ส่องวงการบันเทิงวายไทย ซีรีส์วายมาแรง แนวโน้มคู่จิ้น นักแสดงสุดฮอต

วงการบันเทิงวาย

ความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ วงการบันเทิงวาย แบบฉบับมีนะ แต่มี “แต่” ตามหลังมาด้วย ในทุกๆ ปีหากเป็นวงการบันเทิงต่างประเทศนั้นจะมีสื่อที่คอยรายงานตัวเลข “ความหลากหลายทางเพศของตัวละคร” ในหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีย์ หรือละครเวที ทั้งหมดที่นับว่าเป็นสื่อจะมีการนับสถิติถึงความหลากหลายทางเพศหน้าสื่อ เพื่อที่จะได้สำรวจว่าแต่ละพื้นที่สื่อยังมี หรือขาดอะไรตรงไหน เพราะเขามองเห็นว่าการนำเสนอเรื่องเพศของสื่อมีน้ำหนักต่ออิทธิพลความคิด และทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่

วงการบันเทิงวาย มีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น

โดยในปีที่เก็บสถิติล่าสุดที่ผ่านมานั้น ตัวเลขได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น แต่บางครั้งก็เป็นตัวละครที่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรในเรื่อง หรือไม่มีน้ำหนักต่อการดำเนินของภาพยนต์เรื่องนั้นๆ และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ยังไม่มีตัวละครหญิงข้ามเพศปรากฏตัวในหน้าหนังอีกเลย

เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่หลายชาติมองว่าให้ความเสรีกับความหลากหลายทางเพศ และการแสดงออก เพียงเพราะบ้านเรานั้นไม่ได้มีการต่อต้านเพศหลากหลายอย่างการเดินขบวนประท้วงกฎหมายสมรสเท่าเทียมแบบที่เกาหลี หรือการใช้พฤติกรรมความรุนแรงกับผู้ที่มีความหลากหลากทางเพศในตะวันออกกลาง แต่นั้นไม่ได้แปลว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเท่ากันให้กับความหลากหลายทางเพศ

เรามีพื้นที่ให้คุณ แต่เรามีเงื่อนไขกำกับตามมา เช่นวลีง่ายๆ ที่ซ่อนปัญหาอย่างหนึ่งมาตลอดอย่างการ “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีก็พอ” การเป็นคนดีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องที่ถูกต้องแบบที่มันควรจะเป็น แต่ในทางกลับกัน เราเคยเห็นพ่อ หรือแม่ใครพูดกับลูกผู้หญิง หรือลูกผู้ชายของเขาเท่านั้นบ้างไหมว่า “เป็นผู้หญิงก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” “เป็นผู้ชายก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” ไม่มี ไม่มีเลย เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องปกติ

รสนิยมทางเพศไม่ตรงกับที่สังคมคาดหวัง

แล้วการเป็นคนที่มีรสนิยมทางเพศไม่ตรงกับที่สังคมคาดหวังเป็นเรื่องผิดปกติ หรือไม่? ย่อมไม่ ดังนั้นแล้วเราจึงไม่จำเป็นต้องใส่เงื่อนไขลงไปตามหลังด้วยซ้ำ หากเขา หรือใครหลายคนมองว่าคนหลากหลายทางเพศเป็นคนเท่ากัน นี่อาจจะเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” ในสายตาคนทั่วไป แต่หลายครั้งก็เรื่องเล็กน้อยเท่านี้แหละที่กั่นระหว่างสิทธิในความเป็นคนเท่าเทียมกันอย่างที่พวกเขาควรจะได้รับ แต่ไม่ได้รับ เช่น สมรสเท่าเทียม กฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิที่จะมีคู่ครองเป็นใครก็ได้ตามที่กฎหมายช่วยดูแล

ย้อนหลังมาที่พื้นที่สื่อ วงการบันเทิงวาย อีกครั้ง ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศของไทยนั้นมีมาตั้งแต่อดีตแต่น้ำหนักของตัวละครจะแตกต่างกันไป หรือเรียกได้ว่าแทบไม่กระทบกับเส้นเรื่องใดๆ ไม่ว่าจะมีตัวตน หรือไม่ก็ตามแต่ จนกระทั้งมาถึงจุดที่ “ซีรีย์วาย” เข้ามาปฏิวัติ ยึดครองเป็นสื่ออีกแนวหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับทั้งหน้าบ้าน และหลังบ้าน จนกระทั้ง “สื่อพื้นที่ปกติ” ยังต้องขอกระโดดลงมาเล่นกับตลาดนี้ด้วยเพื่อเกาะรถให้ทัน

วงการบันเทิงวาย กับซีรี่ย์ไทย

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตซีรีย์วายออกมาได้ดีมากในแง่ของการกระจายไปถึงต่างประเทศทั่วโลก แต่ถ้าจะพูดถึงซีรีย์วายน้ำดีที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศ ความเจ็บปวดของชีวิตเก้งกวางจริงๆ เราแทบจะต้องมาใช้เวลาคิดกันเป็นวันๆ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วซีรีย์วายทั้งหมดจะหนักไปในทางชีวิตในรั่วมหาวิทยาลัย หรือไม่งั้นก็เป็นเรื่องราวของผู้ชายสองคนที่ต้องดึงดูดคนด้วยความหน้าตาดีเป็นหลักก่อน พล็อตเรื่องค่อยว่ากันที่หลังก็ว่าได้ โดยในบทสัมภาษณ์เรื่อง “ซีรีส์วาย และความหลากหลายทางเพศ” โดย Media Alert (2564) ผศ.ดร. ปุรินทร์ นาคสิงห์ ได้ให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับ ซีรีส์วาย และการยอมรับความเสมอภาคทางเพศ ไว้ดังนี้

“ซีรีส์วายแต่ละเรื่อง ถ้าจําไม่ผิด เยอะมาก มีหลายสิบเรื่อง ถ้าเป็นหนังสือ คงหลายร้อยเล่ม เหล่านี้มีการพูดถึงสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศบ้าง หรือไม่ คำตอบก็คือไม่ มันไม่ได้บอกว่าเราสามารถอยู่ท่ามกลางความหลากหลายอย่างไร เราจะยอมรับกลุ่ม LGBT ที่มีความแตกต่างได้อย่างไร แต่เรากําลังพูดถึงผู้ชายที่มาเจอกันในเรื่อง ทะเลาะกัน รักกัน คนดูก็จะชอบดูแต่ฉากจิ้น ฉากโรแมนติกจิกหมอน ฉากเลิฟซีน อาจไม่ต้องถึงขั้นถึงพริกถึงขิง แค่กุ๊กกิ๊ก คือพล็อตมันฟินแล้วก็จบ ไม่มีตรงไหนที่พูดถึงสิทธิ พูดถึงในเรื่องของการเคารพกัน หรือการให้ความรู้กับคนดูในการปฏิบัติต่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ

มีเเค่บางรูปแบบของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ถูกนํามาผลิตซ้ำ เพราะมีผู้ชายหน้าตาดี หุ่นดี ขายได้ มีเด็กใหม่ๆ ที่เดินทางเข้าสู่วงการบันเทิงที่มีลักษณะเดียวกัน คือรูปร่างหน้าตาดีพิมพ์นิยม มีความเป็นชาย หรือมีความเป็นเกาหลี วนอยู่อย่างนั้น”

ความหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศ

จริงๆ แล้วเรื่องการขับเคลื่อนความหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศในซีรีย์วายเป็นที่ถกเถียงกันมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ตั้งแต่การคัดเลือกนักแสดงที่เป็นชายแท้ แต่ไม่ใช่คนที่มีรสนิยมทางเพศตรงกับตัวละครจริงๆ มาแสดง หรือแม้แต่ว่าพล็อตรวมไปถึงบทละครนั้นทำให้คนเข้าใจรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง หรือหลากหลายอย่างไร

ผู้เขียนเองเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุผลอย่างแรก

  • คนทั่วไปในสังคมไทยไม่คิดว่าสื่อบันเทิงมีผลต่อการตัดสินใจ และทัศนคติของผู้คน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ผลิต ผลิตออกมาเพื่อป้อนขายเข้าสู่ตลาด และฐานแฟนคลับหลักของซีรีย์วายคือผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย หรือเก้งที่ดูซีรีย์วายบางเรื่องแล้วก็งงว่าชีวิตจริงมันมีแบบนั้นด้วยจริงๆ เหรอ
  • เหตุผลต่อมา เพราะสังคมไทยเราเป็นเมืองแห่งการแข่งขัน จากผลรายงานล่าสุด กรุงเทพมหานครติดอันดับต้นๆ ของเมืองที่ผู้คนทำงานล่วงเวลา สะท้อนตรงกับหลายความเห็นที่มองว่า “อยากดูซีรีย์เพราะแค่อยากคลายเครียด” ซึ่งแนวความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถึงขนาดเคยมีคอมเม้นท์ที่ว่า “ผู้หญิงไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาขับเคลื่อนทางเพศอะไรให้กับเพศหลากหลาย” แต่อย่าลืมว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน สิ่งนี้มีผลกระทบกับพวกเราทั้งหมดในความเป็นคนเท่ากัน
  • และเหตุผลสุดท้าย เพราะซีรีย์ที่ตั้งใจทำออกมาให้สมจริง และสะท้อนสังคม…ไม่ได้รับความนิยมเท่ากันกับซีรีย์ที่สร้างออกมาเพื่อเอาใจฐานแฟนคลับของนักแสดงตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องตลกร้าย แต่การทำซีรีย์ หรือสื่อบันเทิงเรื่องหนึ่งนั้นใช้งบประมาณไม่น้อย ผู้สร้างสรรค์ผลงานเองก็คาดหวังถึงผลกำไร และสิ่งที่สะท้อนกลับมา ทำให้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ซีรีย์วงการบันเทิงไทยต้องวนในอ่าง เพราะมันขายไม่ได้ ทำกำไรให้คนทำงานไม่ได้

ดังนั้นแล้ว พื้นที่ความหลากหลายในวงการบันเทิงไทย ถึงแม้จะพ้นช่วง “เป็นเพศทางเลือกต้องตลก” มาบ้างแล้ว (หมายถึง ก็ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็เบาลงกว่าในอดีต) แต่ก็ยังติดอยู่ในลูปของพล็อตสำเร็จรูป สูตรสำเร็จของความรักจากผู้ชายสองคนที่ต้องตรงขนบ รุกต้องแมน รับต้องตัวเล็กห้ามออกสาว (แต่หน้าต้องสวยด้วยนะ) ถึงจะประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจสำหรับค่าย

นี่จึงเป็นอีกที่มาที่ผู้เขียนอยากรณรงค์ให้ทุกคน หากมีโอกาสได้สนับสนุนผลงาน “ที่ดี” ที่แตกต่างออกไปจากตลาด ขอเพียงแค่ยอดวิว ยอดคอมเม้นท์ การแชร์บอกต่อ ก็นับว่าเป็นอีกตัวเลขหลังบ้านที่สะท้อนกลับไปยังผู้ผลิตว่าพวกเขา “สามารถออกจากสูตรสำเร็จได้” เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าซีรีย์วายไทยจะพ้นออกไปจากลูปนี้ได้ไหม หรือจะยังคงเป็นพื้นที่ความบันเทิงที่มีเพศหลากหลายนำแสดงโดยชายแท้แบบมีเงื่อนไขแบบนี้กำกับต่อไปเรื่อยๆ ตลอดไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า