ว่าด้วยเรื่องของสิทธิการ สมรสเท่าเทียม ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 นที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนสมรส โดยแจ้งความประสงค์ต่อนายทะเบียนว่า ตน และอรรถพลเป็นคู่ชีวิตแบบชายรักชาย ที่อยู่กินด้วยกันมา 19 ปีแล้ว แต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่รักทั้งสองได้
เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 1458 ความว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชายหญิง’ ยินยอมเป็นสามี ภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย” ส่งผลให้นทีกับคู่รักไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เนื่องจากไม่ใช่คู่รักชาย และหญิงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1458
สมรสเท่าเทียม กฎหมายประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาต
หากวันนี้ทั้งคู่ยังรักกันดี พวกเขาจะใช้ชีวิตคู่มาแล้วเกือบ 30 ปีในวันที่กฎหมายประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันเองได้ ทั้งๆ ที่เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เท่ากันกับคนอื่น ใช้ชีวิตอยู่ และเสียภาษีอย่างถูกต้องในทุกการใช้ชีวิต ณ ประเทศไทยแห่งนี้
จากวันนั้นที่เกิดการตั้งคำถามขึ้นเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 11 ปี กฎหมายสมรสเท่าเทียมไปถึงตรงไหนแล้วบ้าง เราจะพามาย้อนกลับไปถึงหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในแง่มุมของกฎหมายกัน
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งเกิดในช่วงสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ และศึกษาข้อกฎหมายขึ้น โดยเกิดเป็นไอเดียของพรบ. “คู่ชีวิต” ฉบับแรกเสร็จสมบูณณ์ในปี 2556 แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกเป็นหลายส่วน โดยบางส่วนก็เห็นด้วยว่าการมีสิทธิอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย ในขณะที่หลายคนมองว่า “เป็นพลเมืองชั้นสอง” เพราะสิทธิหลายอย่างนั้นมันไม่สมควรถูกตัดออกไป เช่น การใช้นามสกุลคู่สมรส ไม่มีสิทธิ์รับบุตรบุญธรรมาเลี้ยง ไม่ได้รับรัฐสวัสดิการในฐานะคนรักจากภาครัฐ หรือแม้แต่เรื่องใหญ่ในชีวิตคู่อย่างเช่นการเซ็นต์การรักษาพยาบาลให้คนที่รักก็ไม่สามารถทำได้
หลังจากการเงียบหายของพรบ. สมรสเท่าเทียม
หลังจากนั้นเกิดมรสุมทางการเมือง พรบ.คู่ชีวิตฉบับนี้หายไปหลายปี ก็จะมีการดันให้เกิดเรื่องนี้อีกครั้งในปีพศ. 2563 จากคุณ วัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จากเดิมระบุถ้อยคำว่า อนุญาตการหมั้น และการสมรสเฉพาะ ‘ชาย และหญิง’ ให้เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ สามารถหมั้น และจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป และเปลี่ยนคำว่า “สามีภริยา” ในป.พ.พ.ให้เป็น “คู่สมรส”
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63 มีประชาชนร่วมเเสดงความคิดเห็นกว่า 54,447 คน มากที่สุดตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน
แต่แล้วก็มีการตีตกอีกครั้งหลังมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ป.พ.พ.มาตรา 1448 ที่ให้สมรสเฉพาะ ชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยว่า การรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ในป.พ.พ.ดังกล่าว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิ และหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป ซึ่งทำให้ในตอนนั้นได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การจัดตั้งแคมเปญสนับสนุนสมรสเท่าเทียมที่มีประชาชนใช้สิทธิจำนวนเกินหลักแสนในค่ำคืนเดียว
เสนอร่างพรบ. สมรสเท่าเทียม
โดยในช่วงกุมพาพันธ์ และมีนาคมของปี 2565 เป็นช่วงที่มีการเสนอร่างพรบ.สมรสเท่าเทียมเข้าสภาฯอีกครั้ง ไล่ยาวไปจนถึง พฤศจิกายน 2565 สภาฯ ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ในวาระการประชุมเพื่อพิจารณาโดยละเอียดต่อในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 พิจารณาความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และผ่านแล้วในวาระที่หนึ่งของการประชุมสภา
แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นอกจากในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 4 ขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากที่ กมธ.วิสามัญฯ ทำการแปรญัตติร่างกฎหมาย หรือปรับแก้ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแบบรายมาตรา ว่าเห็นชอบด้วยกับการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ หรือ ให้คนไว้ตามร่างเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่ตามที่มีผู้อื่นเสนอแก้ และเมื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเป็นที่เรียกร้อย จึงมาพิจารณากันต่อในวาระที่สามว่า สภาผู้แทนฯ จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับ หรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา
หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณากันต่ออีกสามวาระ
ขั้นตอนที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หาก ส.ว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ให้นายกรัฐมนตรี, ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 ทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดขับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ขั้นตอนที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทางไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่า หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อรอ ส.ส. มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หรือ หาก ส.ว.แก้ไขเนื้อหากฎหมาย ก็จะต้องส่งกลับมาให้ ส.ส. พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วย หรือไม่ หากเห็นต่างกันก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอให้ทั้งสองสภาลงมติใหม่ ทั้งนี้ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน แล้ว ส.ส. ถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่ความเหนือกว่า เราแค่ต้องการเท่ากันในความรักที่มีเหมือนกันกับพวกคุณทุกคน
ข้อมูลอ้างอิง
- สรุปข้อมูล “สมรสเท่าเทียม” อยู่ตรงไหน สนับสนุนเท่าไหร่ ผ่านแล้วได้อะไร
- ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต : ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย
แม้จะดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ผ่านยุคสมัย และวันเวลาที่เปลี่ยนไป หลายคนอาจจะเคยตั้งคำถามว่าหากเพศหลากหลายรักกันจริงแล้วทำไมถึงยังต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม คำตอบคือเพราะความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีชีวิตอื่นๆ เข้ามาประกอบ ทั้งครอบครัวฝ่ายเขา ฝ่ายเรา โครงสร้างทางกฎหมายที่ดีจะช่วยปกป้องให้คู่ชีวิตมีความสุขกับการสมรสต่อไป
เพราะหากเราจะอ้างกันด้วยแค่คำว่า “รักแท้” หรือ “ความรักของเพศหลากหลายไม่ยืนยาว” ชาย และหญิงทั่วไปจะต้องการกฎหมายสมรสไปทำไมในเมื่อแค่เรารักกันก็พอแล้วนิ? หรือในข้อถัดมาเราก็คงไม่เห็นข่าวคู่รักเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ก่อนผม หรือผู้อ่านหลายท่านจะเกิด ข่าวหย่าร้างของชายหญิงทั่วไปก็คงไม่เคยเกิดขึ้นเลยเพราะพวกเขามีความรักนิรันดร