เทศกาลเวิลด์ไพรด์ งานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสนับสนุนความเท่าเทียม

เทศกาลเวิลด์ไพรด์

ประเทศออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดงาน Sydney WorldPride 2023 ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดติดต่อกันนานถึง 17 วัน ผู้ร่วมงานกว่าครึ่งแสนร่วมชมพาเหรดงานสุดยิ่งใหญ่ มีการปิดสะพานที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถึง 50,000 คน สามารถเดินขบวนบนสะพาน ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ รวมระยะทางยาวประมาณ 4 กม. กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปิดท้าย เทศกาลเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ที่หลายประเทศทั่วโลกสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครได้ประกาศในงาน Bangkok Pride 2023 วางแพลนว่าจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2028

เป้าหมายของการจัดงาน เทศกาลเวิลด์ไพรด์

เป้าหมาย เวิลด์ไพรด์ (World Pride) เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2540 เพื่อสนับสนุนและสร้างความตระหนักให้ทั้งโลกรู้จักและเข้าใจสังคมของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่การจัดกิจกรรมเดินพาเหรดมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2543 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจะจัดเป็นประจำทุกๆ 2 ปี

งานบางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) ที่ประเทศไทย

จัดงานที่ชื่อว่า บางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride) โดยวาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ซึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรดของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเมื่อปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนชื่อใหม่ในครั้งนี้ก็เพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดงาน World Pride ในปี ค.ศ.2028 การจัดงาน World Pride  ซึ่งต้องได้การยอมรับจากชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ ความพร้อมของเมือง รวมถึงการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

ความหลากหลายทางเพศยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก

วาดดาวชี้ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึง Medical Hub Tourism จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงที่ดีในหมู่ชาวต่างชาติว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการยืนยันเพศและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ พร้อมทั้งมีการรับรองด้านสุขภาพจิตด้วย อีกทั้งยังมีราคาที่จับต้องได้พร้อมด้วยบริการที่สะดวกสบายรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ซึ่งวาดดาวมองว่าหากรัฐบาลมีการเก็บข้อมูลตัวเลขในส่วนนี้อย่างจริงจังและมีการสนับสนุนธุรกิจ Medical Hub Tourism ในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม LGBTQIA+ ไปทั่วประเทศ ก็อาจสร้างเม็ดเงินได้ถึงหลักแสนล้านบาท

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล ในงาน บางกอกไพรด์ 2023 

คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลมองเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ Pride Month แต่คือ Pride Always และจะร่วมมือร่วมใจกับผู้ว่าฯ กทม. ทำเรื่องนี้ โดย 45 ร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอต่อสภามีอย่างน้อย 2 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งจะนำกิจกรรมระดับโลก World Pride มาจัดที่กรุงเทพมหานครในปี 2028 ให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสังคมไทยว่า คนเท่ากัน 

“ในฐานะที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องมองเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ Pride Month มันคือ Pride Always ก็ต้องพูดให้ชัด ๆ ว่าภายใต้รัฐบาลของพรรคก้าวไกล ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำงานกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการนำ เทศกาลเวิลด์ไพรด์ World Pride 2028 มาจัดที่กรุงเทพฯ ให้จงได้”

เป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride

การจัดงานบางกอกไพรด์มีเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยจัดงานระดับโลก World Pride เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก แนวคิดสำคัญคือ Beyond Gender เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

4 ประเด็นสำคัญของ เทศกาลเวิลด์ไพรด์ ที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม

  1. สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) คือ การสมรสระหว่างบุคคลสองคน ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้น เป็นการรับรองสิทธิในการสมรสให้กับบุคคลทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  2. การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition) คือการที่รัฐหรือหน่วยงานทางกฎหมายรับรองเพศสภาพที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล โดยทั่วไปแล้ว การรับรองเพศสภาพจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเอกสารทางกฎหมายต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เอกสารทางการศึกษา หรือเอกสารทางการแพทย์ เพื่อให้เพศสภาพที่ระบุในเอกสารเหล่านั้นสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคล
  3. สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights) คือสิทธิในการทำงานทางเพศที่ครอบคลุมถึงสิทธิและเสรีภาพในการทำงานทางเพศอย่างปลอดภัย เท่าเทียม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิเหล่านี้รวมถึง
    • สิทธิในการประกอบอาชีพการทำงานทางเพศอย่างอิสระและไม่ถูกจำกัด
    • สิทธิในการได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เท่าเทียมกับแรงงานทั่วไป
    • สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและความปลอดภัย
    • สิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมและกฎหมาย
    • สิทธิในการได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิดและความรุนแรง
  4. สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ (Equal Right to Health) คือสิทธิและสวัสดิการของรัฐที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ รสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ เป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สวัสดิการเหล่านี้จะช่วยให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขและสมศักดิ์ศรี โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQIA+ ครอบคลุมถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เช่น
    • สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข
    • สิทธิในการได้รับการศึกษาและการพัฒนาตนเอง
    • สิทธิในการประกอบอาชีพและการทำงานอย่างเท่าเทียม
    • สิทธิในการได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิดและความรุนแรง
    • สิทธิในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางสังคมและกฎหมาย

วาดดาว ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ ได้พูดถึงการจัดงานระดับโลก เทศกาลเวิลด์ไพรด์ World Pride

ชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก เทศกาลเวิลด์ไพรด์ (World Pride) ในปี 2028 ได้ โดยเป้าหมายในการจัดงานไม่เพียงเป็นการเฉลิมฉลอง แต่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี พร้อมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม และหากถ้า Bangkok Pride ทำได้สำเร็จจะถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นการเปิดประตูความหลากหลายทางเพศให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้

เราเชื่อว่าการที่หลายประเทศทั่วโลกหรือต้องการเป็นเจ้าภาพงาน World Pride มาก เพราะหัวใจสำคัญคือต้องการเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ หากรัฐบาล หรือภาคธุรกิจ หอการค้าต่าง ๆ มองเห็นความสำคัญว่าเม็ดเงินก้อนนี้ที่จะกลายเป็นธุรกิจใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ เราอย่าพลาดโอกาสนี้ เพราะเราเชื่อว่าหลายประเทศอยากได้เม็ดเงินก้อนนี้ ไม่อย่างนั้นเขาไม่รีบแก้กฎหมายจำนวนมาก เราก็หวังว่า 5-6 ปีข้างหน้า ถ้าวันหนึ่งเห็นว่า World Pride กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็คิดว่าวันนั้นอาจจะเปิด paradigm ใหม่ในความคิดของผู้คน ที่เปิดพื้นที่ให้กับพหุวัฒนธรรมจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือความหลากหลายทางเพศ”

การขับเคลื่อนเมืองแห่งความหลากหลาย พร้อมโอบอุ้มทุกความแตกต่าง ต้องเตรียมความพร้อมของ Human Right ก่อน อย่างเช่น ถ้ามีคนหลักหมื่นซึ่งเป็น LGBTQ+ โรงแรมไหนบ้างที่รองรับพวกเราโดยที่ไม่กีดกันทางเพศ มีห้องน้ำที่ไม่ได้เป็น binary restroom นี่เป็นสิ่งที่เมืองจะต้องเริ่มพัฒนาให้เห็นว่าคุณเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ซึ่งจะทำให้สังคมลดการแบ่งแยกและมีความเท่าเทียมมากขึ้น

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อทำให้คุณพบกับความแตกต่างจากผู้ใช้อื่น ๆ ของเว็บไซต์ของเรา Cookies policy ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เราสามารถส่งมอบประสบการณ์ ที่ดีเมื่อคุณติดตามเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราและยังช่วยให้เราในการปรับปรุงเว็บไซต์ของเราอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณใช้งานเว็บไซต์ของเรา ถือว่าคุณได้ยินยอมให้เราใช้คุกกี้ Cookie settings

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว บันทึกการตั้งค่า