โรคแผลริมอ่อน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Chancroid ถือเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกชนิดที่พบได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Haemophilus Ducreyi หากเกิดขึ้นกับใครก็ตามจะส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการเปื่อย โดยอาการในแต่ละเพศจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความทรมานกับร่างกายไม่ต่างกัน แม้อาจเป็นโรคที่ไม่ค่อยคุ้นชื่อ หรือรู้สึกว่าไม่อันตรายเท่าไหร่นัก ทว่าหากปล่อยเอาไว้ย่อมไม่ดีกับร่างกายแน่ๆ วันนี้เราจึงมาแนะนำให้รู้จักกับโรคนี้กันครับ
แผลริมอ่อนวินิจฉัยอย่างไร ?
การวินิจฉัยโรคแผลริมอ่อน แพทย์จะซักประวัติ และตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย รวมถึงอาการต่างๆ ที่ผู้ป่วยพบ การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจดูแผลริมอ่อนที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนักอย่างละเอียด ตรวจต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ และส่งตัวอย่างหนอง หรือน้ำจากแผล ไปเพาะเชื้อ เพื่อแยกโรคนี้ออกจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
อาการของ โรคแผลริมอ่อน
สำหรับ อาการแผลริมอ่อน จะแบ่งอาการออกเป็นเพศชาย และหญิงโดยจะเริ่มแสดงเมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 สัปดาห์
- อาการของผู้ชาย บริเวณอวัยวะเพศมีตุ่มเล็กๆ สีแดงขึ้นจากนั้นไม่เกิน 48 ชม. จะมีอาการเปื่อย โดยตุ่มที่ว่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ จุดของร่างกายรอบๆ อวัยวะเพศ เช่น ถุงอัณฑะ, ปลายองคชาติ เมื่อแผลเริ่มเปื่อยจะรู้สึกถึงอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างหนัก
- อาการของผู้หญิง บริเวณแคมนอก จะมีตุ่มเล็กๆ สีแดงขึ้น 4 ตุ่ม หรือมากกว่านั้น โดยอาจเกิดที่บริเวณต้นขา, รูทวาร ก็ได้ เมื่อผ่านไป 48 ชั่วโมง จะเริ่มเปื่อย มีอาการปวดแสบปวดร้อนมากโดยเฉพาะเวลาปัสสาวะ หรืออุจจาระ รวมทั้งอาจมีอาการตกขาวมาก และมีกลิ่นรุนแรงผิดปกติ
ลักษณะของแผลที่เกิดขึ้น จะขนาดไม่ต่างกันระหว่างชายหญิงราว 2 นิ้ว ตามเส้นผ่าศูนย์กลาง หรือมีตั้งแต่ ⅛ – 2 นิ้ว (3 มิลลิเมตร – 5 เซนติเมตร) ตรงกลางแผลจะนิ่มสีออกเทา หรือเทาอมเหลือง ขอบแหลม มองเห็นชัด ตำแหน่งของแผลอาจเกิดได้ทั่วบริเวณอวัยวะเพศ ถ้าแผลสัมผัสกับสิ่งต่างๆ จะเลือดออกได้ง่ายมาก เวลาปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์จะเจ็บ บางรายอาจขาหนีบบวม รวมถึงต่อมน้ำเหลืองโตจนกลายเป็นหนองฝีขนาดใหญ่
โรคแผลริมอ่อนติดต่อได้อย่างไร
ต้องทำความเข้าใจว่า อาการของแผลริมอ่อน ที่ยกตัวอย่างมานั้น มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย แต่ทั้งนี้ยังมีช่องทางอื่นๆ ที่เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น การใช้ปาก การสัมผัสกับของเหลวที่ไหลออกจากแผลโดยตรงแล้วบริเวณคนที่สัมผัสมีแผลเชื้อก็เข้าสู่ร่างกายได้ทันที มือสัมผัสกับของเหลวแล้วสัมผัสตา เป็นต้น ส่วนใหญ่เชื่อแผลริมอ่อนมักเกิดกับประเทศที่ยังด้อยพัฒนาอยู่มาก หรือประเทศที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ค่อยมีความสะอาดมากนัก เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เป็นต้น
การป้องกัน โรคแผลริมอ่อน
หลักง่ายๆ คือการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่นอนของตน หรือถ้าหากไม่มั่นใจว่าแฟน สามี ภรรยา มีความเสี่ยงต่อการติดโรค หรือไม่ ก็ให้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยไว้ก่อน รวมถึงเมื่อเห็นว่าคู่นอนของตนเองมีแผลเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ก็ควรป้องกัน และไม่ควรใช้ปาก หรือสัมผัสเด็ดขาด
อีกวิธีที่ต้องใส่ใจคือ พยายามทำความสะอาดอวัยวะเพศของตน ไม่ให้มีแผล หรือสุ่มเสี่ยงจะเกิดแผล เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในทุกๆ ครั้งที่จะมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามหากรู้ว่าตนเองเกิดป่วยด้วยโรคนี้ขึ้นมาควรบอกให้คนข้างกายรับรู้ และไปพบแพทย์เพื่อรักษาจะดีที่สุด
แนวทางการรักษา โรคแผลริมอ่อน
สำหรับการรักษาโรคนี้จะแบ่งได้เป็น 2 วิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรง หรือเหมาะสมที่แพทย์ผู้ทำการรักษาเห็นสมควร โดยแนวทางการรักษาประกอบไปด้วย
- การทานยาปฏิชีวนะ ในการกำจัดเอาเชื้อแบคทีเรียออกไปจากร่างกายพร้อมทั้งยังให้ทานยาช่วยต้านไม่ให้เกิดโรคนี้ได้อีกง่ายๆ ในคนๆ นั้น
- การผ่าตัด กรณีที่แผลลุกลามจากต่อมน้ำเหลืองที่โตขึ้นจนกลายเป็นฝีอักเสบ มีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณนั้นผ่านมีดผ่าตัด หรือใช้เข็มฉีดยา จะช่วยลดอาการต่อมน้ำเหลืองบวม บรรเทาปวด อย่างไรก็ตามการรักษาแผลริมอ่อนวิธีนี้อาจมีแผลเป็นจากการผ่าตัดก็เป็นเรื่องธรรมชาติ
การรักษาด้วย การทานยาปฏิชีวนะ ส่วนใหญ่แผลมักดีขึ้นภายใน 3 – 7 วัน แต่การรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของแผลริมอ่อนด้วย แผลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยต้องมีวินัยในการทานยามากๆ และควรทานให้หมดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคแผลริมอ่อน
วิธีดูแลตนเองเพื่อให้ แผลริมอ่อน หายได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงโอกาสการเกิดซ้ำอีก เช่น
- ทำความสะอาด ล้าง อวัยวะเพศบ่อยๆ ทุกวัน
- ไม่มีเพศสัมพันธ์กับใครทั้งสิ้น ให้รอกว่าแผลจะหายเพื่อไม่ต้องติดเชื้อซ้ำ หรือไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น รวมทั้งจะทำให้มีอาการเจ็บ เนื่องจากแผลที่ถูกเสียดสี และยังเสี่ยงต่อการที่โรคจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ได้
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้รอแผลหายก่อนเท่านั้นจึงค่อยดื่มได้
- น้ำเกลือล้างทำความสะอาดตรงตุ่มแผลแล้วเช็ดให้แผลแห้ง
โรคแผลริมอ่อนอันตราย หรือไม่ ?
แผลริมอ่อน ไม่ได้รายแรงเหมือนโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ แต่ถ้ามองกันในความเป็นจริง คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเองแน่ๆ ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งที่ไม่ใช่คนรักของตนเอง ควรป้องกันด้วย ถุงยางอนามัย อยู่เสมอ และถ้าหากใครเริ่มสงสัยว่าตนเองจะป่วยด้วยโรคแผลริมอ่อนนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ดำเนินการตรวจ และรักษาอย่างถูกวิธี แค่นี้ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเป็นกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยความที่เมืองไทยเป็นประเทศในแถบร้อน โรคนี้จึงตรวจพบได้บ่อย ซึ่งการรักษาโรคแผลริมอ่อนไม่ใช่เรื่องยาก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เหมาะสม เผลอๆ รอยแผลเป็นอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่ถ้าหากปล่อยเอาไว้ไม่ว่าเพศหญิง หรือชาย โดยไม่ผ่านการรักษาอย่างถูกต้อง โอกาสเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่รุนแรงกว่าก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตามหากใครมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แผลก็มีสิทธิ์หายช้ากว่าคนปกติทั่วๆ ไป