ไม่กล้าตรวจเอชไอวี เข้าใจสาเหตุ พร้อมวิธีเตรียมใจ และทางเลือกการตรวจ

ไม่กล้าตรวจเอชไอวี

คนส่วนใหญ่มักกลัวการไปตรวจเลือด อาจจะด้วยชุดความรู้ผิดๆ ที่ฝังในหัว จริงๆ การที่ ไม่กล้าตรวจเอชไอวี หรือไม่ไปตรวจเลือดหาเชื้อ ก็เท่ากับ คุณจะไม่ปลอดภัยจากโรคได้เช่นกัน เพราะโรคนี้สามารถควบคุมได้ จากกระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีนั่นเอง การตรวจเอชไอวีมีความหมายที่จะทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย

เพราะอะไรถึง ไม่กล้าตรวจเอชไอวี

การตรวจเอชไอวี (HIV) นั้นสามารถช่วยในการวินิจฉัย และรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางคนอาจไม่กล้าตรวจเพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ หรือกลัวถูกปิดเผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับสถานภาพการติดเชื้อ แต่การตรวจเอชไอวีเร็วเท่าไหร่ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลัวทำใจไม่ได้ หากติดเชื้อ

การติดเชื้อเอชไอวีนั้น เป็นสิ่งที่อาจทำให้คนรู้สึกตกหลุมอากาศชีวิต อาจทำให้รู้สึกแย่ได้ แต่การติดเชื้อไม่ควรเป็นเหตุให้คุณหยุดมีความสุข หรือหยุดใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่ฝัน เพราะคนที่ติดเชื้อสามารถรักษาตัวเองให้มีสุขภาพดี และสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ด้วยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง และปฏิบัติตัวอย่างระมัดระวัง จะช่วยให้เชื้อไม่แพร่กระจาย และช่วยให้ไม่ป่วยได้

กลัวป่วยหนัก รักษาไม่หาย

เป็นความจริงที่ว่าคนเราอาจกลัวการป่วยหนัก แต่หากลองศึกษาให้ลึกซึ้งจะพบว่าเอชไอวีสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยา และการปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังมีชีวิตอยู่ และทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง คุณไม่ได้โดดเดี่ยว หรือหากคุณมีคำถามเกี่ยวกับโรคนี้ คุณสามารถติดต่อแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญได้ตลอดเวลา เพื่อขอคำแนะนำ และคำปรึกษาได้

กลัวคนอื่นรู้ สังคมรังเกียจ

สังคมไทยอย่างที่รู้กันดีว่า ประเด็นนี้ ค่อนข้างมีความอ่อนไหว เพราะการตีตราทางสังคมของผู้ติดเชื้อเอชไอวียังมีอยู่ในปัจจุบัน เราจึงคอยรณรงค์ และให้ความรู้กับคนทุกคนว่า “การไปตรวจเอชไอวี ไม่ใช่เรื่องน่าอาย” แต่หมายถึงว่าคนๆ นั้นเป็นคนรักสุขภาพ และรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมาก การที่คนๆ หนึ่งตัดสินใจไปตรวจเลือด จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ลงได้ทันที เพราะเขาเหล่านั้นจะได้รับความรู้ในการป้องกันตัวเองจากโรค หรือหากพบเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาทันที

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี ที่จะให้ทั้งความรู้ และการช่วยเหลือให้คุณรู้สึกสบายใจที่สุดเมื่อไปตรวจเอชไอวี คุณสามารถพูดคุยอย่างเปิดอกกับแพทย์ได้ เพราะข้อมูลของคนไข้จะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ไม่มีใครล่วงรู้

ข้อเสียของการ ไม่กล้าตรวจเอชไอวี

การไม่ไปตรวจเลือด ทำให้คุณไม่รู้ตัวว่ามีเชื้ออยู่ และเผลอส่งต่อเชื้อเอชไอวีให้กับคู่นอนโดยไม่ได้ตั้งใจ ประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการไม่ตรวจ เท่ากับแพร่เชื้อออกไปในหมู่มาก ปัญหาโรคเอดส์จึงไม่อาจยุติลงได้ หากคุณไม่กล้าตรวจเอชไอวี คุณจะไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน และเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้ หรือหากรักษาช้า ก็จะใช้เวลายาวนานกว่าระดับภูมิคุ้มกันจะเข้าสู่ภาวะปกติ คุณอาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ร่างกายอ่อนแอ และเกิดโรคนั้นโรคนี้ขึ้นมาบ่อยๆ เพราะฉะนั้น การตรวจเร็วเท่ากับการรักษาเร็ว ถ้าคุณไม่ไปตรวจเลือด ท้ายที่สุดแล้วไวรัสเอชไอวีจะโจมตีสุขภาพร่างกายของคุณ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ทำอย่างไรให้กล้าตัดสินใจไปตรวจเอชไอวี

ก่อนอื่นคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “เอชไอวี ติดแล้ว ไม่ทำให้เสียชีวิต” และที่สำคัญยังสามารถรักษาได้ ด้วยการควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย จากการทานยาต้านเอชไอวีทุกวันนั่นเอง การไปตรวจเอชไอวีทำให้คุณเข้าใจถึงประโยชน์ของมันได้ดียิ่งขึ้น เพราะการตรวจจะช่วยในการวินิจฉัยโรค และการรักษาให้ไม่เกิดความเจ็บป่วย คุณจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี และเข้าใจถึงความจำเป็นของการตรวจ ผลลัพธ์ ที่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร คุณก็จะได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์อย่างแน่นอน

วิธีตรวจเอชไอวีที่นิยมในปัจจุบัน

การตรวจเอชไอวีแบบแนท (Nucleic Acid Testing : NAT)

  • เป็นการตรวจหาสารทางพันธุกรรมของไวรัสเอชไอวี มักใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในระยะเฉียบพลัน เพราะมีระยะฟักตัว (Window Period) แค่ 5-7 วันหลังมีความเสี่ยงก็สามารถพบเชื้อได้แล้ว การตรวจแบบแนทมีความแม่นยำสูง แต่แพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้ตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธีอื่นที่หลังมีความเสี่ยงครบ 90 วัน เพื่อยืนยันผลเลือดที่ชัดเจน

การตรวจเอชไอวีแบบน้ำยา Gen 4 (HIV Ag/Ab Combination Assay)

  • เป็นการตรวจหาทั้งแอนติเจน และแอนติบอดี้ของไวรัสเอชไอวี ที่ใช้ระยะฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ วิธีตรวจแบบนี้มักเรียกว่า การตรวจเอชไอวีด้วยน้ำยา Gen 4

การตรวจแบบแอนติเอชไอวี (ANTI-HIV)

  • เป็นการตรวจหาแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นมา เพื่อตอบสนองการที่เชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย สามารถตรวจได้หลังมีความเสี่ยงที่ 30 วันขึ้นไป

เอชไอวี ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด

บางคนคิดว่า ตัวเองมีแฟนคนเดียว มีสามี มีภรรยาแล้ว ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น ก็ไม่จำเป็นต้องป้องกัน หรือกังวลว่าจะติดโรคจากแฟนหรอก แต่หารู้ไม่ว่า หลายคนที่คิดแบบนี้ มารู้ตัวทีหลังว่าติดเชื้อจากคู่นอนประจำของตัวเองนี่แหละ มันอาจจะไม่ใช่แค่เรา ที่ซื่อสัตย์รักเดียว ใจเดียว มีอะไรกับคนๆ เดียว แต่อาจเป็นแฟนของเราเอง ที่ไปมีความเสี่ยงมา และไม่ได้บอกเรา หรือแม้แต่อาจจะเคยเสี่ยงมากับแฟนคนเก่า ไม่กล้าตรวจเอชไอวี หรือไม่ได้ฉุกคิดว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่รู้ว่ามีเชื้ออยู่ หรือไม่ โดยความเสี่ยงที่คุณอาจจะติดเชื้อเอชไอวีได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • มีเพศสัมพันธ์กับผู้ขายบริการทางเพศ
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • มีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ทราบผลเลือดเอชไอวี
  • มีเพศสัมพันธ์ขณะดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมาขาดสติ
  • มีเพศสัมพันธ์รุนแรงจนเกิดการบาดเจ็บของอวัยวะเพศ
  • มีการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ ผ่านทางบาดแผลของร่างกาย
  • มีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางแตก หรือหลุดรั่ว และไม่ได้ทานยาเป็ป (PEP)
  • มีการใช้สารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้น และแชร์อุปกรณ์การเสพกับผู้อื่น
  • มีการสัก เจาะ ร่างกายจากร้านบริการที่ไม่ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างถูกวิธี

เตรียมใจอย่างไร ? หากตรวจแล้วพบว่า “ผลเลือดบวก”

การพูดคุยปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจ ย่อมเป็นหนึ่งช่องทางสำคัญ ที่จะทำให้คุณทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ เพราะก่อนการตรวจเอชไอวี แพทย์จะมีการซักประวัติเบื้องต้น และประเมินสภาพจิตใจของคุณว่าไหวแค่ไหน หากพบว่าติดเชื้อ แพทย์จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติม ช่วยรับฟัง และแนะแนวทางการรักษาต่อไป

อยากให้มองภาพรวมว่า “เอชไอวี” เป็นแค่การติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง และยังไม่ได้กลายเป็นโรคเอดส์ การที่คุณได้รู้ตัวเร็วจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสเจ็บป่วยจากโรคแทรกซ้อน ลดการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอน หรือคนรักของคุณ และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ไม่เข้าสู่ภาวะเอดส์ เพราะในปัจจุบันการแพทย์มีความก้าวไกลไปมาก ยาที่ใช้รักษาก็มีผลดีกับตัวคนไข้ แถมยังมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย การทานยาต้านเอชไอวี ก็เปรียบเหมือนกับการทานยาคุม หรือวิตามินที่ต้องทานตลอด ไม่ได้รู้สึกยุ่งยาก และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันแต่อย่างใด

ในแง่ของครอบครัว คุณจะเปิดเผยผลเลือดให้เขาก็ได้ หรือเลือกจะเก็บเป็นความลับก็ไม่ผิดอะไร เพราะเอชไอวีไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ แต่คู่นอนของคุณควรได้รับรู้ผลเลือดของคุณด้วย เพื่อที่เขา หรือเธอจะได้รับการตรวจเอชไอวี และหากพบเชื้อเหมือนกัน ก็จะได้เริ่มกระบวนการรักษาไปพร้อมๆ กับคุณด้วย เรื่องครอบครัวคุณอาจต้องพิจารณาด้วยตัวเอง เพราะแต่ละบ้านความสัมพันธ์ภายในครอบครัวค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ก็มีข้อแนะนำสำหรับญาติ หรือพ่อแม่ที่พบว่าลูกตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้

  • ให้กำลังใจผู้ติดเชื้อ ไม่ซ้ำเติม หรือหาสาเหตุเอาผิด
  • พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้ติดเชื้อ และให้ความช่วยเหลือ
  • สนับสนุนทุกช่องทางในการรักษา และเยียวยาจิตใจผู้ติดเชื้อ

สิ่งสำคัญ คือ คุณจะต้องเริ่มทำการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีอย่างจริงจัง เพราะตอนนี้คุณมีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว การรู้จักโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ ย่อมทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรงไปได้ตลอด นอกจากจะทำให้สุขภาพของคุณดี หากคุณมีความรู้เรื่องเอชไอวี คู่รัก หรือคู่นอนของคุณก็สามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ด้วยการทานยาเพร็พ (PrEP) ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบทานประจำทุกวัน เพื่อให้คุณ และคู่นอนยังสามารถมีความสัมพันธ์กันได้ปกติ

และอีกหนึ่งประเด็น คือ การรักษาเอชไอวีเร็ว ทานยาต้านเร็ว และต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน เชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายจะค่อยๆ ลดต่ำลงจนถึงระดับที่ไม่แทบตรวจไม่พบ หรือเข้าสู่ภาวะ U=U ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ได้เลย อันเป็นข้อดีที่ทำให้คุณมีกำลังใจในการทานยา และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้ครับ เพราะรู้ดีว่าการติดเชื้อไม่เสียชีวิต

กล่าวโดยสรุป คือ หาก ไม่กล้าตรวจเอชไอวี ถือว่าคุณไม่ผ่านก้าวแรกของการป้องกัน และการดูแลตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างที่ทุกคนควรจะเป็น เพราะการรู้ผลตรวจเอชไอวีจะต้องทำด้วยการเจาะเลือดเท่านั้น หรือตรวจด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เราไม่อาจมองด้วยตาเปล่า หรือสังเกตอาการใดๆ ภายนอกได้เลย เพราะคนหลายคนที่ร่างกายแข็งแรงดี แต่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในเลือดก็มีอยู่มากมาย