หลายคนคงมีความสงสัยว่า หากต้องการตรวจสุขภาพก่อนเดินทาง ไปทำงานต่างประเทศ จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีด้วย หรือไม่? ซึ่งสิ่งนี้ เป็นข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศทุกคน ในเกือบทุกที่ทั่วโลกไม่อาจเลี่ยงได้ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยตรง ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศไหน การตรวจร่างกาย หรือตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทางถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และเป็นการยืนยันว่ามีคุณมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ไม่เป็นโรคต้องห้ามสำหรับบางประเทศ และบางลักษณะงาน อีกทั้งยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่อาจมีขึ้นได้ระหว่างที่คุณทำงานในต่างแดนนั่นเอง
สารบัญ
1. ความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อน ไปทำงานต่างประเทศ
2. ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพก่อน ไปทำงานต่างประเทศ
3. ไปทำงานต่างประเทศ ต้องตรวจอะไรบ้าง?
- การฉีดวัคซีน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยป้องกันโรคต้องห้ามในแต่ละประเทศ
- เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสุขภาพไปต่างประเทศ
4. ราคาค่าตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ
5. รวมโรคต้องห้ามในการทำงานแต่ละประเทศ
- ประเทศไต้หวัน (Taiwan)
- ประเทศฮ่องกง (Hongkong)
- เกาะไซปัน (Saipan)
- ประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates), ประเทศกาตาร์ (Qatar), ประเทศโอมาน (Oman), ประเทศคูเวต (Kuwait) และประเทศบาห์เรน (Bahrain)
- ประเทศลิเบีย (Libya)
- ประเทศสิงค์โปร์ (Singapore)
- ประเทศกรีซ (Greece)
- ประเทศอิสราเอล (Israel)
- ประเทศญี่ปุ่น (Japan)
- ประเทศเกาหลี (Korea)
- ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)
- ประเทศบรูไน (Brunei)
- ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อน ไปทำงานต่างประเทศ
การไปทำงาน หรือเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากมีค่าตอบแทนที่น่าพอใจ และอัตราการจ้างงานสูง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเดินทางไปต่างประเทศ คือ สุขภาพ เมื่อไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง อาจจะทำให้การเดินทาง และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ ควรที่จะต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่คุณสนใจจะเดินทางไปนั้น มีโรคต้องห้ามใดๆ อยู่ หรือไม่ เพื่อที่จะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ตรงกับโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศนั้นๆ เพราะการเดินทางไปยังต่างประเทศ หรือต่างถิ่นที่อยู่ไกลๆ อาจมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่คาดคิดได้
ซึ่งการไปทำงานต่างประเทศนั้น มีวิธีการที่ไปได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะไปติดต่อกับบริษัทจัดหางาน เพื่อจัดส่งไป หรือติดต่อกรมการจัดหางาน แม้กระทั่งคุณติดต่อหางานได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพก่อน ไปทำงานต่างประเทศ
ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบที่สำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การตรวจสุขภาพ หรือตรวจโรคก่อนไปทำงานยังประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สำหรับวัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศ มีดังนี้
เป็นการตรวจความพร้อมด้านสุขภาพ ก่อนที่เราจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยการตรวจสุขภาพจะทำให้ทราบว่าตัวเราเองมีสุขภาพที่แข็งแรง หรือไม่ และสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงทางด้านภาวะสุขภาพของเราได้ เช่น ทำให้ทราบว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมสำหรับการทำงานแต่ละประเภทงานได้ หรือไม่ เพราะหากสุขภาพไม่พร้อม ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งหากเกิดการล้มป่วย หรือบาดเจ็บย่อมเป็นปัญหาต่อการทำงานได้ และที่สำคัญนายจ้างก็คงไม่อยากต้องมานั่งรับผิดชอบดูแล หากเราเกิดการเจ็บป่วยระหว่างที่ทำงาน หากมีอุปสรรคด้านสุขภาพ จะได้คิดวางแผนการชีวิตที่เหมาะสมต่อไป ว่าควรเดินทางไปทำงาน หรือไม่
สำหรับบางประเทศ การมีโรคประจำตัว จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน โดยเฉพาะหากงานที่ต้องทำนั้น เป็นงานที่ค่อนข้างใช้แรงงาน การมีโรคประจำตัว อาจจะส่งผลให้อาการกำเริบรุนแรง เมื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ดังนั้น หากตรวจพบว่าบุคคลนั้นมีโรคประจำตัวอาจจะส่งผลต่อการไปทำงานได้ สำหรับโรคต้องห้ามของการตรวจสุขภาพไปต่างประเทศส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วย โรควัณโรค โรคปอด ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส และโรคเอดส์ หรืออาจจะเป็นโรคต้องห้ามอื่นๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเงื่อนไขของแต่ละประเทศ หากไม่เป็นโรคต้องห้ามใดๆ ที่กำหนดไว้ ก็มีสิทธิ์เข้าไปทำงานในประเทศ นั้นๆ ได้
ไปทำงานต่างประเทศ ต้องตรวจอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการตรวจจะคล้ายกับการตรวจร่างกายทั่วไป คือ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดส่วนสูง วัดสายตา ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ เอ็กซเรย์ปอด และคัดกรองโรคต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรคส่วนมากที่ต่างประเทศเน้นย้ำให้ตรวจก่อนเดินทางไปทำงาน คือโรคติดต่อที่อาจแพร่กระจายได้ เช่น โรคเรื้อน เท้าช้าง พยาธิ โรคปอด วัณโรคปอด (ในระยะแพร่กระจาย) โรคซิฟิลิส และเอชไอวี
การฉีดวัคซีน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยป้องกันโรคต้องห้ามในแต่ละประเทศ
ในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ คือ อีกวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ ตัวอย่าง เช่น ประเทศไต้หวัน จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) และให้ยาถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิด ที่จำเป็นต้องฉีดหากต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยพิจารณาจากประเทศที่ไป กิจกรรม หรือลักษณะงานที่ทำ และระยะเวลาอยู่อาศัย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ
- วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนการเดินทาง (Required vaccine) เป็นไปตามกฏอนามัยระหว่างประเทศ (WHO IHR) โดยในปัจจุบันมีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนไข้เหลือง ซึ่งผู้ที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกา และอเมริกาใต้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน
- วัคซีนที่แนะนำให้ใช้ในผู้เดินทางตามความเหมาะสม (Recommended vaccine for travelers) โดยแพทย์จะพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ความเสี่ยงในการติดเชื้อในประเทศ หรือสถานที่ที่จะไป ระยะเวลาที่จะไป กิจกรรม หรือลักษณะงานที่จะไปทำ ตลอดจนต้องพิจารณาถึงตัวผู้เดินทาง และตัวโรคด้วย
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสุขภาพไปต่างประเทศ
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ
สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ใบ
รูปถ่ายสี หรือขาวดำ 1 นิ้วครึ่ง หรือ 2 นิ้ว 2 ใบ (หากต้องการใบรับรองแพทย์มากกว่า 1 ชุด กรุณาเตรียมรูปมาเพิ่ม 1 ใบ/ชุด)
เขียนข้อมูลเหล่านี้ลงใน สำเนาบัตรประชาชน ให้ชัดเจน
- ประเทศที่จะไปทำงาน
- เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้
- ชื่อบริษัทที่รับทำงาน
ราคาค่าตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ
โปรแกรมตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ จะมีราคาตั้ง แต่ 500-1,500 บาท ขึ้นอยู่กับรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น
ประเทศ | รายการละเอียดการตรวจ | ราคา (บาท) |
---|---|---|
ยุโรป |
|
850 |
สหรัฐอเมริกา |
|
560 |
เกาหลี |
|
1500 |
รวมโรคต้องห้ามในการทำงานแต่ละประเทศ
คุณควรที่จะต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่สนใจจะเดินทางไปมีโรคต้องห้ามใดๆ อยู่ หรือไม่ เพื่อที่จะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ตรงกับโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศนั้นๆ
ประเทศไต้หวัน (Taiwan)
- กามโรค (ซิฟิลิส) รวมถึงได้รับการรักษาแล้ว ผล TPHA บวก
- วัณโรค รวมถึงกรณีปอดเป็นจุด ปอดผิดปกติมีแผลเป็นเนื่องจากเคยเป็น และรักษาหายแล้ว
- พยาธิ (ยกเว้นพยาธิในลำไส้จะอนุญาตให้อยู่รักษาในไต้หวันภายในเวลา 1 เดือน)
- โรคเรื้อน
ประเทศฮ่องกง (Hongkong)
- กามโรค (ยกเว้นได้รับการรักษาแล้ว)
- วัณโรค
- ไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคพยาธิ
- การตั้งครรภ์
- โรคอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
เกาะไซปัน (Saipan)
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ
ประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates), ประเทศกาตาร์ (Qatar), ประเทศโอมาน (Oman), ประเทศคูเวต (Kuwait) และประเทศบาห์เรน (Bahrain)
กลุ่มโรคติดต่อ
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคมาเลเรีย
- โรคเรื้อน
- วัณโรค, ฝีในปอด
- กามโรค เช่น ซิฟิลิส
กลุ่มโรคไม่ติดต่อ
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคตับเรื้อรัง
- โรคหัวใจ
- โรคเครียด
- โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้
- โรคมะเร็ง
- โรคจิต, วิกลจริต
- พิการอื่นๆ เช่น ตาบอดสี (สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถ) หูหนวก เป็นต้น
- การตั้งครรภ์ (จะต้องมีการตรวจร่างกายคนงานหญิงทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน)
ประเทศลิเบีย (Libya)
- โรคซิฟิลิส ตรวจโดย VDRL
- โรคเอดส์ (HIV)
- การตรวจอุจจาระ โดยวิธี Stool RIB
- การตรวจปัสสาวะ (Urine)
- วัณโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบทุกประเภท (Hepatitis Virus)
ประเทศสิงค์โปร์ (Singapore)
- กามโรค (ยกเว้นได้รับการรักษาแล้ว)
- วัณโรคปอด
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
ประเทศกรีซ (Greece)
- โรคเอดส์ (HIV)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคมาลาเรีย หรือไข้จับสั่น (Malaria)
ประเทศอิสราเอล (Israel)
- วัณโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคซิฟิลิส
- กามโรค
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคตาบอดสี
ประเทศญี่ปุ่น (Japan)
- โรคระบาด และโรคติดต่อ
- โรคไข้เลือดออกอีโบล่า (Ebola hemorrhagic fever)
- โรคไข้เลือดออกไครเมียน – คองโก Crimean-Congo haemorrhagic fever (CCHF)
- โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)
- กาฬโรค (Plague)
- โรคมาร์บูร์ก (Marburg virus disease)
- โรคไข้ลัสสา (Lassa virus)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคซาร์ล (Sars)
- โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox)
- โรคมาลาเรีย หรือไข้จับสั่น (Malaria)
- โรคไข้เหลือง (Yellow fever)
- มีปัญหาสุขภาพจิต
ประเทศเกาหลี (Korea)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
- กามโรค เช่น ซิฟิลิส
- วัณโรค
- กระดูกสันหลังคด, นิ้วมือนิ้วเท้าขาด, กระดูกแขนขาโก่ง
- โรคหัวใจทุกชนิด
- โรคคุดทะราด (Treponema pertenue)
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคตาบอดสี, สายตาสั้น (ต้องไม่เกิน 400)
- โรคหูตึง
- โรคเลือด
ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคเรื้อน
- กามโรค
- โรคลมบ้าหมู ลมชัก (Epilepsy)
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- ผลการตรวจเลือดพบ HIV Antibody (Elisa), HbsAg หรือ VDRL/TPHA
- ติดยาเสพติด (Opiates/Cannabis)
- การตั้งครรภ์ (จะต้องมีการตรวจร่างกายคนงานหญิงทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน)
ประเทศบรูไน (Brunei)
- วัณโรค
- กามโรค
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคลมบ้าหมู ลมชัก (Epilepsy)
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- การใช้ยาเกินขนาด เพื่อกระทำอัตวินิบาตกรรม (History of drug abuse)
- โรคความดันสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคหอบหืด
- โรคมะเร็ง
- โรคหัวใจ
ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคเรื้อน
- โรคซิฟิลิส
สถานที่ตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศ
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยถือเป็น 1 ใน 4 สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถตรวจสุขภาพ และออกใบรับรองการตรวจสุขภาพได้ทุกประเทศทั่วโลก จึงสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าท่านจะต้องการเดินทางไปประเทศใดๆ ก็ตาม โดยทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งคลินิกตรวจสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ที่มารับบริการได้รับความสะดวก และรวดเร็ว ตั้งอยู่ที่ 1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทร. 02-256-4000
- ศูนย์ตรวจสุขภาพเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศูนย์บริการทางการแพทย์โรงเรียนเรวดี ตั้งอยู่ที่ 108 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทร. 091-774-6463, 064-585-0941 และ 064-585-0940
- ศูนย์ตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ อาคาร 4 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 โทร.02-514-4141 ต่อ 2312, 2315
กล่าวโดยสรุป โรคต้องห้ามในการทำงานของแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะงาน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยทั่วไปแล้ว โรคต้องห้ามในการทำงานมักเป็นโรคติดต่อ หรือโรคเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้
นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศที่มีกฎหมายกำหนดให้พนักงานต้องตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจหาโรคต้องห้ามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นด้วย โดยทั่วไปแล้ว การตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน จะดำเนินการโดยแพทย์ หรือพยาบาล ซึ่งจะพิจารณาเลือกการตรวจที่เหมาะสมกับลักษณะงาน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานครับ