HIV & AIDS ภัยเงียบใกล้ตัว รู้จักโรคเอดส์ รับมือ ป้องกัน ในวันเอดส์โลก

องค์กรอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ยอมรับ และเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก ในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ

“Let Communities Lead” ทุกภาคส่วน ร่วมกัน ยุติเอดส์

เป็นการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนให้ชุมชน องค์กร และกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างความตระหนักในการป้องกัน และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้ภายในปี 2573

Love2Test
  • ประเทศไทยมีจำนวนผู้รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 500,000 คน
  • ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ประมาณ 457,000 คน (ร้อยละ 90)
  • กดปริมาณไวรัสสำเร็จ ประมาณ 445,000 คน (ร้อยละ97)
  • ผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 10,972 คน

คาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเป็นกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี จำนวน 4,379 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.44 ในจำนวนนี้เห็นได้ว่าเป็นกลุ่มเยาวชนเกือบครึ่ง กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับบริการด้านการป้องกัน ตรวจคัดกรอง และการดูแลรักษาอย่างครอบคลุม ผ่านกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

พกกันไว้ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง กับทุกคน ทุกช่องทาง

การพก และใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ เพราะการใช้ถุงยางอนามัยเป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง คู่ และสังคม สามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถรับผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ รับได้ที่ รพ. คลินิก และร้านยา ที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช.

ตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ

การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียว ก็เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น ควรตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเพื่อรู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง โดยแนะนำให้ตรวจหลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน สำหรับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการปรึกษา และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวว่า ในการป้องกันตนเอง ขอแนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดกินยาเอง และอย่าหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่รักษาการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน หากเคยตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีแล้วยังไม่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ให้รีบเข้ารับการรักษาทันที รักษาฟรี ทุกสิทธิการรักษา เพื่อให้มีระดับเซลล์ภูมิคุ้มกันซีดี 4 เกิน 200 เซลล์/ลบ.มม.

ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคฉวยโอกาส และควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูล : กรมควบคุมโรค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า