กามโรค หรือ Venereal Disease คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านการมีเซ็กส์กับคนที่เป็นโรคอยู่แล้ว ในทางการแพทย์ จะเรียกโรคกลุ่มนี้ว่าเป็น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ Sexually Transmitted Disease : STD หรือ Sexually Transmitted Infection : STI ก็ได้เช่นกัน คนทั่วไปเรียกย่อๆ ว่า “กามโรค” เพราะเป็นการติดเชื้อจากกาม หรือการร่วมเพศนั่นเอง กลุ่มโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนสู่คนเท่านั้น โดยผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เลือด น้ำนม น้ำเหลือง น้ำไขสันหลัง น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศหญิงและชาย ของเหลวในช่องคลอดและทวารหนัก เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เป็น กามโรค
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดกามโรค สามารถแยกออกตามชนิดของเชื้อได้ ดังนี้
- เชื้อไวรัส ได้แก่
- ไวรัสเอชไอวี
- เริมที่อวัยวะเพศ
- หูดหงอนไก่
- ไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัสตับอักเสบซี
- หูดข้าวสุก
- เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
- ซิฟิลิส
- แผลริมอ่อน
- เชื้อพยาธิ และเชื้อรา ได้แก่
- เชื้อราในช่องคลอด
- เชื้อราที่หนังหุ้มองคชาติ
- เชื้อราที่ขาหนีบ (สังคัง)
พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ติดกามโรคมีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ที่เรื่องการมีกิจกรรมทางเพศเป็นหลัก โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบสวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนักกับใครก็ตามที่เราไม่รู้ว่าเป็นกามโรคอยู่ มีข้อมูลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวกับผู้ชายที่มีเชื้อหนองในโดยไม่ได้ป้องกัน มีโอกาสติดเชื้อประมาณ 70-80% เลยทีเดียว พฤติกรรมความเสี่ยงอื่นๆ ที่ควรรู้ ได้แก่
- การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ให้บริการทางเพศ
- การเลือกถุงยางอนามัยไม่เหมาะสมกับขนาดอวัยวะเพศของตนเอง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนไม่แน่ใจว่าตนเองได้ป้องกันหรือไม่
- การสวมถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้มีการสวมทุกครั้งที่มีเซ็กส์
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และเสพยาเสพติดจนเกิดอาการเมายาขาดสติ
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค
ลักษณะอาการส่วนใหญ่ของ กามโรค
อาการของกามโรค นั้นมีหลากหลายแบ่งตามเชื้อที่เป็น ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอาการให้เห็น จนกระทั่งเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้วจึงรู้ว่าเป็นกามโรคใด หรือรู้ว่าตัวเองติดโรค ก็ต่อเมื่อคู่นอนของคุณ ไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นกามโรคแล้ว อาการที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นกามโรค มีดังต่อไปนี้
- เวลาปัสสาวะ รู้สึกแสบขัด
- มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
- รู้สึกเจ็บ หรือมีก้อนบวม หรือแผล ที่บริเวณปากและทวารหนัก
- ต่อมน้ำเหลืองบวม และปวดที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่ขาหนีบ
- มีน้ำหรือหนองไหลออกมาจากบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย หรือจากช่องคลอด
ภายหลังจากที่คุณมีความเสี่ยงต่อ กามโรค ระยะเวลาที่จะปรากฏอาการ หรือเรียกว่า ระยะฟักตัว (Window Period) อาจใช้เวลาแค่ไม่กี่วันไปจนถึง 3-6 เดือน ในบางราย อาการหรือรอยโรคที่เกิดขึ้นอาจหายไปได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ แม้จะไม่ได้ทำการรักษาเลยก็ตาม อย่างไรก็ดี อาจมีการกลับเป็นซ้ำของกามโรคได้และอาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในภายหลัง
ดังนั้นเมื่อมีเซ็กส์กับคนที่คาดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการชวนสงสัยว่าจะเป็น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ และก่อนมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่แรกก็ควรทำการตรวจกามโรคเป็นระยะๆ ด้วยหากคุณเป็นคนที่มีความเสี่ยงบ่อย จะเป็นการป้องกันกามโรค และเป็นการรักษาตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ และมีสุขภาพที่ดีได้
ตรวจกามโรค แพทย์จะถามอะไรบ้าง
การเตรียมตัวก่อนไปตรวจย่อมเป็นสิ่งดี คุณควรจดบันทึกอาการต่างๆ ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อไว้ กันตกหล่นในการปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ รวมไปถึงการแจ้งยาที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน และยาที่แพ้ให้แพทย์ทราบด้วย โดยแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ตรวจอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ ดังนี้
- ถามถึงสาเหตุที่คุณมาตรวจว่าเสี่ยงมาตอนไหนอย่างไร
- ถามถึงรสนิยมทางเพศที่คุณได้มีเพศสัมพันธ์ด้วย
- ถามถึงจำนวนคู่นอนของคุณว่าการเปลี่ยนบ่อยไหม
- ถามถึงประวัติการใช้เข็มฉีดยาเสพสารเสพติด
- ถามถึงความรู้ในการป้องกันตัวเองจากกามโรค
- ถามถึงความเสี่ยงล่าสุดที่คุณตัดสินใจมาตรวจครั้งนี้
หลังจากซักประวัติเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม อาจทำได้โดยการตรวจเลือด หรือสารคัดหลั่ง จากรอยโรคที่เป็นอยู่ และจากปัสสาวะ สำหรับใครที่ต้องการมีบุตร หรือหญิงตั้งครรภ์ทุกราย แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวี ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และการติดเชื้อหนองในแท้ เพิ่มเติมเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อดังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วย นอกเหนือจากนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีอยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงในการเป็นกามโรคได้ง่ายกว่าปกติ จึงควรรับการตรวจโรคซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจาก กามโรค
ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุจากกามโรคนั้นอาจพบได้ หากไม่ได้รับการรักษา หรือการรักษาไม่ได้ผล เช่น อาการปวดหรือมีก้อนบวมในร่างกาย แสบและคันที่อวัยวะเพศ เกิดผื่นแดงทั่วตัว รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ลูกอัณฑะบวมแดง ปวดอุ้งเชิงกราน (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) มีฝีหนอง ที่บริเวณขาหนีบ มีอาการดวงตาอักเสบ ข้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้คุณควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองวินิจฉัยกามโรคในระยะเริ่มต้น และทำการรักษาทันที
“สิ่งที่ดีที่สุด คือ การใส่ใจที่จะเรียนรู้และป้องกันการติดกามโรคตั้งแต่วันนี้”
เราจะป้องกันความเสี่ยงกามโรคได้อย่างไร
การไม่มีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นวิธีดีที่สุดในการป้องกัน กามโรค แต่คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งกามโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาได้ไม่ยาก และกามโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษาและควบคุมโรคได้ แต่มักจะไม่หายขาด หากตรวจพบว่าเป็นกามโรคในขณะที่ตั้งครรภ์จะสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ การรักษากามโรค ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
- การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อพยาธิ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส
- การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ในกรณีที่เป็นกามโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เริมที่อวัยวะเพศ ไวรัสเอชไอวี
- หากอยู่ในระหว่างการรักษากามโรค ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหายแล้ว
- ควรมีการตรวจติดตามภายหลังการรักษา เพื่อความมั่นใจว่าหายจากกามโรคแล้วหรือไม่
- แจ้งคู่นอนของคุณ หากคุณเองมีความเสี่ยงหรือตรวจพบว่าเป็นกามโรค เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาไปพร้อมกัน
- การที่คู่นอนของคุณปลอดจากกามโรค จะลดการแพร่กระจายและป้องกันปัญหาการติดซ้ำอีกรอบ
- การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีดีที่สุดในการป้องกันการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (แต่เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก)
- การไม่สำส่อนทางเพศ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือลดจำนวนคู่นอนลง จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคได้
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี HPV และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- การใช้ถุงยางอนามัยให้ได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และยังต้องใช้อย่างถูกวิธีด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เนื่องจากจะทำให้คุณขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดกามโรคได้
- การขลิบอวัยวะเพศชาย จะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ชายจะติดเชื้อเอชไอวีจากผู้หญิงที่เป็นโรคได้ถึง 50-60% นอกจากนี้ การขลิบยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชพีวีและโรคเริมได้อีกด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อคุณสงสัยว่าอาจเป็นกามโรคควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังคู่นอน จนกว่าผลการตรวจจะยืนยันว่าคุณไม่ได้เป็นกามโรคแต่อย่างใด หรือหากเป็นจริงๆ ก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะรักษาโรคเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ การเป็นกามโรค ย่อมส่งผลทางจิตใจค่อนข้างมาก คุณอาจรู้สึกโกรธหรือละอายใจเมื่อรู้ว่าติดโรคที่เป็นผลร้ายกับสุขภาพของคุณ อย่างไรก็ดี เราไม่ควรโทษใคร เพราะการได้รับเชื้อกามโรคมา อาจเกิดขึ้นจากสิ่งผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ และเราควรให้ความสนใจกับปัจจุบันจะดีที่สุดครับ