โรคหูดข้าวสุก หรือ Molluscum Contagiosum Virus (MCV) เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ ความอันตรายของหูดข้าวสุก คือ ในเด็กที่มีอายุ 1-10 ปี ที่ร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันแข็งแรงดีแล้ว จะช่วยกำจัดจนหูดข้าวสุก สามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1 ปี ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงต้องระมัดระวังอย่าให้เด็กในความดูแลเกิดโรคหูดข้าวสุกจะเป็นเรื่องดีที่สุด
อาการของหูดข้าวสุก
โรคหูดข้าวสุกนี้เกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายมีเชื้อกลุ่ม Poxividae เป็นกลุ่มไวรัสชนิดเหมือนกับโรคไข้ทรพิษโดยเชื้อจะอยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอกของร่างกายไม่ใช่การเข้าสู่ระบบประสาท หรือกระแสเลือดเหมือนกับหลายๆ โรค การติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด หรือระบบประสาท ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยนำมาก่อน แต่จะมีอาการเฉพาะที่เป็นหลัก ซึ่งมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 2-7 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง 6 เดือน
จึงทำให้บางคนพบอาการหูดข้าวสุกหลังผ่านระยะเวลานี้ไปแล้ว หลังระยะเวลา 6 เดือนเป็นต้นไป คนที่รับเชื้อจะพบตุ่มบริเวณผิวหนังเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรืออยู่กระจุกเป็นกลุ่มได้ถึง 20 ตุ่ม เลยทีเดียว แรกๆ จะเป็นตุ่มแดงๆ ไม่เจ็บ บางรายอาจมีอาการคันได้บ้าง ระยะเวลาในการเป็นอาจจะต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนก็เป็นแค่ไม่กี่เดือนก็หาย แต่บางคนก็เป็นนาน และลุกลามเป็นเวลาหลายปี จนทำให้ดูน่ากลัว และเสียความมั่นใจได้
อาการที่บ่งบอกได้ชัดเจน คือ บริเวณผิวหนังจะเกิดตุ่มสีเนื้อเล็กๆ ข้างในมองเห็นเป็นสีขาว ไม่ได้มีความเจ็บปวด แต่อาจบวม และมีอาการคันเกิดขึ้นพร้อมกันได้ บางตุ่มจะบุ๋มตรงกลาง โดยพื้นที่ของร่างกายที่พบบ่อยสุด คือ ลำคอ ท้อง แขน ขา ต้นขาด้านใน ผิวหนังที่สัมผัส หรือเสียดสีกันบ่อย เช่น ข้อพับ รวมถึงอวัยวะเพศ แต่มักไม่ค่อยพบบริเวณฝ่ามือ หรือฝ่าเท้าเท่าไหร่นัก
อาการเหล่านี้จะแสดงออกเมื่อได้รับเชื้อเข้าไปประมาณ 2 เดือน หากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบคุ้มกันภายในร่างกาย อาจทำให้อาการของหูดข้าวสุกรุนแรงมากขึ้น ตุ่มเหล่านี้อาจขยายใหญ่ได้ถึง 15 มิลลิเมตร และอาจทำการรักษาได้ยากมากขึ้น มีรายงานจาก ACD หรือ สถาบันโรคผิวหนังของสหรัฐฯ ระบุว่า เชื้อดังกล่าวมักพบบ่อยในพื้นที่อากาศร้อนชื้น
ด้วยเหตุนี้คนที่อาศัยในเขตพื้นที่ดังกล่าว ประกอบกับเป็นโรคผื่นที่เกิดจากภูมิแพ้ผิวหนัง โดยหูดข้าวสุกจะพบมากขึ้นในรายที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย ในระยะที่ภูมิคุ้มกันเริ่มต่ำ พบได้ 5-18% ในผู้ติดเชื้อซึ่งมักจะเป็นทั่วทั้งตัว และคงอยู่นานในรายที่อยู่ในระยะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยเป็นโรคเอดส์แล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า หูดข้าวสุกมีความสัมพันธ์กับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ข้อสังเกตอาการหูดข้าวสุก
- ตุ่มหูดข้าวสุก จะมีขนาดเล็กประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผิวสัมผัสมีความเงา และเรียบ
- มีสีเนื้อเช่นเดียวกับผิวหนัง มีสีขาว หรือชมพู ลักษณะรูปทรงโดม หรือมีรอยบุ๋มตรงกลาง
- สามารถเกิดตุ่มหูดข้าวสุกนี้ได้ทุกที่บนร่างกาย
ย้ำว่าโรคหูดข้าวสุก คือ โรคติดต่อชนิดหนึ่ง แต่อาจไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง แต่ก็ถือว่าเกิดขึ้นได้บ้างเช่นกัน หากไม่มีการระวัง และป้องกันอย่างถูกต้อง
ผลข้างเคียงของหูดข้าวสุก
- ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้จะหายไปเมื่อทำการรักษา
- หูดข้าวสุกที่เป็นบริเวณเปลือกตา อาจทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบได้
- ผู้ที่แกะ หรือเกาตรงรอยโรค อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนมีอาการอักเสบ และเมื่อตุ่มแตกก็จะกลายเป็นแผลเป็นได้
การติดต่อของหูดข้าวสุก
ดังที่กล่าวไปว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่นอนตนเอง คือ ความเสี่ยงอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีสาเหตุของการติดต่อได้หลากหลาย เช่น การใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อแล้วเชื้อไปโดนเข้า (เสื้อผ้า, ช้อน, ส้อม, แก้วน้ำ, ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ)
บางรายไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็น พอเกาไปแล้วเชื้อก็ลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆ ต่อ หรือไปสัมผัสกับร่างกายคนอื่นๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็กก็มีโอกาสที่โรคจะติดต่อไปสู่ผู้นั้นได้เช่นกัน การว่ายน้ำในสระเดียวกันหากผู้ป่วยไม่ได้ป้องกันตนเอง อาทิ มีผ้าปิดบริเวณที่เกิดตุ่มก็อาจส่งผลให้เกิดโรคกับผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ มักมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เยอะกว่าผู้ใหญ่จากภูมิต้านทานของพวกเขาที่ยังมีไม่เยอะมากนัก
วิธีป้องกันหูดข้าวสุก
เมื่อโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การป้องกันจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ หลักๆ แล้วคือ
- รักษาความสะอาด เมื่อสัมผัสกับพื้นที่ หรือสิ่งของที่เสี่ยงจะทำให้ติดเชื้อต้องมีการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสร่างกาย หรือสัมผัสอาหารที่จะทาน
- หลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับผู้ป่วย หรือคนที่เป็นโรคนี้โดยตรง ซึ่งผู้ป่วยเมื่อรู้ตนเองว่าเป็นก็ควรป้องกันไม่ให้เชื้อไปติดคนอื่น เช่น พันผ้าพันแผลบริเวณที่มีตุ่ม ไม่ใช้ของส่วนรวมร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากไม่มั่นใจว่าสระว่ายน้ำที่มีคนเล่นอยู่จะก่อให้เกิดอันตราย หรือไม่ควรหลีกเลี่ยงรวมถึงการเล่นกีฬาที่ต้องมีการสัมผัสร่างกายกัน
- หัดสังเกตคู่นอนของคุณเสมอ หากว่าคู่นอนของคุณมีรอยลักษณะคล้ายๆ เป็นโรคหูดข้าวสุกก็ควรรีบให้รักษา หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ควรป้องกันด้วยถุงยางอนามัย และไม่สัมผัสกับบริเวณที่มีตุ่ม หรือมีน้ำไหลออกมาจากร่างกาย
- ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย
ในกรณีที่เป็นเด็กเล็ก หากสถานที่เหล่านั้นไม่มีระบบการจัดการด้านสุขอนามัยที่ดี ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปสู่เด็ก เนื่องจากเด็กมีระบบภูมิคุ้มกันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เช่น สถานที่ออกกำลังกายสาธารณะ สระว่ายน้ำ หรือการใช้อ่างอาบน้ำร่วมกัน ควรล้างมือเด็กด้วยสบู่ให้สะอาดเป็นประจำ แยกของใช้เด็กออกจากผู้อื่น
หากมีความจำเป็นให้ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า และไม่ควรว่ายน้ำในขณะที่มีบาดแผล เพราะจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ หมั่นดูแลบุตรหลานในช่วงปิดเทอม หากพาไปทำกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสหูดข้าวสุกที่สามารถติดต่อโดยง่ายในเด็ก
แนวทางการรักษา โรคหูดข้าวสุก
ดังที่บอกไปว่าสำหรับผู้ใหญ่แล้วแม้ไม่ได้มีการรักษาแต่เชื้อก็จะหายไปเองในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี แต่ทั้งนี้เพื่อความสบายใจ และไม่ต้องการให้ติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งการรักษาก็มีด้วยกันหลายวิธี ประกอบไปด้วย
- ใช้เลเซอร์ ในการรักษาให้แผลบริเวณดังกล่าวทุเลาลง
- ผ่าตัดผ่านความเย็น แพทย์จะใช้ไนโตรเจนเหลวจี้ลงไปบริเวณที่มีอาการ วิธีนี้ต้องใช้เวลานาน และแพทย์มักนัดให้ผู้ป่วยมาทำการรักษาอยู่ตลอดจนกว่าจะหายสนิท
- ทายา ตามใบสั่งที่แพทย์ระบุ หรือถ้าไม่มั่นใจว่าตนเองเป็น หรือเปล่าลองไปปรึกษาร้านขายยาที่มีเภสัชกรโดยตรง เภสัชกรจะให้ยามาทาบริเวณแผลที่เกิดขึ้น แต่หญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้โดยเด็ดขาด
- ทานยา ตามที่แพทย์ได้จ่ายเอาไว้ให้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหูดข้าวสุกต้องห้ามแกะ หรือเกาที่บริเวณรอยโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และลดการพาเชื้อไปติดยังบริเวณส่วนอื่นๆ ของร่างกายทำให้ลุกลามควบคุมการรักษาได้ยากกว่าเดิม อาจบอกให้คู่นอนทราบ และชวนกันไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคหูดข้าวสุก และเข้าสู่กระบวนการรักษาไปพร้อมๆ กันหากมีเชื้อ ใส่ใจเรื่องความสะอาดของร่างกาย หรือข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวอยู่เสมอ
ไม่ควรโกนขนบริเวณที่มีอาการคัน มีผื่น ผิวอักเสบ หรือเป็นหูด ระหว่างทำการรักษาควรงดมีเพศสัมพันธ์ก่อน เพราะรอยของโรคที่บริเวณอื่นๆ นอกเหนือจากอวัยวะเพศอาจทำให้ติดต่อคู่นอนของคุณได้ และเมื่อทำการรักษาโรคเสร็จสิ้นแล้วควรกลับไปตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดจากหูดข้าวสุกแล้วจริงๆ
อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน หรือไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยยังเป็นอีกความเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ควรมีคู่นอนประจำ ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และพยายามรักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการทำลายเชื้อดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะช่วยให้อาการที่ว่านี้ไม่ไปติดต่อกับใคร และไม่เกิดขึ้นกับตนเองด้วย
แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ร้ายแรงสำหรับผู้ใหญ่ แต่การติดเชื้อแล้วไม่ดูแลตนเอง ปล่อยปละละเลย จนเชื้อไปติดกับผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย คล้ายจะเป็นอาการของหูดข้าวสุกก็ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็ว แค่นี้ก็จะมีความมั่นใจในการพบเจอคนรอบข้าง ไม่รู้สึกว่าตนเองแปลกแยกที่ป่วยเป็นโรคนี้ ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และที่สำคัญยังสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีโรคติดต่ออื่นๆ เข้ามาแทรกซ้อน