PrEP เพร็พ

PrEP กับ PEP เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

PrEP กับ PEP เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ป้องกันเอชไอวี โดยการใช้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่มีจุดประสงค์ และวิธีใช้ที่แตกต่างกัน PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่รับประทานทุกวัน เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อเอชไอวี โดยสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% หากรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสที่จะต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง หลังสัมผัสกับเชื้อ ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้กว่า 80% หากรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ

PrEP กับ PEPคืออะไร ?

เพร็พ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)

  • ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ก่อนมีความเสี่ยง
  • กินทุกวัน ตรงเวลา วันละ 1 เม็ด
  • ควรใช่ร่วมกับถุงยางอนามัย จะได้ป้องกันทั้งเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • สามารถหยุดได้ เมื่อพบว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงแล้ว

เป็ป PEP (Post-Exposure Prophylaxis)

  • ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉิน
  • สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือ ถุงยางอนามัยหลุด ถุงแตก ถุงรั่ว
  • จะต้องเริ่มรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีความเสี่ยง
  • รับประทานติดต่อกันนาน 28 วัน

PrEP กับ PEPเหมาะกับใคร ?

เพร็พ PrEP

  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ชายผู้มีเพศสัมพันธ์กับชาย
  • ผู้ที่มีประวัติเคยรับบริการ PEP บ่อย ๆ
  • ผู้ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

เป็ป PEP

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ที่ถุงยางอนามัยหลุด ถุงแตก ถุงรั่ว
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่เพิ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะที่ไม่ได้สติ
  • ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

PrEP กับ PEP ราคาเท่าไหร่ ?

เพร็พ PrEP

ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้บริการ PrEP ฟรี โดยสามารถติดต่อขอรับบริการได้ตามองค์กรต่างๆ แต่หากไม่สะดวกสามารถติดต่อรับบริการที่คลินิคเอกชน โดยราคาของ PrEP จะอยู่ที่ประมาณ 600 – 3200 บาทต่อเดือน แล้วแต่สถานบริการ

เป็ป PEP

PEP เป็นยาต้านฉุกเฉินและมีราคาที่ต่างกัน ตามสถานบริการโดยราคาเริ่มต้นที่ 1200 – 20000 บาท แล้วแต่ชนิดของยา และดุลพินิจของแพทย์

วิธีทานยาPrEP กับ PEP

เพร็พ PrEP

Daily PrEP (เพร็พรายวัน)

  • ทานก่อนมีความเสี่ยง 7 วัน
  • ทานวันละ 1 เม็ด
  • ทุกวัน และทานให้ตรงเวลา

On Demand PrEP (เพร็พเมื่อต้องการ)

  • ทาน 2 เม็ดแรก ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 2 – 24 ชั่วโมง
  • ทาน 1 เม็ด หลังทานยาครั้งแรก 24 ชั่วโมง
  • ทานอีก 1 เม็ด หลังทานยาครั้งแรก 48 ชั่วโมง

PEP  (เป๊ปยาต้านฉุกเฉิน)

  • ทานให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีความเสี่ยง
  • ทานวันละ 1 เม็ด ให้ตรงเวลาเดิม
  • ทานติดต่อกันนาน 28 วัน

ผลข้างเคียงของ PrEP กับ PEP

ผลข้างเคียงของ PrEP และ PEP ส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง และหายไปเองภายในไม่กี่วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เป็นต้น หากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง หรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

สรุปคือ PrEP กับ PEP ต่างก็เป็นยาต้านไวรัส ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่มีกลไกการทำงาน และช่วงเวลาในการใช้ที่แตกต่างกัน ผู้ที่สนใจใช้ยาทั้งสองชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม

Love Foundation