HIV กับวัคซีน COVID-19 ฉีดได้ไหม ปลอดภัย หรือไม่ คลายทุกข้อสงสัย

HIV COVID-19

HIV กับวัคซีน COVID-19 วารสารออนไลน์ The Poz ของวันที่ 16 ธันวาคม 2563 มีข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ และบริษัทไบโอเอ็นเทค ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 วัคซีนแรกของโลกที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จริง (นอกเหนือจากการใช้ทดลองในคน) ในประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่องค์การอาหาร และยาได้อนุมัติให้ใช้ในวัคซีนดังกล่าวในกรณีฉุกเฉิน พาดหัวข่าว

ใน The Poz โดย ลิซ ไฮเลย์แมน (Liz Highleyman) ถามว่าวัคซีนนี้ปลอดภัยต่อผู้ที่มีเอชไอวี หรือไม่เพราะผู้ที่มีเอชไอวี อาจถือได้ว่าเป็นผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเป็นผู้ที่ต้องกินยาที่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันอยู่ สาระสำคัญของข่าวสรุปได้ ดังต่อไปนี้

Love2Test

วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทคเป็นวัคซีนโควิด-19 วัคซีนแรกที่ได้รับอนุมัติในอเมริกา การอนุมัติขององค์การอาหาร และยา สหรัฐอเมริกา เป็นการอนุมัติให้ใช้ (วัคซีน) ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization – EUA) เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 หลังจากที่คณะกรรมการที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมีความเห็นอย่างท่วมท้นว่าผลประโยชน์ของวัคซีนดังกล่าวมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทคกำลังถูกนำไปใช้ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ นอกจากนั้นแล้ว คาดว่าวัคซีนโควิด-19 วัคซีนที่สองที่บริษัทโมเดอร์นาพัฒนาร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Institutes) และเป็นวัคซีนที่มีรูปแบบ (platform) หรือใช้เทคโนโลยี่เดียวกันกับวัคซีนของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทคก็จะได้รับการอนุมัติในเร็วๆ นี้เช่นกัน

ผู้มีเอชไอวีจำนวนมากสงสัยว่าวัคซีนเหล่านี้จะเหมาะสมกับพวกเขา หรือไม่ และพวกเขาจะอยู่ในลำดับเท่าไรในคิว ของการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นเรื่องที่มั่นใจได้ว่าจากหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้แสดงว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้มีเอชไอวีนั้นปลอดภัย และนักรณรงค์กำลังเรียกร้องให้พิจารณาผู้มีเอชไอวีเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนในระดับต้นๆ

วัคซีนโควิด-19 ได้รับการพัฒนามาอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในระยะต้นของการแพร่ระบาด นพ. แอนโทนี ฟาวชิ (Dr. Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ และโรคติดต่อทำนายว่าน่าจะมีวัคซีนโควิด-19 ภายในระยะเวลา 12 ถึง 18 เดือน แต่การอนุมัติก็ยังเร็วกว่าช่วงเวลาดังกล่าวที่ถือว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีอยู่แล้ว แต่หากสิ่งใดที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วนั้น ข้อมูลข่าวสารที่ผิดๆ ก็มักจะถูกเผยแพร่ต่อๆ ไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับ ไวรัสเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 12 ธันวาคม ผู้รู้ข่าววงในได้เผยแพร่บทความที่แนะนำว่าผู้ที่มีเอชไอวีควรรอการฉีดวัคซีนไปก่อนเพราะว่าอาจมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้าง

แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากไม่เห็นด้วย พญ. โมนิกา คานธี (Dr. Monica Gandhi) ผู้อำนวยการแพทย์ของคลินิกเอชไอวีแผนกที่ 86 ของโรงพยาบาลศูนย์ซานฟรานซิสโก กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ POZ ว่าจะแนะนำให้ผู้มีเอชไอวีได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่

ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน

วัคซีนโควิด-19 ทั้งของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และของโมเดอร์นาใช้แนวทางการทำวัคซีนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า อาร์เอ็นเอสื่อสาร (messenger RNA) หรือ เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่ใช้อนุภาคนาโน (nanoparticles) หรือฟองไขมันในการนำเอาชิ้นส่วนพันธุกรรมที่เข้ารหัสแนะนำสำหรับสร้างโปรตีนเดือย (spike protein) ของไวรัสซาร์สคอฟทู (SARSCoV-2) ที่ไวรัสใช้ในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในกล้ามเนื้อ เซลล์ก็จะสร้างโปรตีนเดือยที่ไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันเกิดปฏิกิริยาตอบสนอง เอ็มอาร์เอ็นเอนั้นเสื่อมสภาพรวดเร็วมากในร่างกาย และมันไม่ทำให้พันธุกรรมของมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

จากผลของวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาชีพ The New England Journal of Medicine การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ที่มีผู้เข้าร่วมการวิจัยมากกว่า 43,000 คน วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคมีประสิทธิผล 95.0% (95.0% effective) ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการ ซึ่งจากการติดเชื้อ 170 รายที่พบหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปแล้ว 7 วัน หรือนานกว่านั้น 162 รายเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเลียนแบบ และมีเพียง8 รายที่เป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในการทดลอง

จากเอกสารสรุปการวิจัยขององค์การอาหาร และยาที่เผยแพร่ก่อนหน้าการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษา เกี่ยวกับวัคซีนที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 อีกโครงการหนึ่งมีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นโควิด-19ที่ออกอาการทั้งหมด 196 รายที่พบภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ทดลองเข็มที่สองไปแล้วอย่างน้อย 14 วัน ซึ่ง 185รายเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับวัคซีนเลียนแบบ และอีก 11 คนเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในการทดลอง ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทโมเดอร์นาเสนอข้อมูลเพิ่มเติมที่แสดงว่าวัคซีนอาจจะลดการติดเชื้อที่ไม่ออกอาการได้ถึงสองในสาม

การวิจัยทั้งสองโครงการรับผู้มีเอชไอวีที่มีสุขภาพดีเข้าร่วมการวิจัยด้วย ซึ่งนักรณรงค์กลุ่มหนึ่งประสบความสำเร็จ ในการผลักดันให้บริษัทโมเดอร์นาเปลี่ยนเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยซึ่งแต่เดิมนั้นไม่รวมผู้มีเอชไอวี และนักรณรงค์กลุ่มนี้ได้ขอให้บริษัทไฟเซอร์ยืนยันว่าผู้มีเอชไอวีสามารถเข้าร่วมการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคได้

HIV กับวัคซีน COVID-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคมีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีเอชไอวี 120 คน แต่เนื่องจากพวกเขาเข้าร่วมการวิจัยในระยะหลังดังนั้นการวิเคราะห์ประสิทธิผลหลัก และความปลอดภัยจึงไม่รวมพวกเขาด้วย ส่วนการวิจัยโควิด-19 ของโมเดอร์นามีผู้เข้าร่วมการวิจัย 176 คนที่เป็นผู้มีเอชไอวี

จากการวิจัยทั้งสองโครงการ ผู้มีเอชไอวี 1 คนที่ได้รับวัคซีนเลียนแบบติดเชื้อไวรัสซาร์สคอฟทู และเป็นโควิด-19 ที่ออกอาการ และไม่มีผู้มีเอชไอวีจากกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่ใช้ทดลองที่ป่วยเป็นโควิด-19 ที่ออกอาการเลย และไม่มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนที่ผิดปกติ

การวิจัยวัคซีนโควิด-19 โครงการอื่นๆ ที่กำลังถูกทดลองอยู่รวมทั้งวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน วัคซีนของบริษัทโนวาแว็ค และวัคซีนที่บริษัทซาโนฟีพัฒนาร่วมกับบริษัทแกล็คโซสมิทแอนด์ไคล์น ต่างก็รวมผู้มีเอชไอวีด้วย

ข้อควรคำนึงสำหรับผู้มีเชื้อ HIV กับวัคซีน COVID-19

ถึงแม้ว่าจำนวนที่กล่าวไปแล้วจะเป็นจำนวนที่น้อยก็ตามแต่ผลที่ได้เหล่านั้นทำให้เกิดความมั่นใจ วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคระบุว่าใช้ได้กับผู้มีเอชไอวี และคาดว่าวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาก็น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย เอกสารขององค์การอาหาร และยาที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคเตือนว่าผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือที่กินยาที่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันควรบอกให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนรับรู้ด้วย

ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) อธิบายในข้อควรคำนึงทางคลินิกระหว่างกาล (interim clinical considerations) สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคว่า “บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนอาจได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หากว่าพวกเขาไม่มีข้อห้ามใดใดต่อการได้รับฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามพวกเขาควรได้รับการอธิบายว่ายังไม่มีข้อมูลโดยรวมเกี่ยวกับความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ลดลง และความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19”

ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้มีเอชไอวีในสหรัฐอเมริกามีปริมาณไวรัสที่ต่ำกว่าที่จะวัดได้ และในปัจจุบันผู้มีเอชไอวีส่วนมากไม่ป่วยเป็นเอดส์ หรือโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่รุนแรง แต่ผู้มีเอชไอวีที่ได้รับการรักษาเป็นอย่างดียังอาจจะมอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีอาการเบาๆ เท่านั้น หรือมีการอักเสบเรื้อรังที่อาจมีผลทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรือเสี่ยงต่อการป่วยโควิด-19 ที่รุนแรง และต่อการตอบสนองต่อวัคซีนได้

นักวิจัยคิดว่าวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอนั้นปลอดภัยสำหรับผู้มีเอชไอวี วัคซีนประเภทนี้ไม่มีไวรัสซาร์สคอฟทูที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงไม่สามารถทำให้เป็นโรคได้ หรือที่ถูกทำให้ตายแล้วผสมอยู่เลย วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมีรหัสแนะนำทาง พันธุกรรมสำหรับเซลล์ของผู้ที่รับฉีดวัคซีนให้ทำโปรตีนที่สำคัญชนิดหนึ่งจึงเป็นไปไม่ได้ที่วัคซีนชนิดนี้จะทำให้คนที่ได้รับวัคซีนเป็นโรคโควิด-19 ได้แม้กระทั่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

ซึ่งตามปกติแล้วผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอไม่ควรได้รับวัคซีนที่ใช้ไวรัสที่ยังเป็นอยู่ [เป็นพาหะนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย] แต่วัคซีนจากบริษัทชิโนฟาร์ม (Sinopharm) จากประเทศจีน ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (The United Arab Emirates) เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสซาร์สคอฟทูที่ถูกทำให้ตายแล้ว (inactivated SARS-CoV-2)

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ พญ. ซูซาน บัคไบเดอร์ (Prof. Susan Buchbinder) จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก และเพื่อนร่วมงานได้เผยแพร่จดหมายในวารสารวิชาชีพ The Lancet แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้ไวรัสอดิโนในวัคซีนโควิด-19 วัคซีนชนิดนี้ที่ใช้ไวรัสที่ทำคนเป็นหวัดธรรมดาในการนำเอาพันธุกรรมของโปรตีนของไวรัสซาร์สคอฟทูเข้าสู่ร่างกาย

เพราะเมื่อสิบกว่าปีมาแล้วโครงการวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีที่มีชื่อว่าการวิจัยสเต็ป(STEP) หรือ แพมบิลิ (Phambili) ใช้วัคซีนป้องกันเอชไอวีชนิดหนึ่งที่ใช้ไวรัสอดิโนประเภท 5 (Ad5) เป็นพาหะนำเข้าสู่ร่างกาย และพบว่าวัคซีนเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีสำหรับชายร่วมเพศกับชายที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสอดิโนประเภท 5อยู่ก่อนแล้วจากการสัมผัสกับเชื้อในอดีต คณะผู้เขียนแนะนำว่าภูมิต้านทานต่อไวรัสอดิโนประเภท 5 ที่มีอยู่ก่อนแล้วเมื่อถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน อาจช่วยการเพิ่มตัวของไวรัสเอชไอวีในเซลล์ภูมิคุ้มกันซีดีสี่ (CD4 T cells) หรือทำให้เซลล์ซีดีสี่มีความอ่อนไหวต่อการติดเอชไอวีมากขึ้นไปกว่าเดิม

และคณะผู้เขียนกล่าวว่า “จากข้อค้นพบดังกล่าว พวกเรามีความกังวลว่าการใช้ไวรัสอดิโนประเภท 5 เป็นพาหะสำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสซาร์สคอฟทูอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีให้แก่ผู้ชายที่ได้รับฉีดวัคซีน” และคณะผู้เขียนเน้นว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสซาร์สคอฟทูที่ใช้ไวรัสอดิโนประเภท 5 ต่อไป”

วัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นาไม่ได้ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะ วัคซีนของแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดใช้ไวรัสอดิโนของลิงชิมแปนซีดังนั้นการมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้ในคนจึงไม่ควรเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม วัคซีนหนึ่งที่ผลิตโดยบริษัทแคนชิโนไบโอโลจิคส์ (CanSino Biologics) จากประเทศจีนใช้ไวรัสอดิโนประเภท 5 ของมนุษย์เป็นพาหะนำเข้า

คำแนะนำของสมาคมเอชไอวีของอังกฤษ (British HIV Association – BHIVA) และ Terrence Higgins Trust เกี่ยวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และวัคซีนของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด กล่าวว่า: “ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้คิดว่าวัคซีนทั้งสองนี้จะมีความปลอดภัยน้อยกว่าสำหรับผู้ที่มีเอชไอวี วัคซีนทั้งสองรวมชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสซาร์สคอฟทู (ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด-19) แต่ไม่ใช้ไวรัสทั้งตัว

ซึ่งหมายความว่าวัคซีนทั้งสองไม่ใช่วัคซีนที่ใช้ไวรัสที่ยังเป็นอยู่ที่จะทำให้มีความปลอดภัยน้อยลงในคนที่ระบบภูมิคุ้มกันเสียหาย อาจเป็นไปได้ว่าคนที่มีเอชไอวีอาจจะตอบสนองต่อวัคซีนไม่ได้ดี ซึ่งหมายความว่าวัคซีนอาจจะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองที่อ่อนกว่าในคนที่มี “เอชไอวี”

คนที่มีเอชไอวีควรถูกจัดลำดับ [ในการฉีดวัคซีน] หรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าคนที่มีเอชไอวีควรได้รับการจัดลำดับสำหรับวัคซีนโควิด-19 เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้คนที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ และผู้ที่พักอยู่ในสถานบริการด้านสุขภาพระยะยาวควรเป็นคนกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19หลังจากนั้นคนกลุ่มอื่นที่แข่งกันอยู่แถวหน้าของการจัดลำดับสำหรับฉีดวัคซีนรวมถึงผู้ที่ทำงานที่จำเป็นขาดไม่ได้ คนที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี และคนที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ หลายอย่าง หรือคนที่ปัญหาสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยโควิด-19 ที่รุนแรง และเสียชีวิต

คณะกรรมการของสถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และแพทย์ศาสตร์ (National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine) ได้พัฒนากรอบความคิด (framework) เพื่อช่วยผู้กำหนดนโยบายในการวางแผนสำหรับการจัดสรรวัคซีนที่เท่าเทียมกันคณะกรรมการเสนอว่า ระยะหนึ่งบี (Phase 1b) รวมคนมีโรคเดิมสอง หรือมากกว่าสองโรคที่จะทำให้พวกเขามีควมเสี่ยงที่สูงกว่าเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น มะเร็ง โรคไตเรื้อรัง หรือโรคปอด โรคหัวใจที่รุนแรง เบาหวานประเภท 2 อ้วนมาก หรือภูมิคุ้มกันถูกกดเนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะ คนที่มีเอชไอวีจำนวนมากอยู่ในกลุ่มนี้เพราะปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นอยู่แล้ว

ระยะที่สองประกอบด้วยคนที่มีโรคเดิมอยู่แล้วที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่สูงขึ้นพอประมาณ รวมถึงโรคใดโรคหนึ่งที่ยกตัวอย่างในระยะหนึ่งบี โรคอื่นๆ ที่อาจทำให้บุคคลมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และควรได้รับการพิจารณาสำหรับการจัดลำดับฉีดวัคซีนรวมถึงโรคหืด ความดัน ภูมิคุ้มกันถูกกดเนื่องจากการปลูกถ่ายไขกระดูก เอชไอวี/เอดส์ โรคตับ ผู้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteriod) และตั้งครรภ์ในประเทศอังกฤษ คนที่มีเอชไอวีถูกจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มที่ 6 (จากทั้งหมด 9 กลุ่ม) ที่รวมถึงคนที่มีอายุถึง 64 ปี ที่มีโรคอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่สูงกว่าต่อการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต (คนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีลำดับที่สูงกว่าไม่ว่าจะเป็นคนที่มีเอชไอวี หรือไม่ก็ตาม)

อย่างไรก็ตามสมาคมเอชไอวีของอังกฤษกล่าวว่าคนที่มีเอชไอวีบางคนที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่า และเข้าเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่มีลำดับ 4 (คนที่มีความเสี่ยงทางคลินิกที่สูงมาก) รวมถึงคนที่มีระดับซีดีสี่ในปัจจุบันที่ต่ำกว่า 50 คนที่เคยมีระดับซีดีสี่ที่ต่ำมาก คนที่มีซีดีสี่ต่ำกว่า 200 บวกกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือดที่วัดได้ หรือมีโรคร่วมอื่นๆ และคนที่เพิ่งป่วยรุนแรงด้วยโรคที่เกี่ยวกับเอชไอวีถึงแม้ว่าการวิจัยขนาดเล็กหลายโครงการไม่พบว่าการมีเอชไอวีมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการติดไวรัสซาร์สคอฟทู หรือการป่วยโควิด-19 ที่สูงกว่าก็ตาม การวิจัยขนาดใหญ่บางโครงการที่ทำเมื่อไม่นานมานี้พบความสัมพันธ์ดังกล่าว

จากหลักฐานใหม่นี้ และการยอมรับเกี่ยวกับความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้คนมีความเสี่ยงต่อโควิด-19 ที่สูงกว่าที่ปรากฏเป็นอย่างมากในคนที่อยู่กับเอชไอวี พันธมิตรของนักรณรงค์ต่างๆ รวมถึง Black AIDS Institute,Let’s Kick ASS (AIDS Survivor Syndrome), NASTAD, Prevention Access Campaign, SisterLove, TreatmentAction Group และ Well Project ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับวัคซีน (Advisory Committee on Immunization Practices – ACIP) ของศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคให้พิจารณาว่าคนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีเป็นกลุ่มที่ได้รับการจัดลำดับสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

ประสบการณ์ผู้เข้าร่วมการวิจัยวัคซีนโควิด-19

ไมเคล คาร์เตอร์ (Michael Carter) จากอังกฤษกล่าวว่าเขาได้รับผลประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ และความสำเร็จของมนุษย์ที่เทียบเท่ากับการพัฒนา ยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่มีประสิทธิผลที่ช่วยไม่ให้เขาตายก่อนอายุขัยเมื่อ 30 ปีก่อนตอนที่เขาเป็นหนุ่มวัยยี่สิบกว่า และทำให้เขามีชีวิตอยู่ และมีสุขภาพดีมาจนถึงทุกวันนี้สิ่งที่เขาอ้างถึงคือการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดที่เขาเข้าร่วมเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยย่อยที่ออกแบบโดยเฉพาะเพื่อประเมินประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีนในผู้มีเอชไอวี การวิจัยย่อยนี้ไม่ใช้วัคซีนเลียนแบบ และผู้เข้าร่วมการวิจัยทุกคนได้รับวัคซีนที่ใช้ในการทดลอง 3

คาร์เตอร์เล่าว่าเขาเข้าร่วมการวิจัยย่อยในช่วงท้ายของโครงการวิจัยหลักคือการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ที่มีผู้เข้าร่วมการวิจัยกว่า 20,000 คน และดำเนินการวิจัยในประเทศบราซิล อาฟริกาใต้ และอังกฤษ ในการวิจัยหลักนั้นนักวิจัยเปรียบเทียบผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในผู้เข้าร่วมการวิจัยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเลียนแบบ และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนทดลองเพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนที่ใช้ทดลองมีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลตามต้องการสำหรับตัวเขาเองนั้นคาร์เตอร์เขียนว่าก่อนที่จะให้ความยินยอมเข้าร่วมการวิจัยนั้นเขาได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และเขาต้องตอบคำถามมากมายเกี่ยวกับสุขภาพ และประวัติการรักษาของเขาเพื่อให้แน่ใจว่าเขามีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัย

ข้อมูลอื่นที่นักวิจัยอธิบายให้แก่คาร์เตอร์รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ทดลองซึ่งใช้ชิ้นส่วนของไวรัสซาร์สคอฟทูที่ทำให้หมดฤทธิ์แล้วในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย และผลข้างเคียงของวัคซีนซึ่งผลข้างเคียงที่พบมากคือปวดบริเวณที่ฉีด และรู้สึกไม่สบายเหมือนกับเป็นหวัด 1 ถึง 2 วันหลังจากที่ได้รับวัคซีน นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยยังอธิบายถึงสาเหตุของการหยุดการวิจัยชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อสอง-สามเดือนก่อนหน้านั้น

เพราะผู้เข้าร่วมการวิจัยเพศชายคนหนึ่ง มีอาการเกี่ยวกับระบบประสาทที่ไม่พบบ่อยนัก และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความปลอดภัย พิจารณาแล้วว่าอาการผิดปกตินั้นไม่ได้เกิดจากวัคซีน และอนุมัติให้การวิจัยดำเนินการต่อไปได้หลังจากที่นักวิจัยให้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ และแน่ใจว่าเขาเข้าใจ และไม่มีคำถาม หรือความกังวลใดใดเกี่ยวกับการวิจัยแล้ว นักวิจัยจึงขอให้เขาเซ็นต์ให้ความยินยอมเข้าร่วมการวิจัย และเจาะเลือดของเขาไปตรวจเพื่อให้แน่ใจว่า เขามีสุขภาพดีก่อนที่เขาจะได้รับฉีดวัคซีนเข็มแรกอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา

หลังจากการฉีดวัคซีนไปแล้วสามวัน และเจ็ดวันเขาต้องกลับมาที่คลินิกการวิจัยเพื่อเจาะเลือดดูให้แน่นอนว่าวัคซีนไม่มีผลกระทบใดใดต่อตับ และไตของเขา นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยได้อีเมลล์ลิ๊งค์สำหรับบันทึกประจำวันให้เขากรอกทุกวันทางออนไลน์เพื่อรายงานผลข้างเคียงต่างๆ ไม่ว่าอาการจะหนัก หรือเบาแค่ไหน ซึ่งคาร์เตอร์เสริมต่อว่าเขาไม่มีอาการข้างเคียงอะไรที่จะต้องรายงานเลย

หลังจากการวิจัยรู้ผลของวัคซีนแล้ว นักวิจัยอีเมลล์ผลของการวิจัยให้แก่เขาทันที และแนะนำว่าเขาสามารถถามคำถามต่างๆที่เกี่ยวกับผลการวิจัยที่ได้เมื่อไปพบทีมวิจัยตามนัด และเขาเน้นว่าเขาไม่รู้สึกผิดหวังเลยที่ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดตำ่กว่าผลของวัคซีนโควิด-19 อีกสองวัคซีนที่ประกาศผลไปแล้วก่อนหน้านั้น

เขากล่าวว่าประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด สูงกว่าที่เขาคาดไว้เมื่อเข้าร่วมการวิจัย และชี้ว่าที่น่าดีใจเป็นอย่างมากคือไม่มีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และติดเชื้อที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 แม้แต่คนเดียว

คาร์เตอร์เชื่อว่าจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนโควิด-19 หลายชนิดในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเขาแน่ใจว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ที่เขามีส่วนร่วมในการวิจัยจะเป็นหนึ่งในวัคซีนที่ใช้ในการควบคุมการระบาด คาร์เตอร์อธิบายต่อว่าเขายังคงอยู่ในการวิจัยต่อไปอีกหลายเดือน และจะได้รับตรวจเป็นประจำว่าเขามีผลข้างเคียงใดใด หรือไม่ และเขาจะต้องตรวจการติดเชื้อโดยการใช้ชุดตรวจไวรัสซาร์สคอฟทูด้วยตนเองเป็นประจำทุกอาทิตย์ และเสริมต่อว่าเขารู้สึกพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งว่าทุกขั้นตอนของการวิจัยดำเนินการตามมาตรฐานสูงสุด และไม่มีการปกปิดเกี่ยวกับอาการข้างเคียงใดใดของวัคซีน และไม่มีการทำงานแบบเร่งรีบข้ามขั้นตอนแต่อย่างใด

คาร์เตอร์สรุปว่าเนื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา การเข้าร่วมการวิจัยของเขาครั้งนี้เป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์มากเพราะพ่อของเขาเสียชีวิตเพราะโควิด-19 ก่อนหน้าที่เขาจะเข้าร่วมการวิจัยทำให้เขาตระหนักถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อชีวิตมนุษย์ และเขาขอบคุณนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และพยาบาลผู้ให้การรักษา และผู้เข้าร่วมการวิจัยอื่นๆ ที่ช่วยในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนนั้นปลอดภัย และมีผลในการป้องกัน

นอกจากการวิจัยโดยแอสตราเซเนกา/มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดแล้วการวิจัยวัคซีนโควิด-19 หลายโครงการที่ระบุไปแล้วข้างบน และที่กำลังดำเนินการอยู่โดยเฉพาะการวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนโดยแผนปฏิบัติการความเร็วสูง (Operation Warp Speed) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริการับผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นผู้มีเอชไอวีด้วย จึงเป็นที่คาดว่าในอนาคตข้อมูลเกี่ยวกับการปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ต่อผู้มีเอชไอวีจะมีมากพอที่จะสรุปได้ว่าวัคซีนโควิด-19ปลอดภัย และมีประสิทธิผลต่อผู้มีเอชไอวี หรือไม่ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มีเอชไอวีที่เข้าร่วมการวิจัยของแต่ละโครงการด้วย

รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดจำนวน 26 ล้านโด๊สที่จะเพียงพอสำหรับคน 13 ล้านคน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว รัฐบาลไทยยังทำสัญญากับแอสตราเซเนกาเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 เองในประเทศไทยสำหรับประชาชนทุกคนด้วย 4 ในระยะแรกนั้นคงเป็นที่แน่นอนว่าวัคซีนโควิด-19 จะมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคนที่มีความเสี่ยง และจำเป็นที่จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญสำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 สูงกว่าคนโดยทั่วไป

ส่วนผู้ที่มีเอชไอวีจะได้รับการจัดลำดับ หรือไม่นั้นคงต้องติดตามดูต่อไป และที่สำคัญพอพอกันคือผู้มีเอชไอวีในประเทศจะสามารถส่งเสียงให้รัฐบาลไทยได้ยิน และรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อโควิด-19 ของพวกเขา และความจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนป้องกัน หรือไม่?

อ้างอิง และขอบคุณเนื้อหา

เนื้อหาทั้งหมดได้คัดลอกมาจาก บทความของคุณ อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ tncathai.org/index.php/ncab เพื่อเป็นสื่อกลางให้บุคลทั่วไป และผู้ร่วมกับเชื่อเอชไอวี ได้อ่าน และเป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองในช่วงโควิด

The First COVID-19 Vaccine Is Here. Is It Safe for People With HIV? โดย Liz Highleyman เมื่อ 16 ธันวาคม 2563 ใน poz.com/article/covid19-vaccine-here-safe-for-people-HIV

2 องค์การอาหาร และยาอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาสำหรับใช้ในคนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับคนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป) ในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 จาก FDA authorizes a secondcoronavirus vaccine, a turning point in the pandemic โดย Carolyn Y. Johnson และ Laurie McGinley เมื่อ 19 ธันวาคม 2563

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า