เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ โรคฝีดาษวานร (Mpox) หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า ฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ หลังจากพบการระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันออก
ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวในการแถลงข่าวว่า
“สถานการณ์การระบาดของ ฝีดาษวานร (Mpox) ในแอฟริกาเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เราเห็นแนวโน้มที่โรคอาจแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกทวีปแอฟริกาได้ จึงจำเป็นต้องมีการตอบสนองระดับนานาชาติอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดและช่วยชีวิตผู้คน”
ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดครั้งนี้ ได้แก่ บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เคนยา และรวันดา แต่ประเทศที่มีสถานการณ์วิกฤตที่สุดคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 13,700 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 450 ราย นับตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา
ฝีดาษวานร เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คนได้ การแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์เกิดขึ้นผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสผิวหนังโดยตรง และการหายใจใกล้ชิดกัน อาการทั่วไปของโรคนี้ประกอบด้วยไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และมีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และเสียชีวิตได้
ปัจจุบัน ฝีดาษวานร มีสองสายพันธุ์หลัก ได้แก่
- Clade 1: เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากกว่า มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% และได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกากลางแล้ว เชื้อตัวนี้เริ่มกลายพันธุ์เมื่อเดือนกันยายน 2566 กำเนิดเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เรียกว่า Clade 1b และแพร่กระจายในแอฟริกาอย่างรวดเร็วจนถึงตอนนี้
- Clade 2: เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า และเป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2565 จน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อทั้งยุโรป, ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ และอื่นๆ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 87,000 คน เสียชีวิต 140 ศพ โดยส่วนใหญ่ติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (ACDC) ได้ประกาศให้ ฝีดาษวานร เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสำหรับทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปเพื่อรับมือกับการระบาด มาตรการนี้รวมถึงการเพิ่มการเฝ้าระวัง
แหล่งที่มา : bbc, thairath