หลายคนคงไม่คิดว่า จะไป ตรวจมะเร็งทวารหนัก หรอก เพราะไม่คิดว่ามันเป็นส่วนที่สำคัญอะไร แต่ในบางกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่าง การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก (Anal Sex) ถือเป็นการสร้างสีสันให้กิจกรรมบนเตียงของคู่รัก ได้มีความสุขมากขึ้น ทั้งในคู่รักชายหญิงทั่วไป รวมทั้งกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย “ทวารหนัก” จึงกลายเป็นบริเวณที่เราควรให้ความใส่ใจ ไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
การสอดใส่อวัยวะเพศชายหรือเซ็กส์ทอย ไปในทวารหนักของคู่นอน ช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับอีกฝ่ายจนสามารถถึงจุดสุดยอดได้ เช่นเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์แบบอื่น หรือในกลุ่มชายรักชาย ที่เป็นฝ่ายรับให้สามารถมีความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ได้ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักยังช่วยลดความเครียด ทำให้นอนหลับสบาย เสริมความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีที่เป็นเพศหญิงอีกด้วย
ความสำคัญของทวารหนัก
ทวารหนักนั้น เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นส่วนท้ายสุดของระบบย่อยอาหาร โดยมีหน้าที่หลัก ในการควบคุมการปล่อยของเสียออกจากร่างกาย ขับถ่ายอุจจาระ ประกอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูด 2 ส่วน คือ หูรูดภายใน (Internal Sphincter) และหูรูดภายนอก (External Sphincter) โดยเป็นส่วนที่ต่อจากลำไส้ และภายนอก มีลักษณะเป็นรูอยู่กลางร่างกายระหว่างก้น
“ชายรักชาย เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทวารหนักมากกว่าคนทั่วไปถึง 40 เท่า!”
ในการร่วมเพศทางทวารหนัก มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บ มากกว่าการมีเซ็กส์ทางช่องคลอดหรือการทำออรัลเซ็กส์ (ทำรักทางปาก) เพราะเยื่อบุบริเวณรอบทวารหนักมีความบอบบางมาก หากมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดการฉีกขาดได้ เนื่องจากอวัยวะส่วนนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเซ็กส์ จึงไม่มีสารหล่อลื่นเหมือนกับช่องคลอด เมื่อมีการร่วมเพศอาจทำให้เกิดแผลที่ขอบทวารหนัก หรือมีเลือดออก ทำให้รู้สึกแสบ และเจ็บปวดเมื่อถ่ายอุจจาระ เป็นต้น
โรคที่อาจเกิดขึ้นได้หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- มะเร็งทวารหนัก
- หนองใน
- ซิฟิลิส
- เริม
- ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี
- ไวรัสเอชไอวี
- เชื้อพยาธิลำไส้
รู้จักโรคมะเร็งทวารหนัก
โรคมะเร็งทวารหนัก เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับเพศหญิงในโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งช่องคลอด เชื้อ HPV นี้สามารถติดต่อกันได้ในบริเวณอวัยวะที่บอบบางพวกนี้ เพราะทั้งทวารหนัก ช่องคลอด หรือช่องปาก เป็นส่วนที่มีการเปลี่ยนชนิดจากเยื่อบุ เป็นผิวด้านนอก จึงเป็นแหล่งที่เชื้อชอบเข้าไปสะสมอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ทั้งนั้น อาการของโรคมะเร็งทวารหนัก จะทำให้มีอาการคันผิดปกติบริเวณทวารหนัก มีเลือดออก มีก้อนเนื้อขนาดเล็ก และเติบโตช้า การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม ต่อมน้ำเหลืองโต ขาหนีบบวมได้ วิธีป้องกันนอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนักเป็นประจำ ก็จะช่วยให้เรารู้ปัญหาสุขภาพของตนเอง และหากพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถทำการรักษาได้ทันที
ใครบ้างที่ควร ตรวจมะเร็งทวารหนัก ?
- ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือเชื้อเอชพีวี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่ต้องการทราบว่ามีโรคทางทวารหนักหรือไม่
- ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือโรคมะเร็งช่องคลอด
เตรียมตัวอย่างไรก่อน ตรวจมะเร็งทวารหนัก
ก่อนเข้ารับการตรวจ ควรเตรียมตัวให้พร้อม แพทย์จะทำการซักประวัติส่วนตัว ประวัติคนในครอบครัวว่าเคยมีใครเป็นโรคมะเร็งมาก่อนหรือไม่ ซักอาการที่ผิดปกติหากมี เช่น อาการแน่นท้อง ปวดเสียด ท้องผูก ท้องเสียบ่อยครั้ง น้ำหนักลดลง มีเลือดปนออกมาระหว่างถ่ายอุจจาระ อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนัก เป็นต้น โดยทั่วไปจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที ผู้ตรวจอาจรู้สึกตึงๆ หรือแน่นท้องได้ หากแพทย์ทำการตรวจด้วยการใส่กล้องเข้าไปในรูทวารหนัก ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก หรือในบางรายถ้ามีอาการปวดมาก แพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ หลังจากตรวจทวารหนัก สามารถรับประทานอาหารและทำกิจกรรมได้ตามปกติ
วิธีการ ตรวจมะเร็งทวารหนัก
วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนัก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่
ตรวจคัดกรองมะเร็งทวารหนัก (Anal Pap Smear)
ทำได้โดยการป้ายเอาเนื้อเยื่อ ในรูทวารหนัก ลึกลงไปราว 2 เซ็นติเมตร นำมาส่องกล้องตรวจหาเชื้อ ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และสามารถทราบผลการตรวจภายใน 2-3 วัน หากผลตรวจไม่พบเซลล์ที่ผิดปกติ ควรทำการตรวจมะเร็งทวารหนักซ้ำปีละ 1 ครั้ง แต่หากเจอเซลล์ที่ผิดปกติ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม ถ้าอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้
ตรวจมะเร็งทวารหนัก ด้วยกล้องกำลังขยาย (High Resolution Anoscopy)
ทำได้โดยการใส่อุปกรณ์เข้าไป ในรูทวารหนัก และใช้กล้องที่มีกำลังซูมขยาย เพื่อดูตำแหน่งที่ปากทวารหนักว่า มีความผิดปกติใด หากพบ แพทย์จะนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที หากมีการตรวจชิ้นเนื้อ จะสามารถทราบผลการตรวจภายในเวลา 3-5 วัน
การตรวจคัดกรองคัดกรองมะเร็งทวารหนักทั้ง 2 วิธีนี้ ไม่ทำให้ผู้ตรวจรู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยถ้าเป็นการตรวจแบบใช้กล้อง High Resolution Anoscopy แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการตรวจ คุณอาจรู้สึกอึดอัดเพียงเล็กน้อย แต่อยากให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง การตรวจแบบนี้สามารถวินิจฉัยโรคได้หลายชนิด เช่น มะเร็งทวารหนัก แผลปริที่ขอบทวารหนัก ริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น
มีเซ็กส์ประตูหลังอย่างไรให้ปลอดภัย
คำแนะนำ | คำอธิบาย |
---|---|
ทำความสะอาดก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ | ไม่ควรสวนล้างหรือฉีดน้ำเข้าไปอย่างรุนแรง ให้ใช้น้ำเปล่าลูบทำความสะอาดเบาๆ หรือใช้สบู่อ่อนล้างบริเวณนั้น และควรถ่ายอุจจาระให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันอาการปวดในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์อยู่ |
ตัดเล็บมือให้สั้น | ล้างมือให้สะอาดและตัดเล็บให้สั้น เพราะหากมีการใช้นิ้วสอดใส่ด้วย ถ้าเล็บยาวอาจทำให้คู่นอนบาดเจ็บและติดเชื้อจากการโดนเล็บข่วน |
เลือกขนาดเซ็กส์ทอยที่พอดี | ขนาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรเลือกไซส์ที่ใหญ่จนเกินไป เพราะทำให้การสอดใส่ยากลำบากและคู่นอนอาจจะรู้สึกเจ็บ ไซส์ที่พอดีจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย |
ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง | การใช้ถุงยางอนามัยยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ และช่วยให้คุณปลอดภัย แต่ระวังอย่าสอดใส่ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และทางปาก ในคราวเดียวกัน เพราะจะปนเปื้อนเชื้อโรค ถ้าจะทำ ให้เปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่เปลี่ยนช่องทางการสอดใส่ |
ใช้เจลหล่อลื่นสูตรน้ำหรือซิลิโคน | ที่สำคัญควรเลือกใช้สารหล่อลื่นให้ตรงกับประเภทถุงยางอนามัยด้วย เพื่อช่วยให้การสอดใส่ง่ายขึ้น และลดโอกาสที่ถุงยางจะแตกหรือรั่ว จนเกิดความเสี่ยงได้ ห้ามใช้สารหล่อลื่นประเภทน้ำมันเด็ดขาด |
ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง | ควรทำแบบเบาและช้า เพราะหากทำการสอดใส่แบบแรงๆ จะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักเกิดการฉีกขาด และเป็นแผล |
พบแพทย์เป็นประจำ | คุณและคู่นอนควรได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีโรคใดอยู่และเข้ารับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ให้โรคลุกลามใหญ่โต |
ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV | สามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไปจนถึง 45 ปี โดยเพศชายควรเลือดฉีดวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่และมะเร็ง |
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่
การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร หากเราศึกษาและเรียนรู้วิธีป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังควรมีการพูดคุยระหว่างคู่นอนของตน ถึงรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์แบบนี้ด้วย เพราะในบางคู่ก็ยังไม่เคยได้ลิ้มลองเซ็กส์ทางประตูหลังมาก่อน อาจมีความกังวลใจอยู่บ้าง แต่ถ้าได้มีการพูดคุยตกลง รับฟังระหว่างกัน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักที่ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน ซึ่งมะเร็งทวารหนักเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อย พบได้ประมาณ 1% ของมะเร็งทั้งหมด มักพบในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งทวารหนัก โรคอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง เป็นต้น