ครม. ไฟเขียว ยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพศเดียวกันแต่งงาน จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัว ที่มีความหลากหลายทางเพศ
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีดังนี้
- “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
- กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชน และครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
- กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
- กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
- กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามี หรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามี หรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
- คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
- เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ และหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
- กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มีสาระสำคัญ ดังนี้
- กำหนดให้ชาย หรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
- กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามี หรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”
- กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันครม.เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ร่างพ.ร.บ. รวม 2 ฉบับมีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งให้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิ และหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง “ร่างพ.ร.บ คู่ชีวิต ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทย ในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักที่มีเพศเดียวกัน
และเป็นเครื่องมือทางกฏหมาย ในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว ครอบคลุมการจดทะเบียน และการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิ และหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ และสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย เพราะฉะนั้น การประเมิน และการติดตามการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ หลังจากประกาศใช้ จึงมีความสำคัญ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายฉบับอื่นๆ ตามมาเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกัน”
ขอบคุณข้อมูล จาก ข่าวสด