะทำ ให้เปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่เปลี่ยนช่องทางการสอดใส่ |
ใช้เจลหล่อลื่นสูตรน้ำ หรือซิลิโคน | ที่สำคัญควรเลือกใช้สารหล่อลื่นให้ตรงกับประเภทถุงยางอนามัยด้วย เพื่อช่วยให้การสอดใส่ง่ายขึ้น และลดโอกาสที่ถุงยางจะแตก หรือรั่ว จนเกิดความเสี่ยงได้ ห้ามใช้สารหล่อลื่นประเภทน้ำมันเด็ดขาด |
ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง | ควรทำแบบเบา และช้า เพราะหากทำการสอดใส่แบบแรงๆ จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักเกิดการฉีกขาด และเป็นแผล |
พบแพทย์เป็นประจำ | คุณ และคู่นอน ควรได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีโรคใดอยู่ และเข้ารับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ให้โรคลุกลามใหญ่โต |
ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV | สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึง 45 ปี โดยเพศชายควรเลือดฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็ง |
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร หากเราศึกษา และเรียนรู้วิธีป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังควรมีการพูดคุยระหว่างคู่นอนของตน ถึงรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์แบบนี้ด้วย เพราะในบางคู่ก็ยังไม่เคยได้ลิ้มลองเซ็กส์ทางประตูหลังมาก่อน อาจมีความกังวลใจอยู่บ้าง แต่ถ้าได้มีการพูดคุยตกลง รับฟังระหว่างกัน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน
ซึ่งมะเร็งทวารหนักเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย พบได้ประมาณ 1% ของมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งทวารหนัก โรคอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น