หนองในเทียม จัดเป็นอีกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันมีผลมาจากเชื้อโรคที่ชื่อว่า Chlamydia Trachomatis ได้ผ่านเข้าไปสู่ร่างกาย (เป็นเชื้อคนละตัวกับหนองในแท้ เพราะตัวนั้นจะมีผลจากเชื้อโรคในชื่อ Neisseria Gorrhoese) จนทำให้ร่างกายมีอาการผิดปกติ พบเจอได้บ่อยในกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาการของโรคจะไม่แสดงให้เห็น แต่สามารถแพร่กระจายไปติดกับผู้อื่นต่อได้หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี โดยทั่วไปแล้วหากเป็นหนองในเทียม อาการจะไม่หนักเท่ากับการเป็นหนองในแท้ แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ ในการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคนี้
โรคหนองในเทียม ติดต่อกันได้อย่างไร
จะว่าไป โรคหนองในเทียม ก็มีการแพร่เชื้อไม่ต่างจากโรคหนองในแท้และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หลักคือ ผู้ที่มีเชื้อในร่างกายมีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทางอวัยวะเพศ, ทวารหนัก หรือช่องปากโดยขาดการป้องกันที่ดีด้วยถุงยางอนามัย, การใช้ปากกับอวัยวะเพศ, บางรายหากมือไปสัมผัสกับเชื้อหนองในเทียมแล้วดันมาขยี้ตาก็อาจทำให้เกิดหนองในเทียมบริเวณดวงตาได้ด้วย, ติดต่อจากแม่สู่ลูกโดยระหว่างการคลอดลูก เด็กที่ติดเชื้อนี้ไปจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ เกิดปัญหาปอดบวม หากขาดการรักษาอย่างทันท่วงทีจะถือเป็นอันตรายสุดๆ
ส่วนใหญ่แล้วคนที่จะป่วยเป็นโรคหนองในเทียมคือคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยและไม่ได้ป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็มีไม่น้อยที่คนข้างกายไปติดเชื้อจากนอกบ้านมาแล้วมาแพร่ให้คนในบ้านภายหลัง อีกเรื่องคือไม่ใช่แค่คู่ชาย-หญิงเท่านั้นกรณีเป็นชายรักชาย, หญิงรักหญิง หากไม่มีการป้องกันที่ดีก็มีสิทธิ์ติดเชื้อได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากกรณีดังที่กล่าวไปทั้งหมดหลายคนยังอาจติดเชื้อโรคหนองในเทียมจากการป่วยด้วยบางโรค เช่น ท่อปัสสาวะตีบ, ติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะ, มีอาการต่อมลูกหมากอักเสบ, หนังหุ้มปลายองคชาติอักเสบ หรือการที่ต้องสวนสายปัสสาวะเข้าไปทางอวัยวะเพศ
อาการของผู้ที่ติดเชื้อ หนองในเทียม
โดยทั่วไประหว่าง ผู้ชายกับผู้หญิง ที่ติดเชื้อหนองในเทียมนี้จะมีอาการต่างกันออกไปด้วยลักษณะทางเพศสภาพ หากได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะเริ่มแสดงอาการ ภายใน 20 วัน ลองสังเกตตนเองหากมีปัจจัยเสี่ยงในการได้รับเชื้อว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่
อาการ หนองในเทียม ในผู้ชาย
- บริเวณปลายองคชาติจะมีน้ำเมือกๆ หรือขุ่นใสไหลออกมาโดยไม่ใช่ทั้งอสุจิและปัสสาวะ
- ระหว่างปัสสาวะจะมีความรู้สึกแสบๆ หรือเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศ
- หนังหุ้มปลายมีอาการแดง บางรายบวม อันเกิดจากการอักเสบ
- ลูกอัณฑะมีอาการปวดบวมอันเกิดจากเชื้อดังกล่าว
อาการ หนองในเทียม ในผู้หญิง
- มีอาการตกขาวที่แปลกไปจากเดิม มีลักษณะเมือก ๆ ผสมกับหนอง รวมถึงกลิ่นแรงมาก
- ระหว่างปัสสาวะจะมีความรู้สึกแสบ ๆ หรือเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศ
- รอบ ๆ อวัยวะเพศจะรู้สึกแสบหรือคันขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน
- ตอนมีเพศสัมพันธ์หรือมีประจำเดือนจะรู้สึกปวดท้องน้อยมากกว่าปกติ
- อาจมีเลือดออกมาทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
อย่างไรก็ตามปกติแล้วอาการหนองในเทียมในผู้หญิงมักไม่ค่อยแสดงออกมาเท่าไหร่นัก หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ก็น่าจะราวๆ 30% เท่านั้นที่จะมีอาการดังกล่าวเด่นชัด อีกเรื่องของอาการหนองในเทียมไม่ว่าจะชายหรือหญิงคือ กรณีมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักแล้วได้รับเชื้อจะรู้สึกปวดภายในทวารหนักพร้อมกับมีหนองหรือเลือดไหลออกมา
หนองในเทียมในหญิงตั้งครรภ์และเด็ก
หากติดเชื้อหนองในเทียมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก ส่งผลทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาและปอดได้ หากมารดาไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จะส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือแท้งได้ และอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ุทำให้มีบุตรยากอีกด้วย
การวินิจฉัยหนองในเทียม
ขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วย จากนั้นจะทำการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบริเวณที่มีการร่วมเพศเพื่อส่งตรวจ การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งสามารถทำได้ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
- การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swap Test) คือ การใช้ไม้พันสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งที่บริเวณปากมดลูก ปลายท่อปัสสาวะ ทวารหนัก หรือลำคอ เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ
- การตรวจปัสสาวะ (Urine Test) คือการเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไปตรวจ ควรเป็นปัสสาวะที่ทิ้งระยะจากการปัสสาวะครั้งล่าสุด 1-2 ชั่วโมง
โดยปกติ การวินิจฉัยโรคจะเสร็จสิ้นภายใน 1 วัน และจะทราบผลหลังการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งประมาณ 7-10 วัน ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหรือพบประวัติทางเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์จะให้ทำการรักษาทันที
การรักษาหนองในเทียม
การรักษา หนองในเทียม สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายของแบคทีเรีย ตัวอย่างกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาหนองในเทียมในประเทศไทย ได้แก่
- กลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillins) ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin)
- กลุ่มยาแมคโครไลด์ (Macrolides) ได้แก่ อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin)
- กลุ่มยาเตตราไซคลิน (Tetracyclines) ได้แก่ ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) เตตราไซคลิน (Tetracycline)
การรักษาหนองในเทียม แพทย์จะทำการเลือกใช้และปริมาณยาจะตามอวัยวะที่ติดเชื้อ ดังต่อไปนี้ หนองในเทียมที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก และคอ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 14 วัน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 14 วัน
- ร็อกซิโทรมัยซิน (Roxithromycin) 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร 15 นาที นาน 14 วัน
หนองในเทียมเยื่อบุตาในผู้ใหญ่ แนะนำให้เลือกใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
- อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) 1 กรัม กินครั้งเดียว
- ดอกซีไซคลิน (Doxycycline) 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร นาน 10 วัน
- อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
- เตตราไซคลิน (Tetracycline) 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร นาน 21 วัน
ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังได้รับการรักษาในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยในเพศหญิงอาจมีอาการติดเชื้อหนองในเทียมขั้นรุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา แม้จะมีการใส่ ถุงยางอนามัย ป้องกัน และสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบครั้งเดียว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และรับประทานยาจนครบตามแพทย์สั่ง ถึงแม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หลังจากนั้น 3 เดือน ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดซ้ำ ร่วมกับการตรวจคัดกรองหาเชื้อในคู่นอนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กันภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาด้วย
การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจาก หนองในเทียม
พื้นฐานการป้องกันตนเองจากโรคหนองในเทียมไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามหลักดังต่อไปนี้
- ทุกครั้งที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่นอนของตนเองต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง อย่างไรก็ตามหากไม่มั่นใจว่าสามี, ภรรยา, แฟน จะไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นหรือไม่ก็ควรสวมถุงยางอนามัยด้วยเช่นกัน
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่นอนของตนเอง เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย
- หากรู้ว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อและรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้เชื้อลุกลาม
- หากเป็นไปได้ไม่แนะนำให้สวนล้างภายในร่างกายผ่านอวัยวะเพศ โดยเฉพาะสาว ๆ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะทำให้แบคทีเรียดีที่คอยดูแลช่องคลอดลดจำนวนลงจึงเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
สำหรับใครที่มีอาการคล้ายจะเป็น โรคหนองในเทียม ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมตรวจเลือดหาข้อเท็จจริง หากแพทย์พบว่าป่วยก็จะให้ ยาปฏิชีวนะ มาทานเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเพิ่มเติม โดยปริมาณของยาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ติดเชื้อนั่นเอง
สิ่งที่อยากฝากเอาไว้เสมอ คือ โรคหนองในเทียมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนหากไม่มีการดูแลตนเองและควบคุมในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้โรคดังกล่าวจะไม่มีติดต่อผ่านการจูบ, กอด ทานอาหารร่วมกัน, ว่ายน้ำในสระเดียวกัน หรือการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมร่วมกัน ดังนั้นใครที่คนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ไม่ต้องกังวลใจไป