ว่าด้วยเรื่องของสิทธิการ สมรสเท่าเทียม ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 นที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนสมรส โดยแจ้งความประสงค์ต่อนายทะเบียนว่า ตนและอรรถพลเป็นคู่ชีวิตแบบชายรักชาย ที่อยู่กินด้วยกันมา 19 ปีแล้ว แต่นายทะเบียนแจ้งว่าไม่สามารถทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่รักทั้งสองได้ เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1458 ความว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ ‘ชายหญิง’ ยินยอมเป็นสามี ภริยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย” ส่งผลให้นทีกับคู่รักไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เนื่องจากไม่ใช่คู่รักชายและหญิงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1458
สมรสเท่าเทียม กฎหมายประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาต
หากวันนี้ทั้งคู่ยังรักกันดี พวกเขาจะใช้ชีวิตคู่มาแล้วเกือบ 30 ปีในวันที่กฎหมายประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันเองได้ ทั้ง ๆ ที่เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์เท่ากันกับคนอื่น ใช้ชีวิตอยู่และเสียภาษีอย่างถูกต้องในทุกการใช้ชีวิต ณ ประเทศไทยแห่งนี้
จากวันนั้นที่เกิดการตั้งคำถามขึ้นเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 11 ปี กฎหมายสมรสเท่าเทียมไปถึงตรงไหนแล้วบ้าง เราจะพามาย้อนกลับไปถึงหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในแง่มุมของกฎหมายกัน
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งเกิดในช่วงสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการและศึกษาข้อกฎหมายขึ้น โดยเกิดเป็นไอเดียของพรบ. “คู่ชีวิต” ฉบับแรกเสร็จสมบูณณ์ในปี 2556 แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกเป็นหลายส่วน โดยบางส่วนก็เห็นด้วยว่าการมีสิทธิอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้รับอะไรเลย ในขณะที่หลายคนมองว่า “เป็นพลเมืองชั้นสอง” เพราะสิทธิหลายอย่างนั้นมันไม่สมควรถูกตัดออกไป เช่น การใช้นามสกุลคู่สมรส ไม่มีสิทธิ์รับบุตรบุญธรรมาเลี้ยง ไม่ได้รับรัฐสวัสดิการในฐานะคนรักจากภาครัฐ หรือแม้แต่เรื่องใหญ่ในชีวิตคู่อย่างเช่นการเซ็นต์การรักษาพยาบาลให้คนที่รักก็ไม่สามารถทำได้
หลังจากการเงียบหายของพรบ. สมรสเท่าเทียม
หลังจากนั้นเกิดมรสุมทางการเมือง พรบ.คู่ชีวิตฉบับนี้หายไปหลายปี ก็จะมีการดันให้เกิดเรื่องนี้อีกครั้งในปีพศ. 2563 จากคุณ วัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จากเดิมระบุถ้อยคำว่า อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะ ‘ชายและหญิง’ ให้เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป และเปลี่ยนคำว่า “สามีภริยา” ในป.พ.พ.ให้เป็น “คู่สมรส”
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.63 มีประชาชนร่วมเเสดงความคิดเห็นกว่า 54,447 คน มากที่สุดตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน
แต่แล้วก็มีการตีตกอีกครั้งหลังมีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ป.พ.พ.มาตรา 1448 ที่ให้สมรสเฉพาะ ชาย-หญิง ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยว่า การรับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ในป.พ.พ.ดังกล่าว ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ตรากฎหมายเพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป ซึ่งทำให้ในตอนนั้นได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การจัดตั้งแคมเปญสนับสนุนสมรสเท่าเทียมที่มีประชาชนใช้สิทธิจำนวนเกินหลักแสนในค่ำคืนเดียว
เสนอร่างพรบ. สมรสเท่าเทียม
โดยในช่วงกุมพาพันธ์ และมีนาคมของปี 2565 เป็นช่วงที่มีการเสนอร่างพรบ.สมรสเท่าเทียมเข้าสภาฯอีกครั้ง ไล่ยาวไปจนถึง พฤศจิกายน 2565 สภาฯ ได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (สมรสเท่าเทียม) ในวาระการประชุมเพื่อพิจารณาโดยละเอียดต่อในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 พิจารณาความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา และผ่านแล้วในวาระที่หนึ่งของการประชุมสภา
แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนก่อนที่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะถูกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่า นอกจากในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 4 ขั้นตอนในการพิจารณาร่างกฎหมายก่อนประกาศบังคับใช้
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากที่ กมธ.วิสามัญฯ ทำการแปรญัตติร่างกฎหมายหรือปรับแก้ร่างกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย สภาผู้แทนฯ จะต้องพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายแบบรายมาตรา ว่าเห็นชอบด้วยกับการปรับแก้ของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ หรือ ให้คนไว้ตามร่างเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนใหม่ตามที่มีผู้อื่นเสนอแก้ และเมื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายมาตราเป็นที่เรียกร้อย จึงมาพิจารณากันต่อในวาระที่สามว่า สภาผู้แทนฯ จะให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้งฉบับหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา
หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณากันต่ออีกสามวาระ
ขั้นตอนที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หาก ส.ว. ให้ความเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ให้นายกรัฐมนตรี, ส.ส. หรือ ส.ว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ขั้นตอนที่ 4 ทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดขับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ขั้นตอนที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทางไอลอว์ตั้งข้อสังเกตว่า หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะถูกยับยั้งไว้ก่อน เพื่อรอ ส.ส. มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง หรือ หาก ส.ว.แก้ไขเนื้อหากฎหมาย ก็จะต้องส่งกลับมาให้ ส.ส. พิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นต่างกันก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับแก้กฎหมายใหม่อีกครั้งเพื่อเสนอให้ทั้งสองสภาลงมติใหม่ ทั้งนี้ หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วย ให้ยับยั้งร่างกฎหมายนั้นไว้ก่อน แล้ว ส.ส. ถึงหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งได้
กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่ความเหนือกว่า
เราแค่ต้องการเท่ากันในความรักที่มีเหมือนกันกับพวกคุณทุกคน
ข้อมูลอ้างอิง
- สรุปข้อมูล “สมรสเท่าเทียม” อยู่ตรงไหน สนับสนุนเท่าไหร่ ผ่านแล้วได้อะไร
- ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต : ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมาย
แม้จะดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ผ่านยุคสมัยและวันเวลาที่เปลี่ยนไป หลายคนอาจจะเคยตั้งคำถามว่าหากเพศหลากหลายรักกันจริงแล้วทำไมถึงยังต้องการกฎหมายสมรสเท่าเทียม คำตอบคือเพราะความรักไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีชีวิตอื่น ๆ เข้ามาประกอบ ทั้งครอบครัวฝ่ายเขา ฝ่ายเรา โครงสร้างทางกฎหมายที่ดีจะช่วยปกป้องให้คู่ชีวิตมีความสุขกับการสมรสต่อไป
เพราะหากเราจะอ้างกันด้วยแค่คำว่า “รักแท้” หรือ “ความรักของเพศหลากหลายไม่ยืนยาว” ชายและหญิงทั่วไปจะต้องการกฎหมายสมรสไปทำไมในเมื่อแค่เรารักกันก็พอแล้วนิ? หรือในข้อถัดมาเราก็คงไม่เห็นข่าวคู่รักเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ก่อนผมหรือผู้อ่านหลายท่านจะเกิด ข่าวหย่าร้างของชายหญิงทั่วไปก็คงไม่เคยเกิดขึ้นเลยเพราะพวกเขามีความรักนิรันดร