ไขข้อสงสัย ระยะฟักตัวของโรคเอดส์นานแค่ไหน และมีอาการอย่างไรบ้าง

โรคเอดส์

ความจริงแล้ว โรคเอดส์ จะแสดงอาการตอนไหน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะมีอาการป่วยเมื่อไหร่ หากคนที่มีความเสี่ยงไม่ได้รับการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็ไม่อาจมองจากอาการที่เจอ หรือสังเกตด้วยตาเปล่าว่าคนๆ นี้กำลังมีเชื้อ และด้วยอาการป่วยภาวะเอดส์นั้นเกิดขึ้นได้ช้ามาก จึงยากที่จะบอกได้ หากไม่ได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสเอชไอวีให้ดีเสียก่อน อาจเหมารวมได้ว่า โรคเอดส์จำเป็นจะต้องแสดงอาการก่อนแล้วค่อยไปพบแพทย์

กี่ปีถึงจะรู้ว่าเราติดเชื้อเอดส์

การที่จะรู้ว่าเราติดเชื้อ คือการตรวจเลือดเท่านั้น แต่เชื้อในที่นี้หมายถึง เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome : AIDS) ทั้งสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน เพราะอย่างหนึ่งเป็นไวรัส และอย่างหนึ่งเป็นกลุ่มอาการ

หากร่างกายของเราได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้ามาแล้ว เชื้อจะค่อยๆ เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกทั่วไปว่าซีดีโฟร์ (CD4) และระบบภูมิคุ้มกันให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอลง เมื่อมีไวรัสเอชไอวีขยายตัวเจริญเติบโตมากๆ เข้า ร่างกายก็ไม่มีเกราะป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ที่แทรกเข้ามาในระหว่างที่ติดเชื้อ ทำให้ป่วยง่าย และเกิดโรคฉวยโอกาสเข้ามามากมาย จนอาจนำไปภาวะโรคเอดส์ได้ในภายหลัง

โรคเอดส์ ติดต่อกันง่ายไหม

คนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ ถูกๆ เกี่ยวกับช่องทางการติดต่อของเชื้อเอชไอวีอยู่มากเลยทีเดียว บางคนคิดว่าแค่เพียงสัมผัสใกล้ชิดก็มีสิทธิที่จะติดเชื้อได้แล้ว แต่ความเป็นจริง การกอด การหายใจร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การทานข้าวร่วมกัน ไม่ทำให้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ ที่สำคัญ เชื้อนี้ไม่ได้ติดต่อผ่านการโดนยุง หรือแมลงกัดต่อยอย่างแน่นอน การติดต่อส่วนใหญ่นั้นจะพบได้จากการ

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย (พบได้มากที่สุด)
  • มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี (พบมาให้กลุ่มผู้เสพยา)
  • ทารกในท้องคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี (พบได้น้อยมาก)
  • มีการรับเลือดบริจาคที่ไม่ผ่านการคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวีมาก่อน (แทบไม่พบแล้ว)

อาการเอดส์เป็นอย่างไร

ค่อนข้างยากมากที่คนที่เพิ่งติดเชื้อจะมีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่ก็สามารถแบ่งระยะของการติดเชื้อออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะเฉียบพลัน

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ระยะไม่ปรากฏอาการ” เป็นระยะที่ผู้มีความเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีมาแล้วประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนระดับ CD4 ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ผู้ติดเชื้อในระยะนี้อาจจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่น หรือต่อมน้ำเหลืองบวมโต ท้องเสีย ซึ่งในระยะเฉียบพลันนี้มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อไวรัสไปสู่คู่นอนได้มาก

ระยะสงบทางคลินิก

หรือ “ระยะแฝง” ที่จะไม่แสดงอาการอะไรเลย หรืออาจแสดงอาการเหมือนกับระยะเฉียบพลัน แต่จะปรากฏขึ้นในช่วงเวลาเล็กน้อยเท่านั้น จนนึกว่าป่วยธรรมดา ระยะสงบนี้เจ้าเชื้อไวรัสจะค่อยๆ เจริญเติบโตเพิ่มขึ้น และมุ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันให้ลดลง อาจอยู่ในระยะนี้ยาวนานถึง 7-10 ปี เป็นช่วงที่คนติดเชื้อชะล่าใจที่สุด และไม่ระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง และคู่นอนของตัวเอง

ระยะ โรคเอดส์

เมื่อไม่ได้รับการตรวจพบ ไม่ได้รับการรักษา โรคเอดส์ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายลงอย่างรุนแรง ระดับ CD4 ในร่างกายต่ำกว่า 200 จากที่คนทั่วไปจะอยู่ระดับค่าที่ 500-1,600 ทำให้ผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีในระยะนี้ติดเชื้อโรคชนิดอื่นได้โดยง่าย เพราะร่างกายมีความอ่อนแอนั่นเอง อาการช่วงนี้ ได้แก่

  • มีไข้บ่อย ไอเป็นเลือด ปวดศีรษะรุนแรง
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกเหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยร่างกาย อ่อนเพลีย
  • ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบบวมโต
  • ท้องเสียเรื้อรัง น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • เชื้อราที่ปาก เชื้อราในปอด ปอดอักเสบ เชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง
  • พบเชื้อวัณโรค เป็นงูสวัด และมีแผลเริมชนิดลุกลาม

หากผู้ป่วยเข้าสู่ระยะเอดส์แล้ว ค่อนข้างยากต่อการรักษา เพราะจะมีโรคอื่นๆ แทรกเข้ามาให้มีความเจ็บป่วยตลอดเวลา และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ภายใน 1-2 ปี

เอชไอวีรักษาได้

การรักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน วิธีที่ดีที่สุด คือ การทานยาต้านไวรัส โดยแพทย์จะใช้ยารีโทรไวรัส (ARV) ที่มีหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อเอชไอวีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ถูกทำลายไปจนหมด ทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาวเทียบเท่ากับคนทั่วไป อีกทั้งการทานยาต้านอย่างมีวินัยจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีสู่คู่นอนของคุณเองด้วย การพบเชื้อไว้ จะนำคุณให้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็วทำให้เชื้อเอชไอวีไม่พัฒนาไปสู่โรคเอดส์

หากคุณมีความกังวลใจว่า จะได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่คุณได้รับเพื่อทำการตรวจเลือด หรือหากยังอยู่ในระยะเวลาที่สามารถทานยาเป๊ป (PEP) ได้ แพทย์จะได้ทำการจ่ายยาป้องกันให้คุณทานใน 72 ชั่วโมงเพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ อยากให้เน้นย้ำความสำคัญของการกล้าตัดสินใจไปตรวจ เพราะเมื่อรู้ผลเร็ว จะได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้สุขภาพร่างกายแสดงอาการเจ็บป่วยแล้วจึงค่อยไปพบแพทย์นะครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า