การรักษาเอชไอวี

การรักษาเอชไอวี

ถึงแม้ในปัจจุบันยังไม่มีวิธี การรักษาเอชไอวี ให้หายขาดอย่างแน่นอน แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย และใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้ ด้วยการดูแลตัวเองอย่างดี การทานยาต้านไวรัสตรงต่อเวลา ไม่ขาดยา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญมากใน การรักษาเอชไอวี

การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อเอชไอวี

หากคุณรู้ตัวว่าติดเชื้อเอชไอวี อย่างแรกขอให้ตั้งสติก่อน เพราะการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ทำให้เราเสียชีวิตทันที คุณอาจรู้สึกเครียด เพราะอาจจะยังไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี แต่หากเข้าพบแพทย์เพื่อเริ่มกระบวนการรักษาโดยเร็ว แพทย์จะให้คำปรึกษาและข้อมูลเกี่ยวกับโรคอย่างครบถ้วน เมื่อรู้วิธีการรักษาและวิธีดูแลตัวเอง ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีความสุข รวมทั้งคนไทยทุกคนยังสามารถทำการรักษาเอชไอวีได้ฟรี ในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันตนอยู่ แพทย์จะทำการสั่งตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการทางการแพทย์ หลักๆ ดังนี้

  • ตรวจวัดระดับ CD4

CD4 (ซีดีโฟร์) คือ เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายของเราจากเชื้อโรคต่างๆ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ เปรียบเสมือนเป็นกองกำลังทหารที่คอยกำจัดศัตรูอย่างเชื้อโรคให้ออกไปจากร่างกายของเรา เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี มันจะเข้ายึดจับและทำลาย CD4 ของเราให้ตายลงไปเรื่อยๆ และขยายไวรัสเอชไอวีออกมาจำนวนมาก เมื่อทหารเราน้อยลง ก็ทำให้พ่ายแพ้ต่อเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดโรคฉวยโอกาสได้ง่ายนั่นเอง โดยปกติของคนทั่วไป ในเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีค่า CD4 ประมาณ 500-1,200 ตัว ส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจมีค่า CD4 ไม่ถึง 700 ตัวต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร

  • ตรวจวัดปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load)

ปริมาณไวรัสในเลือดหรือไวรัสโหลด เป็นการหาจำนวนของเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือดปริมาณ 1 มิลลิลิตร หากมีจำนวนไวรัสมากและไม่ได้รับการรักษา อวัยวะภายในร่างกายก็จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ อาจเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาคือจะต้องทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสโหลดในร่างกายมีน้อยที่สุด ผู้ติดเชื้อควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคเอดส์ เพิ่มเติม เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจกับโรคมากขึ้น สามารถปฏิบัติตนตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่แพร่เชื้อให้ใคร และไม่รับเชื้อเพิ่ม

ยาต้านไวรัสเอชไอวี

ยาต้านไวรัส หรือที่เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Therapy : ART) เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการรักษาเอชไอวีในปัจจุบัน หากผู้ติดเชื้อทานยาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสเอชไอวีได้ อีกทั้งยังลดโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยา การเกิดโรคฉวยโอกาส และการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ทำให้ผู้ติดเชื้อหายขาดได้ จึงจำเป็นต้องทานยาไปตลอดชีวิต ซึ่งก่อนการรับยาต้านไวรัส แพทย์จะต้องประเมินความพร้อมของผู้ติดเชื้อในการทานยาต่อเนื่องทุกวัน และสามารถเริ่มการรักษาได้ทันที ไม่ว่าจะมีค่า CD4 อยู่ในระดับใดก็ตาม

ข้อดีของการทานยาต้านไวรัสเอชไอวี

  • หากผู้ติดเชื้อทานยาต้านอย่างสม่ำเสมอ ภายใน 6 เดือน เชื้อไวรัสเอชไอวีจะถูกกดต่ำลงจนเหลือปริมาณน้อยกว่า 40-50 ก๊อปปี้ต่อหนึ่งซีซีของเลือด จนไม่สามารถตรวจเจอเชื้อได้ในเลือดและไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อให้ใครได้ จะเข้าสู่สถานะที่เรียกว่า “ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่” หรือ U=U (Undetectable = Untransmittable)
  • เมื่อปริมาณเชื้อลดลง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
  • สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉวยโอกาส
  • ลดโอกาสการเกิดโรคร่วมต่างๆ ที่พบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวี เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเอดส์ เป็นต้น
  • ลดโอกาสการเกิดโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค งูสวัด ริ้วขาวข้างลิ้น ฯลฯ

ควรมีการติดตามผลของการทานยาต้านไวรัสเป็นประจำ ได้แก่

  • การตรวจวัดระดับ CD4 ทุกๆ 6 เดือน โดยดูทั้งจำนวนและเปอร์เซ็นต์ เพื่อประเมินภูมิคุ้มกันของร่างกาย และพิจารณาการให้ยาป้องกันการเกิดโรคฉวยโอกาส
  • ตรวจปริมาณไวรัสในเลือด (Viral Load) หลังจากเริ่มทานยาไปแล้ว 6 เดือน และติดตามผล 12 เดือน หากอยู่ในสถานะ U=U แล้วเพื่อเฝ้าระวังประสิทธิภาพของการรักษา
  • ตรวจเชื้อดื้อยา ในกรณีพบว่า Viral Load สูงกว่า 100 ก๊อปปี้/ซีซี เพื่อดูว่าการรักษาไม่สามารถกดไวรัสได้เกิดจากมีเชื้อดื้อยาตัวใดหรือไม่

ทำไมต้องทานยาต้านไวรัสให้ตรงต่อเวลา

ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี การทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยลดปัญหาผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสและให้ส่งผลดีต่อการป้องกันไวรัสเอชไอวีไม่ให้เพิ่มจำนวน
การทานยาต้านไวรัสที่ตรงต่อเวลาเป็นประจำทุกวัน เป็นการรักษาระดับยาในร่างกายให้มีปริมาณมากพอที่จะควบคุมหรือกันไว้ไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวีขยายตัวขึ้น หากทานยาต้านไม่ตรงเวลา หรือขาดยา อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล เชื้อไวรัสเอชไอวีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยได้ง่าย

ลืมทานยาต้านไวรัส ต้องทำอย่างไร

หากเกิดลืมทานยาต้านไวรัสจริงๆ ให้รีบทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกได้ว่าลืมก่อนการทานยาในครั้งถัดไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง ก็สามารถทานรวมกับยาในครั้งถัดไปได้เลย และต้องทานในปริมาณเท่าเดิม ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเป็นสองเท่า โดยเวลาในการทานยาต้านไวรัสสามารถปรับได้ตามสะดวกของการใช้ชีวิตประจำวัน และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย ข้อเสียของการลืมทานยาต้านไวรัสบ่อยๆ จะทำให้เราดื้อยา ปริมาณไวรัสเอชไอวีก็จะไม่ลดลง หรือมีมากกว่า 1,000 ก๊อปปี้/ซีซี ถือว่าการรักษาไม่เป็นผล

อาการข้างเคียงจากการกินยาต้านไวรัส

ผลข้างเคียงของยาต้านไวรัส อาจเกิดขึ้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน บางคนก็ไม่มีอาการใดๆ เลย ส่วนใหญ่มักจะเป็นในระยะแรกที่เริ่มทานยาใหม่ๆ และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนต่อมา อาการเหล่านั้น ได้แก่

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย หรือท้องอืด
  • นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
  • มีผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือเป็นลมพิษ

อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก สามารถหายไปได้เอง แต่หากผู้ติดเชื้อที่ทานยาต้านแล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น รู้สึกหายใจไม่สะดวก หายใจไม่อิ่มท้อง ชาปลายมือปลายเท้า เยื่อบุอ่อนพองบวม มีอาการเหนื่อยหอบ เกิดอาการช็อค หมดสติ ควรรีบพบแพทย์ทันที ทางที่ดี หากคุณเคยแพ้ยาชนิดใดมาก่อน ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ดูแลก่อนรับยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อวินิจฉัยการใช้ยาต้านไวรัสและติดตามอาการแพ้ของผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า